เคล็ด (ไม่) ลับ ทำยังไงให้ Startup ประสบความสำเร็จ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Startup เป็นการทำธุรกิจที่มาแรง และเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีไอที การพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันต่างๆ  โดยที่ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่น่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากมีศักยภาพสูงแต่ใช้งบประมาณลงทุนเริ่มต้นที่ไม่สูงมาก  แม้ว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวสูง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการค้าออนไลน์หรือการสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์ง่ายขึ้น ทำให้คนสนใจใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างรายได้ สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งจากปี 2012 ที่เคยมีมูลค่าการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวราว 100 ล้านบาท (3 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา) แต่ในปี 2016 กลับมีมูลค่าลงทุนในหลักหลายพันล้านบาท (86 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา) ซึ่งประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง

การเป็น Startup แม้จะดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่เริ่มต้นได้ง่ายและเร็ว แต่ความง่ายและเร็วนั้น ย่อมแลกด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ ที่ Startup ต้องประสบเป็นอย่างมากเช่นกัน ดังนั้นก่อนที่จะเป็น Startup เราจึงควรมาเรียนรู้ว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ Startup ประสบความสำเร็จ ซึ่ง พอล เกรแฮม (Paul Graham) จาก Y Combinator ศูนย์บ่มเพาะชื่อดัง Top 5 ของโลกในสหรัฐอเมริกา ได้เขียนไว้ในบทความว่า “Startup = Growth” หรือ “การเติบโต” นั่นเอง ดังนั้น Startup ที่ดี จะต้อง “โตเร็ว”

 

พอล เกรแฮม ได้อธิบายไว้เพิ่มเติมว่า ธุรกิจที่จะสามารถเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติ 2 อย่างคือ

  1. ทำธุรกิจที่นำเสนอสิ่งที่เป็นความต้องการของตลาดที่มีขนาดใหญ่ 
  2. มีความสามารถในการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่นั้นได้

 

ในขณะที่ บิล กรอส (Bill Gross) นักลงทุนและผู้ก่อตั้งบริษัท Idealab ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการวิจัยและศึกษาจนพบว่าการที่บริษัทเกิดใหม่จะประสบความสำเร็จนั้นต้องมีปัจจัย 5 อย่างซึ่งประกอบไปด้วย แนวคิด ทีมงาน แผนธุรกิจ เงินทุน และจังหวะเวลา

  1. แนวคิดหรือไอเดียในการทำธุรกิจ ต้องมีความแปลกใหม่ มีความน่าสนใจ ตอบโจทย์ปัญหา หรือ pain point ของผู้บริโภคได้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง ที่จะทำให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น

  2. ทีมงาน เมื่อมีไอเดียที่ดีแล้ว คุณจำเป็นต้องหาผู้ที่มาร่วมกันทำงานเป็นทีม เพราะธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว การคัดเลือกคนมาร่วมในทีมทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

  3. แผนธุรกิจที่ชัดเจน ว่าสินค้าหรือบริการของธุรกิจคืออะไร กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นใคร จะสร้างรายได้จากจุดไหนได้บ้าง แผนธุรกิจที่ชัดเจนจะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง ธุรกิจที่คุณทำจะต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ และสามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภคด้วย เพื่อการเติบโตของธุรกิจที่ยั่งยืน

  4. เงินทุน เป็นปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะหากไม่มีเงินทุนแล้วธุรกิจคงไปได้ยาก แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกกว่านี้ การมีเงินทุนที่มากพอก็ไม่ได้รับรองว่าธุรกิจของคุณจะไปรอด เพราะนอกจากมีเงินทุนแล้ว การบริหารเงินทุน รวมถึงการจัดทำบัญชีอย่างรอบคอบก็เป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจเช่นกัน

  5. จังหวะเวลา การทำธุรกิจนั้นต่อให้มีปัจจัยทั้งสี่ที่กล่าวมาข้างต้นเพียบพร้อมแล้ว แต่ถ้าธุรกิจเปิดตัวและดำเนินการในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ในช่วงตลาดอิ่มตัว หรือมีตัวเลือกมาก ก็จะทำให้ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ

 

ซึ่งสิ่งที่บิล กรอสค้นพบจากการศึกษาและวิจัย Startup ที่ประสบความสำเร็จ คือ กระบวนการทำงานกับไอเดียนั้นสำคัญมาก แต่จังหวะเวลากลับสำคัญกว่าทุกอย่าง และวิธีที่ดีที่สุดที่จะประเมินจังหวะเวลาคือ ดูว่าเวลานั้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราพร้อมหรือยังกับสิ่งที่เราจะเสนอให้ ซึ่งต้องประเมินอย่างตรงไปตรงมา อย่าหลอกตัวเองกับผลลัพธ์ที่เห็น เพราะถ้าคุณมีสิ่งที่คุณรักจะทำและต้องการส่งมอบมัน คุณต้องประเมินผลลัพธ์อย่างซื่อสัตย์กับตัวเอง
 

ที่มา: www.ted.com


บทความโดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®  ที่ปรึกษาการเงิน