Lazy Economy ชีวิตขี้เกียจ ที่สุดแสนสบายใจ

เมื่อเทคโนโลยีแปลงร่างเป็นฮีโร่ ช่วยลดความรุงรังของชีวิต ตัวขี้เกียจที่แอบซ่อนในตัวเราก็ถึงคราวอวบอ้วนมากขึ้น มารู้สึกอีกทีเราก็ลุกหนีความสะดวกผ่านการกดสั่งผ่านแอปพลิเคชันที่ปลายนิ้วไม่พ้น มุมหนึ่งอาจดูเสี่ยงต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้ารู้จักใช้ความขี้เกียจถูกจังหวะก็ทำให้ชีวิตวิบวับได้ไม่น้อย


1. “มองความขี้เกียจเป็นสิ่งสวยงาม” ยิ่งในจังหวะที่เหนื่อยล้าหรือหนทางพึ่งพิง มนุษย์จำต้องหยิบใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้จุดอ่อน (pain point) แอปพลิเคชันบันดาลใจสารพัดจึงเกิดขึ้น เราเรียกกันว่า เศรษฐกิจขี้เกียจ (Lazy Economy) เพราะทำให้ชีวิตสบายขึ้น เช่น ไม่ต้องฝ่าฟันรถติด วนหาที่จอดรถ ต่อคิวซื้อของ แถมได้นอนฟังพอดแคสต์หาความรู้เพิ่มเติมฟังเพลินๆ ไปอีก


2. “เข้าใจความขี้เกียจจากวิถี New Normal” โควิด-19 เพิ่มแรงส่งให้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยสำคัญของชีวิตแบบปกติใหม่ แม้บางคนไม่เคยเข้าใจ หรือเลี่ยงการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัล แต่เมื่อเหตุการณ์บังคับก็ต้องปรับตัวเพื่อเรียนรู้ เช่น การทำงานที่บ้านโดยใช้โปรแกรมประชุมออนไลน์ สัมมนาออนไลน์ ชอปปิงออนไลน์ จนหลายคนอาจจะเริ่มจะติดใจกับเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และครบครันเสมือนอยู่ในห้องเรียน หรือห้องประชุม

lazy-economy-pleasure-01

3. “ความขี้เกียจแบบมีชัย” เรามักใจอ่อนกับแอปพลิเคชันให้ทำหน้าที่แทนหลายครั้ง แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการช่วยลดต้นทุนการใช้ชีวิตได้เหมือนกัน เช่น เมื่อโหยหาของกินที่ถูกปากในย่านชุมชนไร้ที่จอดรถ บริการเหล่านั้นจะช่วยประหยัดต้นทุนน้ำมัน และเวลาอันมีค่า หรือการเก็บแต้มสะสม (Coins) ของซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์เวลามีโปรโมชั่นถูกกว่าในห้าง แถมไม่ต้องออกแรงเข็นเองขนเอง เพราะเขาส่งให้ถึงหน้าประตูบ้าน


4. “ขี้เกียจอย่างไรก็ได้ ถ้ามีวินัยพอ” แม้ต้องเสียเงินในนามของความขี้เกียจ แต่ถ้ารู้จักบันทึกยอดใช้จ่ายแบบเรียลไทม์คอยเป็นเลขาเตือนตัวเอง หากพบว่ามียอดใช้จ่ายที่สูงเกินไปแล้ว ก็ได้เวลาผ่อนเครื่องลดความขี้เกียจ ลดค่าใช้จ่ายแบบสั่งได้ส่งเร็วลงหน่อย ถือเป็นการบังคับตัวเองให้มีวินัยทางการเงินที่ดีระดับหนึ่ง


5. “ใช้บริการเพื่อต่อยอด” มองในมุมที่ดี Lazy Economy ที่นิยมมากขึ้น จะส่งแรงบวกให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้สิ่งที่ดี ตั้งแต่ผู้ซื้อที่ได้รับสินค้าและบริการรวดเร็ว ผู้ขายเองก็ได้ระบายสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น และมีเงินลงทุนไปเสาะหาหรือพัฒนาสินค้าใหม่ๆ มาไม่หยุด ด้านตัวกลางหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ต้องพัฒนาระบบและบริการสนองตอบพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

6. “คนตัวเล็กได้โอกาสส่องประกาย” โลกดิจิทัลช่วยลบข้อจำกัดผู้ที่มีทุนน้อย เปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นพ่อค้าแม่ค้าเนื้อหอมได้แค่เพียงข้ามคืน เมื่อไฟหน้าร้านย้ายไปกระพริบบนโลกออนไลน์ ผู้ที่มีสายป่านน้อยจะได้ปล่อยสูตรเด็ดเคล็บลับและพลังสร้างสรรค์เต็มที่ บนแพล็ตฟอร์มที่เข้าถึงลูกค้าหลากหลาย เช่น Robinhood แพล็ตฟอร์มส่งอาหารของ SCB ที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมกับผู้ใช้บริการ เปิดตัวมาเพื่อแก้จุดอ่อนบริการเดิมๆ ที่บางครั้งทำให้ร้านค้ามีรายได้น้อยลง หรือผลักภาระให้ผู้ซื้อต้องจ่ายแพงกว่า นอกจากนี้แพล็ตฟอร์ม Robinhood ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับร้านค้า เพราะสามารถเคลียร์เงินได้ภายใน 1 ชั่วโมงอีกด้วย


7. “ถ้าสังคมรอดเราก็รอด” ในโลกสมัยใหม่ การเติบโตคนเดียวอาจไม่พอ โดยเฉพาะเรื่องของสังคมที่ต้องช่วยกันออกแรงผลักดันกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับที่ SCB เปิดตัวแอปพลิเคชั่น Robinhood เป็นทางเลือก เพื่อช่วยสังคมลดค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งหมดนี้เพราะเชื่อว่าถ้าสังคมรอด เราต่างก็เป็นส่วนย่อยของสังคมที่จะจับมือรอดไปด้วย


ชีวิตคนเราย่อมขี้เกียจกันได้ แต่หากใช้ความขี้เกียจได้ถูกจังหวะและโอกาสก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อสุขภาพการเงิน สามารถโต้คลื่นท่ามกลาง Lazy Economy ได้อย่างแสนสบายใจ