3 คำถามที่ต้องตอบก่อนจะถามว่า “จดบริษัทดีไหม”

เรื่อง: พรี่หนอม TAXBugnoms


Hi-Light:

  • 3 คำถามที่ต้องถามตัวเองก่อนจะถึงคำถามว่าจะจดทะเบียนเป็นบริษัทดีหรือไม่คือ 1) ทุกวันนี้รู้ข้อมูลรายรับรายจ่าย และกำไรที่แท้จริงไหม 2) มั่นใจกับความมั่นคงก้าวหน้าของธุรกิจหรือเปล่า  3) มีคนช่วยเหลือหรือพร้อมสนับสนุนหรือไม่


“รายได้แบบนี้ เปิดบริษัทเลยดีไหม” ในฐานะคนทำงานเรื่องภาษี บอกเลยว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ผมได้รับเป็นลำดับต้นๆ จากคนที่ทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา ที่ต้องการจะขยับขยายตัวเองไปในธุรกิจที่เติบใหญ่และมากขึ้น


“เปิดก็ดี แต่คิดให้ดีก่อนนะ เพราะตอนปิดมันไม่ง่าย” และนี่ก็เป็นคำตอบที่ผมมักจะให้ไปทุกครั้ง เมื่อมีคนถามคำถามนี้ ซึ่งขัดกับปรัชญาเรื่องการเริ่มต้นที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เหมือนขับรถมาด้วยความเร็วที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย แต่เจอป้ายให้หยุดกระทันยังไงแบบนั้นเลย


“เอางี้ บอกมาก่อนดีกว่าว่าทำไมถึงพูดแบบนี้” ถ้าสนิทกันระดับหนึ่ง มักจะมีคำถามนี้ตามมาปนด้วยความหมั่นไส้ ว่าทำไมพรี่หนอมนี่เล่นตัวจัง จะบอกดีๆ เหมือนคนอื่นก็ไม่ได้ว่าควรจดไหม หรือไม่ควรจด


ก่อนจะตอบคำถามว่าควรจดไหม ผมมักจะถามคำถามสามข้อนี้กลับไป เพื่อให้เขาตัดสินใจอีกที

  1. ทุกวันนี้รู้ข้อมูลรายรับรายจ่าย และกำไรที่แท้จริงไหม เพราะตรงนี้คือประเด็นสำคัญในการตัดสินใจ

  2. มั่นใจกับความมั่นคงก้าวหน้าของธุรกิจหรือเปล่า เพราะเราจะได้ประโยชน์มากกว่าหากจดบริษัท

  3. มีคนช่วยเหลือหรือพร้อมสนับสนุนหรือไม่ เพราะธุรกิจยิ่งใหญ่ ทีมงานคือสิ่งสำคัญที่สุด

จะเห็นว่าคำถามทั้งหมดนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องภาษี แต่คำตอบที่ได้รับนี่แหละครับ มันจะเป็นตัวบอกว่า เราจะเสียภาษีถูกลงหรือเปล่า เพราะข้อมูลที่แท้จริง ความมั่นคงของธุรกิจที่มีอนาคต ร่วมกับทีมงานที่ดี จะช่วยให้เราจัดการภาษีได้ง่ายขึ้นอีกมากมายเลยล่ะครับ

coporate-tax-1397389508

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณรู้ว่าธุรกิจคุณมีรายได้ 25 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย (ที่ไม่รวมภาษี) จำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจมีโอกาสเติบโตปีละ 10-20% ต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี รวมถึงมีทีมงานและนักบัญชีมาช่วยเหลือ แบบนี้ไม่ต้องคิดอะไรก็บอกได้ว่าควรจดบริษัทครับ เพราะรายได้มันมากเพียงพอที่จะบอกได้ว่า การเสียภาษีในรูปแบบของบริษัทนั้นถูกกว่าบุคคลธรรมดา


แต่ถ้าหากมีข้อมูลแค่ว่า รายได้ปีละ 25 ล้านบาทเฉยๆ แบบนี้บอกไม่ได้หรอกครับว่าควรจดบริษัทไหม เพราะถ้าหากพบความจริงว่าค่าใช้จ่ายปีละ 30 ล้านบาท (ยังไม่รวมภาษี) แบบนี้ก็ไม่ใช่ตอบว่าไม่ควรจด แต่ต้องตอบว่าเลิกทำเถอะพี่ กำไรหนีไปหมดตั้งนานแล้ววว


“ถ้าตอบและหาข้อมูลได้หมด ควรจดบริษัทเลยใช่ไหม” ฮั่นแน่… ชอบจดบริษัทใช่ไหมล่ะ อันนี้ก็บอกเลยครับว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาจะทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรจะจดหรือไม่จดดี เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจจดบริษัท นั่นคือ กำไรต้องมากขึ้น


ทีนี้กำไรที่ว่าจะมากขึ้นจากอะไรล่ะ … ง่ายมากครับ

  1. กำไรมากขึ้นจากรายได้ที่มากขึ้น และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายได้หรือลดลง (รายได้เพิ่ม รายจ่ายเพิ่มน้อยลงหรือลดลง)
  2. กำไรมากขึ้นจากรายได้ที่เท่าเดิม แต่ค่าใช้จ่ายลดลง (ประหยัดรายจ่าย)
  3. กำไรมาขึ้นจากรายได้ที่ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายลดลงมากกว่า (ลดทั้งคู่ แต่ค่าใช้จ่ายลดเยอะกว่า)

ซึ่งการจดบริษัทที่ว่า ผลที่ออกมาควรจะเป็นในรูปแบบที่ 1 คือ ยิ่งจดยิ่งดี รายได้เพิ่ม ค่าใช้จ่ายเพิ่ม (แต่ไม่เท่ากับรายได้) หรือลดค่าใช้จ่ายลงได้อีกหลังจากที่จดบริษัท และการตอบคำถามเหล่านี้ได้ต้องใช้ตัวเลขที่ผ่านการคิด วิเคราะห์ แยกแยะอย่างเหมาะสม ไม่ใช่นั่งเทียนแล้วเป่าลมเอาเบาๆ จริงไหมครับ

นอกจากนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกไว้อีกอย่างสำหรับคนที่ตัดสินใจจดบริษัท นั่นคือ คุณต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่ๆ จากค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าบริหารจัดการ ไปจนถึง ถ้าหากทำบริษัทไม่ดีแล้วตัดสินใจเลิกบริษัท ก็ยังมีภาษีที่อาจจะต้องเสียเพิ่มเติม ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการจ้างบัญชีเพื่อให้จดทะเบียนเลิกบริษัทอีกต่อหนึ่ง


หรือถ้าหากคุณบอกว่าจดไว้เฉยๆ ไม่เลิก แต่ไม่ทำ คุณก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำและสอบบัญชีอยู่ ถึงแม้ว่าจะน้อยหน่อย แต่ก็ยังต้องเสีย โดยศัพท์ในวงการบัญชีเรียกงบแบบนี้ว่า “งบเปล่า” นั่นคืองบที่ไม่มีรายการเคลื่อนไหว แต่ยังต้องทำอยู่ และจะหนีไปเฉยๆ ก็ไม่ได้ เพราะถือว่าทำผิดกฎหมาย ค่าปรับอีกเยอะเลยที่ต้องจ่ายตามมานะครับ


ท้ายที่สุดแล้ว คำถามว่า จดบริษัทดีไหม จึงเป็นคำถามง่ายๆ ที่ตอบไม่ได้ทันที (นอกจากตอบมั่วๆ) และสิ่งที่จะช่วยให้ตอบได้นั้น คือ ข้อมูลที่คุณมีนั่นแหละครับ ยิ่งมีข้อมูลเยอะ ยิ่งทำให้ตอบได้ใกล้เคียงความเป็นจริงและเหมาะสมมากขึ้น


แต่เอาจริงๆ นะครับ มากกว่าครึ่งของคนทำธุรกิจ ยังตอบไม่ได้เลยว่า กำไรที่แท้จริงของธุรกิจตัวเองเป็นเท่าไร ซึ่งตรงนี้คือปัญหาที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการวางแผนเรื่องจดบริษัทเพื่อประหยัดภาษีเสียอีกครับ


นั่นสิครับ คุณรู้จักธุรกิจตัวเองดีแค่ไหน