เปรียบเทียบ ข้อดีข้อเสียกู้หนี้ในระบบ VS นอกระบบ

ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง หรือด้วยความจำเป็นทางการเงินบางประการ ทำให้คุณอาจมีความต้องการกู้หนี้ยืมสินขึ้นมา โดยการกู้เงินนั้น มีทั้งที่เป็นเงินกู้ในระบบ และเงินกู้นอกระบบ แล้วเงินกู้ในระบบกับนอกระบบมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ควรกู้ที่ไหนดีกว่ากัน หาคำตอบได้จากบทความนี้


เงินกู้ในระบบ คือ การกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการไปกู้เงินที่ธนาคารด้วยตัวเอง การใช้เงินจากบัตรเครดิต การขอสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถ ซึ่งหนี้ในลักษณะนี้ กฎหมายจะมีการรับรองว่ามีการกู้หนี้ยืมสินจริง มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นไปตามกฎหมาย และหากผู้กู้ทำผิดสัญญา ไม่ยอมผ่อนชำระหนี้ตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมถูกดำเนินคดีแพ่งได้


เงินกู้นอกระบบ คือ เงินกู้ที่มีลักษณะตรงข้ามกับเงินกู้ในระบบทุกอย่าง กล่าวคือ เป็นการกู้เงินที่ไม่มีการรับรองจากกฎหมาย มีลักษณะเป็นการยืมเงินปากเปล่า หรือมีการบันทึกข้อความ สัญญาไว้เป็นหลักฐานก็ได้ ตัวอย่างของเงินกู้นอกระบบ เช่น พวกเงินด่วนทั้งหลายที่มีการแปะประกาศตามรั้ว ตามเสาไฟฟ้า หรือมีการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก หรือเป็นการปล่อยกู้กันเองในกลุ่มคนรู้จัก  รวมถึงสื่อตามอินเทอร์เน็ตต่างๆ ที่ไม่ได้มีการรับรองตามกฎหมาย

ข้อดี  ข้อเสีย   กู้หนี้ในระบบ VS กู้หนี้นอกระบบ

เปรียบเทียบ

หนี้ในระบบ

หนี้นอกระบบ

ผู้ปล่อยกู้

ธนาคารหรือสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย

ประชาชนทั่วไป (เจ้าหนี้) หรือธุรกิจผิดกฎหมาย

กฎหมายคุ้มครอง

มีกฎหมายคุ้มครอง

ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง

อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ

แจ้งอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ อย่างชัดเจน สูงสุดไม่เกิน 28% ต่อปี

ไม่มีอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้กำหนด (ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก)และมักคิดในอัตราที่สูงต่อเดือน

ความยากง่ายในการกู้

หากมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือมีเครดิตทางการเงินที่ดีจะกู้ได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามหากไม่มีเครดิตทางการเงินเลย อาจกู้ไม่ผ่าน และต้องเตรียมเอกสารประกอบการกู้ยืมตามที่สถาบันการเงินกำหนด ซึ่งอาจใช้เวลาในการอนุมัติสินเชื่อที่นานกว่า

มีขั้นตอนในการขอกู้ที่ง่ายกว่า รวบรัดกว่า ได้เงินเร็วกว่า บางทีเดินเข้าไปหาแหล่งเงินกู้ด้วยบัตรประชาชนเพียงอย่างเดียว ก็สามารถขอกู้และรับเงินได้ทันที

การประนอมหนี้

สามารถขอเจรจาเพื่อประนอมหนี้ได้

ไม่สามารถประนอมหนี้ได้ หากผิดนัดชำระหนี้ บางรายอาจมีอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้กู้ได้

ความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า

มีการเก็บข้อมูลลูกค้าเป็นความลับตามที่กฎหมายกำหนด

การรักษาข้อมูลส่วนตัวของลูกหนี้ไม่เป็นระบบ

เงื่อนไขสัญญา

มีสัญญาที่ชัดเจนและเป็นธรรม มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ชัดเจน เมื่อมีการชำระหนี้ ทางสถาบันการเงินก็มีการออกหลักฐานการชำระเงินที่ชัดเจนให้ลูกหนี้ไว้เป็นหลักฐาน

เงื่อนไขสัญญาต่อลูกหนี้ ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้เป็นผู้กำหนด บางครั้งอาจไม่มีสัญญาการกู้เงิน ไม่มีการออกหลักฐานการชำระเงิน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าได้ชำระหนี้ไปเท่าไหร่แล้ว ทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบ

จะเห็นได้ว่าหากจำเป็นต้องก่อหนี้ การกู้หนี้ในระบบจะทำให้เราได้รับความเป็นธรรม มีความชัดเจน เพราะมีกฎหมายคุ้มครอง อีกทั้งได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกกว่า และมีความปลอดภัย (ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน) กว่าการกู้เงินนอกระบบ อย่างไรก็ตามหากเผลอเป็นหนี้นอกระบบไปแล้ว ให้พิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อเข้ามาอยู่ในระบบจะดีกว่า โดยคุณสามารถขอคำปรึกษาจากธนาคาร ซึ่งในปัจจุบันธนาคารหลายแห่งมีแนวทางช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบออกมาอยู่เรื่อยๆ ให้เข้าไปสอบถามธนาคารดูว่าจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เช่น การขอสินเชื่อส่วนบุคคล หรือขอกู้เงินแบบใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อนำเงินก้อนที่ได้ไปปิดหนี้นอกระบบเสีย


ที่สำคัญอย่าลืมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงิน และให้รีบวางแผนการเงินให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิต้านทานไม่ให้เรากลับไปเป็นหนี้ซ้ำเดิมอีก

บทความโดย :  นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®  นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร