ส่องเทรนด์ AgriTech เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยภาคการเกษตรไทย

ภาคการเกษตรเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ที่แม้จะมีจำนวนประชากรในภาคเกษตรถึง 14 ล้านคนนับเป็นครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด แต่ก็สร้าง GDP ได้ไม่มากนัก และการทำเกษตรของไทย ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการน้ำ การจัดการพื้นที่ทำการเกษตร รวมถึงแรงงานภาคการเกษตรมีอายุมาก ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน คุณปรีสาร รักวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) มาพูดถึงความสำคัญการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในภาคการเกษตรและแบ่งปันแนวทางการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรด้วย

1576670704

เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคเกษตรมีอะไรบ้าง?


ปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer และ Young Smart Farmer) คือกลุ่มเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ หรือติดต่อหน่วยงานรัฐ รวมถึงการติดตามสภาพอากาศและค้าขายผลผลิตผ่านช่องทางออนไลน์  ทั้งนี้ การใช้ดิจิทัลในกระบวนการทางการเกษตร สามารถแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในขั้นตอนการเตรียมปัจจัยการผลิต 2) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการจัดการกิจกรรมการเกษตร 3) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการจัดการค้าและการพาณิชย์


ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคการเกษตรอยู่ในระดับ 1.0-2.0* ในทุกกิจกรรม เป็นการใช้ดิจิทัลอย่างง่าย ไม่ซับซ้อน และเกษตรกรอายุน้อยจะใช้เทคโนโลยีมากกว่าเกษตรกรที่อายุมาก อย่างไรก็ดี มีการใช้ e-Commerce และ Social Media ในการจำหน่ายผลผลิตแปรรูป ดังนั้น จึงมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการจัดการค้าและการพาณิชย์มากที่สุด


ปัญหาอุปสรรคการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่พบในเกษตรกร ได้แก่ การขาดความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล การให้บริการหลังการติดตั้งระบบ รวมไปถึงการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ใช้เวลานานในการคุ้มทุน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่นขาดแคลนเงินทุน สินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ โดยแนวทางนโยบายสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน


คุณปรีสาร มองถึงเทรนด์การใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเกษตรต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ได้แก่


· Plant-Base Food เป็นแหล่งอาหารโปรตีนทางเลือก มีการนำพืชที่เป็นแหล่งโปรตีน เช่น พืชตระกูลถั่ว ใช้เทคโนโลยีพัฒนาเป็นเนื้อเทียม อาหารทะเลเทียม ไข่เทียม เป็นต้น ซึ่งเทรนด์อาหารโปรตีนทางเลือกกำลังเป็นที่นิยมในยุโรป ซึ่งสินค้าต้องสามารถตอบโจทย์ตลาดในเรื่องราคา รสชาติ และความสะดวกในการเข้าถึง


· Alternative Food Insect เช่น แมลงในกลุ่มด้วงและแมลงปีกแข็ง ผีเสื้อ ผึ้ง จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงกลุ่มมวน ด้วยปัจจัยด้านสารอาหาร การเพาะเลี้ยงใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อย พฤติกรรมการบริโภคของคนกลุ่มเจน Millennium และ Gen Z รวมทั้งการพัฒนาสินค้าอาหารจากแมลงตอบความต้องการตลาด


· ปัญหาโลกร้อน และ Carbon Credit : ในการประชุม COP26 ที่มีการยกเรื่อง Carbon Credit มาเป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความสมดุลเรื่องสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งแม้ขณะนี้ยังมีปัญหาในเรื่องที่เกษตรกรไม่มีความรู้เรื่อง Carbon Credit ว่าสามารถนำมาขายได้ และกระบวนการนำ Carbon Credit มาขายในภาคการเกษตรมีความยุ่งยาก ขาดการส่งเสริมเชื่อมโยงตลาดผู้ซื้อกับผู้ขาย แต่คุณปรีสารก็มองว่าเป็นโอกาส เพราะตลาดซื้อขาย Carbon Credit มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ราคาเฉลี่ยเป็นไปในทิศทางเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างโดรน มาเก็บข้อมูลประเมินการกักเก็บ Carbon และหาซื้อขาย Carbon Credit กับต่างประเทศ ผ่าน International Platform โดยใช้ Token Carbon บนระบบบล็อกเชน


· Food Waste อาหารที่เหลือในโรงงาน ตลาดสด ร้านอาหาร ก็นำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ทำปุ๋ยหมัก ทำฟาร์มหนอนเชิงพาณิชย์จากอาหารเหลือทิ้ง ไว้ส่งขายให้เกษตรกรหรือผู้บริโภคบางกลุ่มจากขยะอินทรีย์ ทำเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อใช้งานกับเครื่องจักร ด้วยน้ำมันหลังจากใช้ทำอาหารแล้ว  สร้างพลังงานไฟฟ้าผ่านเครื่องย่อยขยะจากอาหารเป็นพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ


*เกษตรกรรม 1.0 : เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมองว่าตนไม่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตร เนื่องจากตนเป็นเกษตรกรรายเล็กๆ
เกษตรกรรม 2.0 : เกษตรกรส่วนหนึ่งเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีขั้นต้น เพื่อใช้ในกิจกรรมทางการเกษตร เช่น เริ่มมีการใช้เซ็นเซอร์เบื้องต้น หรือการประยุกต์ใช้โดรนทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิต

บทบาทของ depa ในการช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมธุรกิจสู่ดิจิทัล


depa ส่งเสริมเทคฯ สตาร์ทอัพไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่ง AgriTech ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุน นำไปสู่การทำ Digital Transformation ในภาคเกษตร SMEs อุตสาหกรรม ชุมชน เพื่อสร้างตลาด พัฒนาเมือง เกิดระบบนิเวศให้เป็น Smart City และบรรลุเป้าหมาย Digital Thailand ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน


ในส่วนการสนับสนุน depa มี depa Digital Transformation Fund ให้วิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อมด้านธุรกิจ และ ด้านการเกษตร โดยช่วยสนับสนุน 60% ของเงินลงทุนในการใช้ซอฟต์แวร์เทคโนโลยีดิจิทัลของ ผู้ประกอบการดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนเป็น depa Digital Provider ทั้งในส่วน Front end, Back และ Infrastructure โดยวงเงินสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท


ผู้ประกอบการที่สนใจ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและติดตามข่าวสารล่าสุดที่ เว็บไซต์ depa (https://www.depa.or.th/th) LINE Official @depa Thailand หรือเบอร์ติดต่อ 081-833-4915 (ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ) 089-203-0183 (ภาคการเกษตร)


ที่มา: โครงการ DIPROM AgriBiz Scale Up Beyond Disruption เพื่อส่งเสริมธุรกิจ SMEs ด้านการเกษตรให้เติบโตแบบ 10X วันที่ 16 กันยายน 2565