ท่าบริหารสมองป้องกันสมองเสื่อม ท่าง่ายๆ ทำได้ทุกวัน

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบก้าวกระโดด โดยมีประชากรที่เข้าสู่วัยผู้สูงอายุปีละประมาณ 1 ล้านคน สิ่งที่ตามมาคือการดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้โดยเฉพาะด้านสุขภาพที่มีแต่จะเสื่อมถอยตามอายุที่มากขึ้น และหนึ่งในโรคที่เป็นภัยคุกคามผู้สูงอายุก็คือโรคสมองเสื่อม โดยพบว่าภาวะสมองเสื่อมมีผู้ป่วยเพิ่มปีละ​ 1​ แสนราย​ และที่น่ากลัวคือร้อยละ50​ ของผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคนี้​


ในปี 2558 พบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์​ ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งประมาณ 6 แสนคน​ โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 100,000 รายต่อปี​ ประมาณการณ์ว่าในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุป่วยเป็นอัลไซเมอร์เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,177,000 คน​ โดยผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนในการเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 5 -8 และเมื่อมีอายุ 80 ปีสัดส่วนของการเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงถึงร้อยละ 50


โดย“ภาวะสมองเสื่อม” คือ​ ภาวะที่สมองเกิดการสูญเสียหน้าที่ในการทำงานหลายๆด้านพร้อมกันอย่างช้าๆ แต่ถาวร​ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านความจำ​ การรู้คิด ​การตัดสินใจ​  จนส่งผลให้เกิดการรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน​ รวมถึงปัญหาด้านพฤติกรรม​ และอารมณ์ร่วมด้วย​ เช่น​ มีพฤติกรรมก้าวร้าว​ อาการกระสับกระส่าย​ อาการหวาดระแวงและหลงผิด ซึ่งมีผลกระทบไม่เพียงแค่ตัวเองแต่ยังกระทบถึงคนรอบตัวที่ต้องคอยดูแลอีกด้วย


แต่รู้หรือไม่ว่าเราสามารถบริหารสมองตั้งแต่อายุยังไม่มากเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุได้ และนอกจากช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมในวัยชราแล้วยังทำให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย โดยสามารถทำได้ทุกวัน ทุกเพศ ทุกวัย ใช้เวลาในการบริหารสั้นๆ เพียงครั้งละไม่กี่นาที


การบริหารสมอง หมายถึง การบริหารร่างกายในส่วนที่สมองควบคุมโดยเฉพาะกลุ่มเส้นประสาท Corpus Callosum ซึ่งเชื่อมสมอง 2 ซีกเข้าด้วยกันเพื่อให้ทำงานประสานกัน มีความแข็งแรงและทำงานดีขึ้น ซึ่งช่วยให้การถ่ายโอนข้อมูลและการเรียนรู้ของสมองทั้ง 2 ซีกเป็นไปอย่างสมดุลเกิดประสิทธิภาพและยังช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียด รวมทั้งการสร้างสมาธิ ทำให้ความจำทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ดีขึ้น คลื่นสมอง (Brain Wave) จะลดความเร็วลงเปลี่ยนคลื่นเบต้า (Beta) เป็น อัลฟา (Alpha) ซึ่งเป็นสภาวะที่สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีวิธีง่ายๆ ในการบริหารสมองดังต่อไปนี้


การบริหารปุ่มสมอง

หลายคนเข้าใจผิดว่าปุ่มสมองอยู่ที่บริเวณศีรษะ แต่จริงๆ แล้วปุ่มสมองอยู่ที่บริเวณไหปลาร้าใช้มือขวาวางบริเวณที่ใต้กระดูกคอและซี่โครงของกระดูกอก หรือที่เรียกว่าไหปลาร้าจะมีหลุมตื้นๆ บนผิวหนังใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ คลำหาร่องหลุ่มตื้นๆ 2 ช่องนี้ซึ่งห่างกันประมาณ 1 นิ้วหรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับขนาดร่างกายของแต่ะละคนที่มีขนาดไม่เท่ากัน ให้นวดบริเวณนี้ประมาณ 30 วินาที และให้เอามือซ้ายวางไปที่ตำแหน่งสะดือ ในขณะที่นวดปุ่มสมองก็ให้กวาดตามองจากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้ายและจากพื้นขึ้นเพดาน

ประโยชน์ของการบริหารปุ่มสมอง
- เพื่อกระตุ้นระบบประสาทและเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองให้ดีขึ้น
- ช่วยให้ระบบการสื่อสารระหว่างสมอง 2 ซีกที่เกี่ยวกับการพูด การอ่าน การเขียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น


นวดปุ่มขมับ

1.ใช้นิ้วทั้งสองข้างนวดขมับเบาๆวนเป็นวงกลม ประมาณ 30 วินาที ถึง 1 นาที
2.กวาดตามองจากซ้ายไปขวา และจากพื้นมองขึ้นไปที่เพดาน


ประโยชน์ของการนวดปุ่มขมับ
- เพื่อกระตุ้นระบบประสาทและเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนการมองเห็นให้ทำงานดีขึ้น
- ทำให้การทำงานของสมองทั้ง 2 ซีก ทำงานสมดุลกัน


กดปุ่มใบหู

1.ใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้จับที่ส่วนบนสุดด้านนอกของใบหูทั้ง 2 ข้าง
2.นวดตามริมขอบนอกของใบหูทั้ง 2 ข้างพร้อมๆกันให้นวดไล่ลงมาจนถึงติ่งหู
เบาๆ ทำซ้ำหลายๆครั้ง ควรทำท่านี้ก่อนอ่านหนังสือเพื่อเพิ่มความจำและมีสมาธิมากขึ้น


ประโยชน์ของการนวดใบหู
- เพื่อกระตุ้นเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงสมองส่วนการได้ยินและความจำระยะสั้นให้ดีขึ้น
- สามารถเพิ่มการรับฟังที่เป็นจังหวะได้ดีขึ้น


การเคลื่อนไหวสลับข้าง (Cross Crawl)

ท่า จีบ L

1.ยกมือทั้งสองข้างขึ้นมาให้มือขวาทำท่าจีบ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือประกบกับนิ้วชี้ส่วนนิ้วอื่นๆให้เหยียดออกไป
2.มือซ้ายให้ทำเป็นรูปตัวแอล (L) โดยให้กางนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ออกไป ส่วนนิ้วที่เหลือให้กำเอาไว้
3.เปลี่ยนเป็นจีบด้วยมือซ้ายบ้างทำเช่นเดียวกับข้อที่ 1 ส่วนมือขวาก็ทำเป็นรูปตัวเเอล (L)เช่นเดียวกับข้อ 2
4.ให้ทำสลับกันไปมา 10 ครั้ง


ประโยชน์ของการบริหารท่าจีบซ้าย-ขวา
- เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อมือให้ประสานกัน เพื่อไม่ให้เกิดอาการนิ้วล็อค
- เพื่อกระตุ้นสมองเกี่ยวกับการสั่งการให้สมดุลและมีการเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว
- เพื่อกระตุ้นความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา

 

ท่าโป้ง-ก้อย

1.ยกมือทั้งสองข้างให้มือขวาทำท่าโป้งโดยกำมือและยกหัวแม่มือขึ้นมา ส่วนมือซ้ายให้ทำท่าก้อย โดยกำมือและเหยียดนิ้วก้อยชี้ออกมา
2.เปลี่ยนมาเป็นโป้งด้วยมือซ้ายและก้อยด้วยมือขวา
3.ให้ทำสลับกันไปมา 10 ครั้ง


ประโยชน์ของการบริหารท่าจีบโป้ง-ก้อย
- เพื่อกระตุ้นการสั่งการของสมองให้สมดุลทั้งซีกซ้ายและซีกขวา
- เพื่อกระตุ้นสมองส่วนการคิดคำนวณการกะระยะ
- เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหัวไหล่เกิดการติดยึด


ท่าแตะจมูก-แตะหู

1.มือขวาไปแตะที่หูซ้าย ส่วนมือซ้ายให้ไปแตะที่จมูก (ลักษณะมือไขวักัน)
2.เปลี่ยนมาเป็นมือซ้ายแตะที่หูขวา ส่วนมือขวาไปแตะที่จมูก (ลักษณะมือไขวักัน)


ประโยชน์ของการบริหารท่า แตะจมูก-แตะหู
- ช่วยให้มองเห็นภาพด้านซ้ายและขวาดีขึ้น

 

ท่าแตะหู

1.มือขวาอ้อมไปที่หูซ้าย ส่วนมือซ้ายอ้อมไปจับหูขวา
2.เปลี่ยนมาเป็นมือซ้ายอ้อมไปจับหูขวาส่วนมือขวาอ้อมไปจับหูซ้าย


ประโยชน์ของการบริหารแตะหู
- เพื่อกระตุ้นการสั่งการของสมองให้สมดุลทั้งซีกซ้ายและซีกขวา
- เพื่อกระตุ้นสมองส่วนการคิดคำนวณกะระยะ
- เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหัวไหล่เกิดการติดยึด

จะเห็นว่าทุกท่าเป็นท่าที่ไม่ยากและสามารถทำได้ทุกวันโดยใช้เวลาไม่นาน แต่ในการเริ่มทำใหม่ๆ อาจรู้สึกว่างงหรือทำท่าผิดๆ ถูกๆ บ้าง ไม่เป็นไรให้เริ่มทำอย่างช้าๆ เมื่อทำเป็นประจำจะทำได้คล่องขึ้นเรื่อยๆ เอง


โรคภัยไข้เจ็บถึงแม้ว่าเราจะสามารถดูแลตัวเองเพื่อให้ป้องกันการเกิดโรคได้บ้าง แต่อย่างไรเสียการเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ตลอดเวลา และนับวันค่ารักษาพยาบาลก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการทำประกันสุขภาพจึงเป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อุ่นใจขึ้นมากขึ้น สนใจทำประกันสุขภาพศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/insurance/health-insurance.html


อ้างอิง

http://www.secondary11.go.th/th/subweb/g_direct/?p=222

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/home/ondemand/%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2/
https://thaitgri.org/?p=38965