ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การคำนวณดอกเบี้ยไม่ทบต้นตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เมษายน 2564
หลายท่านคงจะทราบดีอยู่แล้วว่า การคิดดอกเบี้ยโดยทั่วไป กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหนี้สามารถคิดดอกเบี้ยลูกหนี้ได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ห้ามเกินร้อยละ 15 ต่อปี และหากในสัญญากำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระดอกเบี้ยแต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ว่าต้องคิดเท่าใด หรือเป็นหนี้อันเกิดจากมูลละเมิด ซึ่งหมายถึง การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือชื่อเสียง เป็นต้น มาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (เดิม) ให้เจ้าหนี้สามารถคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ได้มีการประกาศให้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ทำให้มีการแก้ไขการคิดอัตราดอกเบี้ยในสัญญาที่กำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระดอกเบี้ยแต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ว่าต้องคิดเท่าใด และกำหนดวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดในหนี้ที่ลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระเป็นงวดให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมต่อลูกหนี้มากยิ่งขึ้น โดยกำหนดว่าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้สามารถคำนวณจำนวนดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น
การคิดดอกเบี้ยกรณีสัญญากำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระดอกเบี้ยแต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ย มาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถูกแก้ไขใหม่ตามพระราชกำหนดดังกล่าว ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี การแก้ไขอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับหนี้ที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับ คือวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2564 ดังนั้น สัญญาที่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้งซึ่งได้ทำขึ้นก่อนวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2564 สามารถคิดดอกเบี้ยในอัตราเดิมที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้ถึงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2564 และตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยในสัญญาดังกล่าวจะลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับการแก้ไขตามพระราชกำหนดดังกล่าวไม่กระทบถึงอัตราดอกเบี้ยที่คู่สัญญากำหนดไว้ชัดเจนในสัญญา และไม่กระทบถึงคดีที่มีการยื่นฟ้องและศาลมีคำพิพากษาไปแล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับ แต่หากคดียังไม่ถึงที่สุด ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจจะใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่ถูกแก้ไขได้
สำหรับลูกหนี้ซึ่งต้องชำระดอกเบี้ยแต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ หรือเป็นหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดที่ผิดนัดนั้น พระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ให้คิดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 คือ ร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งไม่กระทบถึงอัตราดอกเบี้ยที่คู่สัญญากำหนดไว้ชัดเจนในสัญญา ส่วนเจ้าหนี้ในมูลละเมิดสามารถเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในค่าสินไหมทดแทนได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่มีการทำละเมิดถึงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2564 และเรียกได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป นอกจากนี้ เจ้าหนี้ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ แต่สามารถพิสูจน์ค่าเสียหายอื่น ๆ จากการผิดนัดของลูกหนี้ได้ เช่น การที่เจ้าหนี้ขาดประโยชน์ในการนำบ้านเช่าซึ่งอยู่ในการครอบครองของลูกหนี้ออกให้บุคคลอื่นเช่า ลูกหนี้ต้องรับเป็ดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนของค่าขาดประโยชน์ให้เจ้าหนี้ เป็นต้น และไม่กระทบถึงคดีที่มีการยื่นฟ้องและศาลมีคำพิพากษาไปแล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับ แต่หากคดียังไม่ถึงที่สุด ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจจะใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่ถูกแก้ไขได้
พระราชกำหนดดังกล่าวได้มีการเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224/1 โดยกำหนดว่าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดเท่านั้น เจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยผิดนัดจากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระทั้งหมดได้ หากมีข้อตกลงในสัญญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันที่กำหนดให้เจ้าหนี้สามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดในแต่ละงวดจากต้นเงินที่ค้างชำระทั้งหมด ข้อตกลงในส่วนนั้นให้ตกเป็นโมฆะ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและร้องขอต่อศาลให้บังคับลูกหนี้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมด ดังนั้น ข้อตกลงที่ว่าหากลูกหนี้ผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมด จึงไม่ขัดกับมาตรา 224/1 และไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระเป็นงวดอีก
แม้ว่าคู่สัญญาจะทำสัญญาก่อนวันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับ หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในวงดใดที่ถึงกำหนดชำระหลังวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2564 เจ้าหนี้สามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดในงวดนั้นได้เฉพาะจากต้นเงินนั้นเท่านั้น
ตัวอย่างการคิดดอกเบี้ยผิดนัด ตามมาตรา 224/1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลูกหนี้กู้เงินเจ้าหนี้ จำนวน 1,200,000 บาท โดยตกลงผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเดือน เดือนละ 100,000 บาท จำนวน 12 งวด กำหนดอัตราดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดที่ร้อยละ 15 ต่อปี หากลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวมา 4 งวด เมื่อถึงงวดที่ 5 ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะสามารถคำนวณจำนวนดอกเบี้ยผิดนัดในงวดที่ 5 จากต้นเงินของงวดที่ 5 คือ 100,000 บาท เท่านั้น
บทความโดย วิทวัส ออรัตนชัย