“จิ๋วแต่เจ๋ง” ซีอีโอวัยทีนสอยแชมป์ธุรกิจ

เด็กที่ใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจมีจำนวนไม่น้อย แต่ในความเป็นจริง...คนที่ก้าวข้ามเขตความฝันและปั้นออกมาเป็นรูปร่างได้ทั้งที่ยังเป็นวัยรุ่นมีจำนวนไม่มากนัก และไม่ใช่ทุกรายที่จะดื่มด่ำกับความสำเร็จได้ยาวนาน


“อาลีน่า มอร์ส” เด็กหญิงอเมริกันวัยเจ็ดขวบ ก็เหมือนกับเด็กทั่วไปที่ต้องผิดหวังกับคำสั่งห้ามกินอมยิ้มยี่ห้อโปรด ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพฟัน แต่สิ่งที่ทำให้เธอแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ และกลายมาเป็นเจ้าของกิจการด้วยวัยเพียง 14 ปีในปัจจุบันได้ เพราะเธอพลิกด้านความเสียใจในแบบเด็กๆ วันนั้น หงายกลับเป็นช่องทางธุรกิจผลิตอมยิ้มที่เด็กๆ กินแล้ว ไม่ต้องฟันผุอีกต่อไป!

teenage-ceo2

วันนี้แบรนด์อมยิ้ม “Zollipops” ของเธอมีวางจำหน่ายในร้านค้า 25,000 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา จากการที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำอย่าง Whole Foods Market และ Kroger ยอมรับสินค้าของเธอขึ้นชั้นจำหน่าย เท่านั้นยังไม่พอ แบรนด์อมยิ้มและลูกอมของ มอร์ส ยังบุกตลาดส่งออกไปจีน, เกาหลีใต้, ฝรั่งเศส, อังกฤษ พร้อมแทรกตัวไปเจาะตลาดออนไลน์ทั่วโลกผ่าน Amazon โดยในปี 2018 สร้างสถิติเป็นลูกอมปราศจากน้ำตาลที่ขายดีที่สุดของเว็บไซต์ Amazon ขณะที่ยอดขายรวมในปีเดียวกัน แตะระดับ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 181 ล้านบาท)


แต่กว่าจะมาถึงความสำเร็จในวันนี้ มอร์ส เคยต้องผ่านบทพิสูจน์หินด่านแรกจากครอบครัวตัวเองก่อน ด้วยวัยไม่ถึงสิบขวบ มอร์ส พยายามขอการสนับสนุนจากพ่อหลายเดือน กว่าจะได้ไฟเขียวให้ใช้ครัวบ้านตัวเองลองผิดลองถูกสูตรผลิตสินค้าให้ตรงกับสเปคที่วางไว้คือ เป็นของหวานแบบไม่มีน้ำตาลที่ทำให้ฟันผุ แล้วด้วยความร่วมมือจากนักวิทยาศาสตร์อาหารและทันตแพทย์ของเธอเอง เมื่อมอร์สได้สูตรสำเร็จออกมาแล้ว เธอก็ ใช้เงินเก็บของตัวเอง 3,750 ดอลลาร์ (ราว 1.13 แสนบาท) และงบประมาณจากพ่อช่วยระดมทุนอีกครึ่งหนึ่ง เพื่อจ้างโรงงานในมิชิแกนที่มีวัตถุดิบตรงตามต้องการมาผลิตเป็นสินค้าล็อตแรก ซึ่งจากจุดเริ่มต้นนั้นในปี 2557 ใช้เวลาเพียงปีครึ่ง Zollipops ก็ทำกำไรได้ และยังคงเพิ่มยอดขายเท่าตัวต่อเนื่องมานับตั้งแต่เปิดกิจการ


แต่การเป็นซีอีโอตั้งแต่อายุน้อย ไม่ทำให้ชีวิตในวัยเด็กของ มอร์ส เสียไป เธอยังคงเป็นนักเรียนและนักเต้นที่ลงแข่งขันเป็นประจำเสมอ โดยแบ่งเวลาว่าง 35-40% ให้กับการทำงาน และทุ่มเทเป็นพิเศษให้กับบริษัทในช่วงปิดเทอม ส่วนเหตุผลที่ทำให้ มอร์ส สามารถแบ่งเวลาได้ลงตัวนั้น เป็นเพราะได้พ่อและแม่มาช่วยดูแลกิจการเป็นหลัก เพื่อปล่อยให้ มอร์ส ยังคงใช้ชีวิตสนุกของวัยรุ่นได้เหมือนปกติ

เรื่องราวของ มอร์ส ต่างจากซีอีโอวัยทีนที่เคยเป็นตำนานอย่าง “เบน พาสเตอร์แนค” จากออสเตรเลีย ที่เคยถูกจับตามองว่าจะวัดรอยเท้าของ “มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก จากการเข้าสู่วงธุรกิจตั้งแต่อายุ 15 ปี ผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชันเกม “Impossible Rush” และ “Impossible Dial” ก่อนจะขายต่อด้วยมูลค่ากว่า 85,000 ดอลลาร์ (ราว 2.5 ล้านบาท)


แอปพลิเคชันที่โด่งดังเป็นพลุ ส่งให้เขาตัดสินใจหันหลังให้การเรียน แล้วบินลัดฟ้าสู่สหรัฐอเมริกา เริ่มจับธุรกิจสตาร์ทอัพและเรียกระดมทุนจากนักลงทุนรายใหญ่ของ ซิลิคอน วัลเลย์ ได้สำเร็จ โดยหลังจากนั้นเขาพัฒนาแอปพลิเคชัน Monkey ที่เป็นช่องทางสังคมออนไลน์ด้านวิดีโอของวัยรุ่น และ Flogg ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายของมือสองเจาะกลุ่มวัยรุ่นเช่นกัน

สื่อดังอย่างนิตยสารไทม์เคยจัดอันดับให้เขาเป็นหนึ่งใน “วัยรุ่นผู้ทรงอิทธิพลที่สุด” เช่นเดียวกับนิตยสารฟอร์จูนที่ขนานนามว่า นี่คือนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลก แต่น่าเสียดายที่ชื่อเสียงของ พาสเตอร์แนค สว่างวาบขึ้นมาเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากแพลตฟอร์มที่เขาพัฒนาขึ้นและขายกิจการออกไป ไม่สามารถอยู่ยืนยาวได้ถึงปัจจุบัน และในช่วงต้นปี 2018 หนุ่มวัย 20  เพิ่งประกาศตัวว่าจะมุ่งสู่ธุรกิจอาหาร ด้วยการผลิตนักเกตส์ที่ใช้โปรตีนถั่วทดแทนเนื้อไก่เพื่อผู้บริโภควีแกนภายใต้ชื่อ NUGGS แต่ว่าโครงการดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด


เส้นทางของ พาสเตอร์แนค อาจเป็นอีกมุมมองที่สะท้อนว่า แม้ความคิดสดใหม่ของวัยรุ่นจะเป็นที่ยอมรับ แต่การยืนระยะให้ได้นั้น เป็นความท้าทายที่ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องแบกรับเลย หากวันนี้เลือกจะก้าวสู่เส้นทางที่มีความสำเร็จเป็นเดิมพัน