ETRAN โมเดลสตาร์ทอัพ ตอบโจทย์ช่วยโลกสร้างสังคมที่ยั่งยืน

มากกว่าการเป็นสตาร์ทอัพสายยานยนต์ผู้ผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้า ETRAN มี purpose ที่มุ่งมั่นมากในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และจุดประกายให้สังคมใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีแนวคิดว่าลูกค้าหลักคือโลกของเราที่จะส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป


อ่านเรื่องราวการก่อตั้งธุรกิจจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดย คุณสรณัญช์ ชูฉัตร CEO ETRAN ที่มีวิธีคิดเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ไปจนถึงการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น โอกาสที่จะได้คิดทบทวนและการพัฒนาธุรกิจกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับโลกของเรา

 

สตาร์ทอัพสายฮาร์ดแวร์รายแรก


สตาร์ทอัพที่เราคุ้นเคยส่วนใหญ่มักจะเป็นสายพัฒนาแอปพลิเคชั่น แต่สำหรับ ETRAN เป็นสตาร์ทอัพฮาร์ดแวร์รายแรกของไทย คุณสรณัญช์ ชูฉัตร หรือคุณเอิร์ธ CEO ETRAN มองว่าที่จริงแล้วไม่ได้เน้นว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ สิ่งที่ ETRAN ให้ความสำคัญคือการแก้ปัญหา Pain Point ในเรื่องของการเคลื่อนย้าย ขนส่งเดินทาง (Mobility) ที่สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะอย่างที่ทราบกันว่า การเดินทางเคลื่อนย้ายเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วก็มีการพูดถึงรถพลังงานไฟฟ้า ว่าจะเป็นทางออกของปัญหา สร้างการเคลื่อนย้ายขนส่งที่สะอาด ดีต่อโลกของเรา โดยทาง ETRAN มองว่าลูกค้าของบริษัทก็คือโลกของเรา

etarn-01

ทำไม ETRAN เริ่มที่วินมอเตอร์ไซค์


จุดเริ่มต้นของ ETRAN เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นคุณเอิร์ธ ทำงานอยู่ออฟฟิศแถวทองหล่อ แล้วนั่งวินมอเตอร์ไซค์มาต่อรถไฟฟ้า ระหว่างทางก็ต้องเดินทางท่ามกลางกลิ่นท่อไอเสีย ควันพิษ ซึ่งสิ่งแวดล้อมแย่เหล่านี้ล้วนเป็น Pain Point ของคนขับวินมอเตอร์ไซค์และผู้โดยสารที่ต้องผจญในท้องถนนทุกเมื่อเชื่อวัน ที่สำคัญตัวมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้นั่งซ้อนท้ายขนส่งสาธารณะ แต่ถูกคิดค้นมาใช้งานส่วนตัว ดังนั้นเมื่อนำมาใช้ขนส่งสาธารณะก็ใช้ไม่สบาย เกิดอุบัติเหตุง่าย สิ่งนี้เองจุดประกายความคิดให้คุณเอิร์ธสร้างรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตอบโจทย์การขนส่งที่จะช่วยให้สังคมและโลกของเราดีขึ้น

ทำการค้นคว้ากับกลุ่มเป้าหมาย


เพื่อตอบโจทย์นี้ คุณเอิร์ธและทีมได้ลงพื้นที่คุยสำรวจความต้องการกับคนขับวินมอเตอร์ไซค์กว่า 400 คน ขอความเห็นเรื่องแนวคิดและแบบร่างโปรดักส์ ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับในด้านบวก และจากข้อสรุปสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพ (Performance) 2) ความเร็ว (Speed) 3) ระยะทางวิ่ง (Distance) ทีม ETRAN ก็คิดค้นสินค้าต้นแบบตัวแรก คือ จักรยานยนต์ไฟฟ้า รุ่น ETRAN Prom (E ย่อมาจาก Electric และ Earth) โดยที่แรกที่เปิดตัวสินค้าก็คือเวทีของ SCB Digital Ventures Accelerator (DVA) ซึ่งสิ่งที่ได้จากโครงการนี้คือทักษะการเป็นผู้ประกอบการการ (Entrepreneurship) ที่มาช่วยเติมเต็มเรื่องการทำธุรกิจ และโอกาสได้พบปะสตาร์ทอัพคนอื่นๆ

วัตถุประสงค์และเป้าหมายของ ETRAN


สำหรับ ETRAN แล้ว แนวคิดการทำธุรกิจไม่ใช่แค่การผลิตรถ แต่คือการเปลี่ยนวิถีการเดินทางด้วยรถสาธารณะ โดยการทำให้การขนส่งสาธารณะดีขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความเจริญของเมือง เป็นทั้งโอกาส (Opportunity) ความรับผิดชอบ (Responsibility) และความยั่งยืน (Sustainability) โดย ETRAN ต้องการเป็นสตาร์ทอัพสายยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญเรื่องการอยู่รวมกันใน Sustainable Ecosystem ผ่านตัวสินค้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าว่าดีต่อโลกอย่างไร และชักชวนให้คนทำสิ่งที่ช่วยให้โลกดีขึ้น

ในส่วนของการแข่งขัน คุณเอิร์ธมองว่าถ้ามีแบรนด์ใหญ่มาแข่งขันด้วยก็ดี เพราะจะทำให้มีสิ่งดีๆ ให้โลกเยอะขึ้น ในช่วงแรกก็กลัวว่าจะมีแบรนด์ใหญ่มาผลิตสินค้าแข่ง ในความคิดของคุณเอิร์ธ ETRAN ไม่ได้แค่ทำรถแต่เป็นการสร้าง Ecosystem ของการเคลื่อนย้ายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโอกาสในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่นจุดชาร์ท เป็นต้น


ทั้งนี้ เป้าหมายของ ETRAN ได้แก่ 1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้เป็นแสนต้น 2) ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น มีเงินเหลือ ลดต้นทุนค่าน้ำมัน เพราะพลังงานไฟฟ้าสามารถผลิตได้จาก Renewable Source ได้ จะช่วยให้คนขับวินมีค่าใช้จ่ายลดลง (ค่าน้ำมัน ค่าเช่าซื้อ) ส่งผลให้มีเงินเก็บมากขึ้น และคุณภาพชีวิตดีขึ้น 3) ต้องตอบแทนสังคมได้ ทำให้โลกดีขึ้นได้ เพราะการมีรถแบรนด์ไทยดีต่อระบบเศรษฐกิจ และทำให้มีการเรียนรู้เทคโนโลยีในภาคการศึกษา คนมีคุณภาพดีสังคมก็ดีขึ้น และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เป็นความสมดุลทุกด้านตามที่ ETRAN เป็นสตาร์ทอัพที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

ใช้เทคโนโลยีช่วยโลก


ในเรื่องการใช้เทคโนโลยีช่วยโลก นอกจากพลังงานไฟฟ้า ที่ไม่ปล่อยควันเสียแล้ว ETRAN ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของวัสดุ เพราะก่อนหน้านี้ใช้พลาสติกที่เมื่อแตกหักแล้วก็ต้องทิ้งเลย กลายเป็นสร้างขยะให้โลก จึงต้องมีการคิดหาวัสดุใหม่เปลี่ยนมาใช้วัสดุ Natural Fiber Plastic ผลิตจากมันสำปะหลังที่เป็นผลิตผลเกษตรในบ้านเรา โดยใช้ทำชิ้นส่วนตรงจุดที่ชนบ่อย ซึ่งต้นทุนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ได้มาคือ Social Value ภูมิใจความเป็นไทย ทั้งนี้ การที่ ETRAN เป็นสตาร์ทอัพทำให้มีจุดแข็งคือ คิดแล้วทำได้เลย ต่างจากบริษัทรถใหญ่ๆ ที่ยึดติดกับสูตร รูปแบบการผลิตเดิม ไม่อยากเปลี่ยนแปลง


จากลูกค้ากลุ่มแรกคือนักลงทุน ต่อมาคือคนขับวินมอเตอร์ไซค์ ประมาณ 180,000 คนทั่วประเทศ ตอนนี้ส่วนหนึ่งกว่า 6,000 คนก็รู้จัก ETRAN แล้ว และกำลังทำตลาดมากขึ้น เป้าหมายต่อไปคือกลุ่ม Heavy User Logistic เช่น ขนส่ง B2B, B2C จากข้อมูลว่าการขับมอเตอร์ไซค์ทุกๆ 100 กิโลเมตรปล่อยก๊าซคาร์บอนออก 4 กิโลกรัม ถ้าสามารถลดตรงนี้ได้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศขนส่งสะอาดแห่งแรกของโลก

3 องค์ประกอบโมเดลธุรกิจ ETRAN


โมเดลธุรกิจ ETRAN แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) การผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 2) การทำลีสซิ่ง ให้เช่ารถ โดยใช้รูปแบบ Sharing Economy คือใช้ก็จ่าย ไม่ใช่ก็ไม่จ่าย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขับขี่ได้รับเงินจากการขนส่งเต็มที่ 3) การบริการ เช่น การซ่อมบำรุง จุดชาร์ทแบตเตอรี่ ที่มีปตท.เป็นพาร์ทเนอร์ในส่วนของ Swop Battery ฯลฯ สร้าง Infrastructure รองรับ Ecosystem ทั้งหมด


คุณเอิร์ธพูดถึงราคาว่า สินค้าในตอนแรกราคาสูงอยู่ที่เลขหกหลัก เพราะจัดเต็มประสิทธิภาพ และต้นทุนสูงเพราะผลิตน้อย ทำให้เกิดโมเดลการเช่าซื้อ โดยทีมก็ได้คุยกับคนขับวิน ถึงระดับค่าเช่าที่รับได้อยู่ที่ 3,500-4,500 บาท รวมต้นทุนทุกอย่าง คิดเป็นค่าเช่ารายวัน วันละประมาณ 100 บาท ใช้เทคโนโลยี IOT ให้คนเช่าด้วยการเติมเงิน วันไหนที่จะขับก็เติมเงินเอา วันไหนไม่ขับก็ไม่ต้องเติม ในส่วนรูปแบบซื้อขาด ส่วนที่แพงที่สุดของรถคือแบตเตอรี่ ในตอนแรกที่ราคาแพงเพราะจัดเต็มใส่แบตหลายก้อน ต่อมาก็ปรับให้เหลือแค่แบตลูกเดียว ที่เหลือก็เป็นแบบ Pay Per Use เช่นการ Swop แบต เป็นต้นซึ่งเป็นการคิดเป็นอัพไซต์ดาวน์เพื่อหาทางออกในเรื่องราคา


ปัจจุบันก็มีภาคธุรกิจองค์กรสนใจติดต่อนำรถมอเตอร์ไซค์ ETRAN ไปทดสอบ ซึ่งทีมงานก็เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกค้า นอกจากรุ่นต้นแบบ ETRAN Prom แล้ว ก็มีรุ่น ETRAN MYRA เป็นรถขนาดเล็ก และรุ่น ETRAN KRAF Limited Edition ที่มีรูปทรงน่าใช้

ทบทวนตัวเองฝ่าวิกฤตโควิด -19


การเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่บนความไม่แน่นอน นับว่าต้องเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายตลอดเวลา ภาวะจิตใจและกำลังใจของทีมงานก็ต้องต่อสู้กับสิ่งที่รู้ว่าไม่ง่ายอยู่แล้ว สำหรับ ETRAN แล้วภาวะโควิด19 เป็นวิกฤตในแง่การลงทุน เพราะในมุมของนักลงทุนเองก็ต้องชะลอการลงทุนเพื่อให้ตัวเองรอดก่อน ส่งผลทำให้พลาดการทำข้อตกลงหลายอย่าง ในทาง Operation ที่จะจับมือกับพาร์ทเนอร์หลายอย่างก็หยุดไป เพราะ Operation ของพาร์ทเนอร์ก็ปิด ในธุรกิจการเดินทางหลายอย่างก็แย่ เช่น เครื่องบิน เรือ เป็นต้น


สถานการณ์นี้ทำให้ ETRAN กลับมาทบทวน แผนธุรกิจ โครงสร้างทีม วิธีการทำงานที่ควรจะเป็น และจุดยืนของบริษัท ว่าที่เราพยายามเป็นอะไรบางอย่างมา 5 ปี แต่เราจะใช้ความพยายามนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้าไม่ได้ เมื่อ 5 ปีที่เราอาจจะทำรถได้ แต่ Mindset ใหม่สำหรับอีก 5 ปีข้างหน้าคืออะไร คำตอบที่ได้คือ ETRAN ไม่ใช่บริษัทผลิตรถยนต์ ไม่ใช่ Mobility แต่เป็นแบรนด์รถที่เกิดประโยชน์กับโลกมากที่สุด เราไม่จำเป็นต้องขายแสนล้านคันเหมือนบริษัทใหญ่ แต่การขายในหลักหมื่นคันที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นหมื่นคันในวิน เป็นหมื่นคันในการเกษตร แต่สร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งนี้เป็นคุณค่าของ ETRAN

สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อเปลี่ยนโลก


ในฐานะที่เป็นสตาร์อัพ ETRAN ก็สามารถทำในสิ่งที่บริษัทขนาดใหญ่ทำไม่ได้ในเรื่องความเสี่ยง ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้บริษัทจะเน้นเรื่องของการทำ R&D คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้งานมากขึ้น ให้มี impact เพิ่มมากขึ้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกจริงๆ โดยจะขยายเข้ากลุ่มการเกษตร เป็นรถใช้ในการเกษตร โดยจากการศึกษาพบว่ากลุ่มเกษตรกรมีปัญหาต้นทุนไม่แพ้กลุ่มวินมอเตอร์ไซด์ ซึ่ง ETRAN จะใช้ความรู้เรื่องเครื่องยนต์ไฟฟ้า บวกกับเทคโนโลยีมอเตอร์จาก Bosch ที่เป็นพาร์ทเนอร์เข้าไปเปลี่ยนเครื่องจักรเก่าเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตต่ำ ให้สามารถประหยัดต้นทุนได้เดือนละ 1,000-5,000 บาท โดย ETRAN จะตอบโจทย์เรื่องเงินทอง ให้เกษตรกรประหยัดต้นทุน มีเงินเก็บมากขึ้น และเรื่องสิ่งแวดล้อม นำไปสู่เรื่อง สังคม การจ้างงาน ศักยภาพมนุษย์ รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) เป็นสตาร์ทอัพที่แสดงถึงความยั่งยืนในทุกบริบท ซึ่งจะไม่ใช่แค่เรื่องของสินค้าเท่านั้น แต่เป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Movement) เป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่สำหรับ ETRAN ที่จะไม่มีเส้นมาขีดคั่นในการทำสิ่งอื่นๆ ในโลกใบนี้

 

กลยุทธ์สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า


แม้จะเป็นบริษัทสตาร์อัพใหม่ แต่คุณเอิร์ธก็มีแนวทางกลยุทธ์ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นใน ETRAN ได้แก่ การออกแบบสินค้าตอบโจทย์ลูกค้า โดยมาจากการคุยกับลูกค้า รวมถึงการให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย (After Sales Service) และการทำ CRM อยู่ข้างเคียงลูกค้า ซึงก่อนหน้านี้ไม่มีใครทำ CRM กับกลุ่มคนขับวิน เมื่อมีคนมาทำตรงนี้ก็ได้การตอบรับดีมาก ที่สำคัญคือ Business Model ที่ไม่ใช่การขาย แต่เป็นการเช่าในราคาที่จ่ายได้ ทำให้คนกล้าลอง เปิดใจกันมากขึ้น


สำหรับคุณเอิร์ทและทีม ETRAN มองว่าความจริงใจของคนไทยด้วยกันยังตอบโจทย์การทำธุรกิจได้ แม้สตาร์ทอัพจะเป็นแนวคิดจากต่างชาติ แต่ก็ต้องเข้าใจบริบทของคนไทย ซึ่งในบางครั้งสิ่งที่ต้องการก็ไม่ใช่ของไฮเทคเสมอไป สิ่งที่โลว์เทคอาจใช้การได้ดีก็ได้ ในที่นี้ก็คือ “จิตใจ” สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องเข้าใจลูกค้า

แรงผลักดันของ ETRAN


เมื่อถามถึงแรงผลักดันของ ETRAN คุณเอิร์ธตอบด้วยความมั่นใจว่า ถ้าเราหยุดคงไม่มีใครทำแล้ว และเราก็ต้องอยู่บนโลกในสภาพแวดล้อมแบบนี้ต่อไป ทั้งหมดนี้ เป็น Mindset Beyond Yourself ตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นประโยชน์หรือไม่? ถ้าเป็นประโยชน์ก็อย่าเลิก เพราะมีคนรอเราอยู่ และที่สำคัญคือคุณเอิร์ธต้องการให้ ETRAN เป็นแรงบันดาลใจ เป็นต้นแบบของคนไทย เด็กไทยรุ่นใหม่ ให้มีความภาคภูมิใจกับความสามารถของคนไทยด้วยกันแบบที่คนเรารู้สึกกับอีลอน มัสก์ ซึ่ง ETRAN อยากเป็นส่วนผลักดันให้คนรุ่นใหม่ใช้พลังของ Youth Power สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ต่อไป

 

ข้อคิดให้สตาร์ทอัพ


ในฐานะสตาร์ทอัพที่มีผลงานออกมาแล้ว คุณเอิร์ธกล่าวถึงข้อคิดให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ 3 ข้อ คือ Start สตาร์ทชีวิตให้เร็วที่สุด อย่ารอที่จะลองอะไรบางอย่าง เริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ Stop เลิกสิ่งที่ไม่ใช่ให้เร็วที่สุด อย่าดื้อทำต่อ และ Continue ที่จะ restart ตัวเองให้ออกจาก Comfort Zone อย่ารอวิกฤต ไม่ต้องรอโอกาส สามารถทำได้ทุกวัน


ติดตาม SCB TV ในซีรีส์ "START NEVER GIVE UP" โดยคุณสรณัญช์ ชูฉัตร CEO ETRAN คลิก - ที่นี่ -