ทำอย่างไร เมื่อโดนตามทวงหนี้

ก่อนตัดสินใจกู้เงิน นอกจากต้องดูคุณสมบัติต่างๆ ของเราเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถกู้ผ่านแล้ว ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ต้องถามตัวเอง คือ จ่ายไหวหรือเปล่า เพราะเมื่อกู้เงินแล้วก็ต้องอยู่ในฐานะ “ลูกหนี้” และต้องจ่ายหนี้ ซึ่งเป็นกฏเหล็กของลูกหนี้ที่ต้องปฏิบัติ แต่เมื่อถึงเวลาจ่ายหนี้แล้ว ลูกหนี้กลับไม่ยอมจ่าย เจ้าหนี้ก็มีสิทธิที่จะทวงเงินคืนหรือจ้างตัวแทนที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้


แน่นอนว่าไม่มีลูกหนี้คนไหนที่อยากเบี้ยวหนี้ เพราะนอกจากจะเสียประวัติเรื่องเครดิต อาจจะโดนตามทวงหนี้ด้วยวิธีการต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้ว่าจะเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระ ก็มีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม เช่น เจ้าหนี้ต้องทวงหนี้เฉพาะเวลาที่กำหนด คือ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลาแปดโมงเช้าถึงสองทุ่มเท่านั้น


นอกจากนี้ ผู้ที่มีหน้าที่ทวงหนี้ต้องใช้วิธีการและพูดด้วยคำสุภาพ แสดงตัวเมื่อติดตามทวงถามหนี้ ห้ามใช้คำข่มขู่ ใช้กำลัง หรือทวงหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่กำหนด เป็นต้น


สำหรับฝ่ายลูกหนี้ ถ้ารู้ตัวว่ากำลังเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหวและมีโอกาสโดนทวงหนี้ ก่อนอื่นต้องตั้งสติ และท่องให้ขึ้นใจว่า “ต้องเป็นลูกหนี้ที่ดี”

1. อย่ากลัวการทวงหนี้

เมื่อฝ่ายติดตามทวงถามหนี้โทรศัพท์มาทวงหนี้ ฝ่ายลูกหนี้อย่าพูดคุยด้วยเสียงสั่นเครือ หรือใช้น้ำเสียงจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ากำลังหวาดกลัว แต่ต้องกล้าคุย เพื่อแสดงความมั่นใจ พร้อมรับมือ เพราะอย่าลืมว่าการเป็นหนี้เป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา


ถ้าลูกหนี้ถูกฝ่ายติดตามทวงหนี้ข่มขู่ว่า “ถ้าไม่จ่ายหนี้จะจับเข้าคุก” ก็ให้ตอบกลับไปว่า “หนี้สินเป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา” นั่นหมายความว่า ฝ่ายเจ้าหนี้ไม่สามารถพาตำรวจมาจับได้ แสดงให้ฝ่ายติดตามหนี้เข้าใจว่าฝ่ายลูกหนี้รู้กฎหมายดี ทำให้เวลาจะพูดอะไรต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย


2. ถามให้ชัดเจน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อลูกหนี้ได้รับโทรศัพท์จากฝ่ายติดตามทวงหนี้ก็จะรอตอบคำถาม แต่ความจริงแล้วลูกหนี้ต้องเป็นฝ่ายตั้งคำถามก่อน เริ่มจากถามชื่อนามสกุล สถานที่ทำงานและเบอร์โทรศัพท์ของผู้ติดตามทวงหนี้


จากนั้นให้ตั้งคำถามลึกลงไป เช่น ตอนนี้ทราบหรือไม่ว่าลูกหนี้ได้จ่ายหนี้ไปแล้วเท่าไหร่ ยังมีหนี้คงเหลืออยู่เท่าไหร่ คิดดอกเบี้ยอย่างไร ถ้าจ่ายตอนนี้จะโดนปรับดอกเบี้ยร้อยเท่าไรต่อปี เป็นต้น


การตั้งคำถามลักษณะนี้จะทำให้ฝ่ายติดตามทวงหนี้รู้สึกว่าลูกหนี้รู้ลึกรู้จริงและเข้าใจกฎกติกามารยาทในการทวงหนี้ ที่สำคัญไม่ทำให้เกิดการข่มขู่หรือใช้ถ้อยคำรุนแรงในการทวงหนี้

3. บันทึกเสียง

ก่อนลูกหนี้จะตอบคำถามฝ่ายติดตามทวงหนี้ อย่าลืมขออนุญาตบันทึกเสียงด้วยคำพูดสุภาพ เพราะหากมีปัญหา เช่น โดนข่มขู่ก็สามารถใช้เสียงที่บันทึกให้เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบได้


4. รับโทรศัพท์ทุกครั้ง

เป็นเรื่องปกติที่ลูกหนี้มักไม่ชอบให้ฝ่ายเจ้าหนี้โทรศัพท์มาทวงถามหนี้ หรือเมื่อเจ้าหนี้โทรมาก็ไม่รับหรือรับแล้วก็บอกว่ายังไม่สะดวก เดี๋ยวโทรกลับ แต่สุดท้ายก็เงียบหาย


ความจริงแล้ว ถ้าลูกหนี้ต้องการแสดงความจริงใจ ควรรับโทรศัพท์ฝ่ายเจ้าหนี้ทุกครั้ง ขณะเดียวกันต้องอธิบายด้วยเหตุผลและบอกความจริงถึงปัญหาที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด หากทำแบบนี้จะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันได้


5. ชิงโทรศัพท์ไปหาเจ้าหนี้ก่อน

เมื่อมีสัญญาณว่าจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด เพื่อแสดงความจริงใจก็ควรติดต่อไปหาเจ้าหนี้พร้อมอธิบายเหตุผลและสัญญาว่าจะจ่ายหนี้วันไหน วิธีการนี้นอกจากจะแสดงออกถึงความรับผิดชอบแล้วยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดี อาจทำให้เจ้าหนี้ผ่อนผันการชำระหนี้ได้อีกด้วย


เมื่อโดนทวงตามหนี้ ทางออกของลูกหนี้ คือ การเจรจาประนอมหนี้ ซึ่งก็มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้าหนี้ เช่น ขอลดยอดหนี้ลงบางส่วน, ขอขยายระยะเวลาจ่ายหนี้ (เช่น 1 ปี, 2 ปี), ขอลดวงเงินที่ต้องผ่อนแต่ละงวดลง (เช่น จาก 10,000 บาท ลดลงเป็น 7,000 บาท), ขอหยุดคิดดอกเบี้ยระหว่างผ่อนชำระ, ขอไม่คิดค่าธรรมเนียมระหว่างผ่อนชำระ หรือขอใช้หลักประกันเพื่อจ่ายหนี้ เป็นต้น


ไม่มีใครอยากเป็นหนี้แต่เมื่อก่อหนี้จนจ่ายไม่ไหว นอกจากจะโดนปรับดอกเบี้ย เสียประวัติด้านการเงินแล้ว ก็อาจเจอกับการถูกตามหนี้ไม่เว้นแต่ละวัน ดังนั้น ถ้าคิดจะก่อหนี้ต้องท่องคาถา “ก่อหนี้เท่าที่จำเป็นและจ่ายไหว” เอาไว้ขึ้นใจ