10 วิธีปลดล็อคความหนักใจยามคนสนิทขอยืมเงิน

การไม่ให้ยืมเงิน ใช่ว่าหมายถึงไร้น้ำใจเมื่อคนใกล้ชิดเดือดร้อน แต่ขึ้นชื่อว่า “เงิน” มักไม่เข้าใครออกใคร บางครั้งเมื่อเราเอื้อเฟื้อด้วยความจริงใจ แต่ไร้วี่แววได้คืน จึงเสียความรู้สึกที่มีค่ายิ่งกว่าเงินทอง และน่าเสียดายความสัมพันธ์ที่เคยมีมาในอดีต เพราะหลายครั้งทำให้คนเราตัดญาติขาดเพื่อนกันไปเลย เพื่อรักษาบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นตั้งแต่แรก ควรตั้งกติกากับตัวเองและผู้อื่นให้ชัดเจนว่า ถ้ามีคนสนิทที่รักและนับถือกันมากมาขอยืมเงิน เราควรจะทำอย่างไร
 

1. เช็กอาการผู้ที่จะมายืมเงิน


ต้องสังเกตอารมณ์ที่ผิดแปลกไปว่า มีอาการของคำว่า “เยอะ” มากกว่าระดับปกติหรือไม่ เช่น พูดอ้อมโลกแต่ไม่ยอมหยุดสนทนา หรือ โทรมาหาถี่ได้ถี่อีกเพื่อจะพูดอะไรบางอย่าง บางกรณีก็มาพร้อมเรื่องเศร้าระบายพรั่งพรูออกมาว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต และตบท้ายตามสูตรด้วยการขอยืมเงิน หากเจอแบบนี้ให้รับฟังด้วยเหตุผล หนักแน่นที่เรื่องราว พยายามอย่าให้องค์ประกอบดราม่ามาสั่นคลอนจิตใจ


2. ความสัมพันธ์มีโอกาสเป็นศูนย์


ถ้ามีคนสนิท ไม่ว่าญาติหรือเพื่อนมาขอยืมเงิน ทันทีที่ๆ ให้เงินไป ทำใจรับความเสี่ยงเรื่องความสัมพันธ์ไว้เลย เพราะอนาคตไม่แน่นอนว่าจะได้คืนเงินครบหรือไม่ และยังต้องคอยหวาดระแวงทวงถามกันให้ลำบากใจ สร้างความหงุดหงิด เป็นจุดเริ่มความแตกแยกเมื่อคืนล่าช้า ผัดผ่อน หรือหนีหาย ทุกครั้งที่มีคนมายืมเงิน ควรตั้งสติ อย่าใจร้อนรีบตัดสินใจ และชั่งน้ำหนักให้ดีว่าพร้อมเสี่ยงสูญเสียความสัมพันธ์กับคนๆ นั้นหรือไม่


3. ให้ไปเลยแต่พอสมเหตุสมผล


เพราะเชื่อว่าคนย่อมเดือดร้อนจริงยิ่งในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ แต่หากจะให้ยืม ควรเป็นจำนวนที่พอเหมาะพอดีในแบบที่ตัวเราไม่เดือดร้อน อาจไม่ได้ตอบสนองเงินทั้งหมดที่เขาต้องการ และให้คิดว่าเป็นการให้ครั้งเดียวเท่านั้น อย่างน้อยก็เป็นเกราะป้องกันการยืมครั้งต่อๆ มา หรือถ้ามายืมอีกก็ต้องใจแข็ง อย่าให้เป็นความเมตตาสร้างข้อผิดพลาดเรื้อรังดีกว่า


4. ให้ยืมแบบมีข้อแลกเปลี่ยนชัดเจน


ให้ยืมหรือช่วยเหลือใช้หนี้บนข้อแลกเปลี่ยนที่มีการทำสัญญาอย่างจริงจัง เช่น สัญญาต่างตอบแทน โดยอาจใช้วิธีการแลกว่าสามารถทำงานอะไรเพื่อแลกกับเงินก้อนนี้ หรือดูว่าผู้ที่ต้องการใช้เงินมีทรัพย์สินอะไรมาขายเพื่อแลกเป็นเงินก้อน หรือทำเป็นสัญญาเงินกู้ที่นำทรัพย์สินมาจำนำ จดจำนอง หรือเอามาค้ำประกันหนี้ โดยในสัญญาต้องระบุดอกเบี้ย และเบี้ยปรับด้วย เพราะถ้ามีการผิดเงื่อนไขพร้อมยึดทรัพย์สินทันที


5. ช่วยเหลือแบบอื่น หรือหาต้นเหตุของหนี้


การให้ยืมเงินเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากอยากช่วยเขาแบบที่เราก็รอดด้วย ลองมานั่งหาสาเหตุก่อหนี้ ตรวจสอบว่าต้นตอปัญหาอยู่ที่ไหน เพราะคนนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง มักมองเห็นหรือสะท้อนมุมมองที่ชัดเจนกว่าคนที่ตกอยู่ในวงล้อมปัญหา หรืออาจเสนอการช่วยแบบที่เราไม่เสียเงิน เช่น หาช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ๆ เพื่อไม่ให้เงินทองขาดมือ

10-ways-to-avoid-friends-borrowing-money-01

6. สวมบทคนจู้จี้ถามซอกแซก


ตั้งคำถามในรายละเอียดเยอะๆ เอาเงินไปทำอะไร สาเหตุที่ทำให้ต้องยืมเงิน ลองหาวิธีอื่นหรือยัง ลองยืมคนอื่นแล้วหรือไม่ ที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาอย่างไร ครอบครัวช่วยเหลืออย่างไรบ้าง แล้วถ้ายืมแล้ว มีแผนบริหารการเงินอย่างไรต่อ รวมถึงแผนการคืนเงินให้เรา จะแบ่งคืนเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน ถ้าเบี้ยวหนี้จะทำอย่างไร บุคคลที่ติดต่อได้มีใครบ้าง พยานรับรู้เป็นใคร ฯลฯ แม้จะดูจู้จี้จนน่ารำคาญ แต่เป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อเราทั้งสิ้น และอาจทำให้คนที่มายืมเปลี่ยนใจถอยห่างเราไปเองก็ได้


7. ขอเวลาคิดระยะยาว (มาก)


เพราะการมาขอยืมเงิน บ่งบอกว่าเขาย่อมต้องรวบรวมความกล้ามาก่อน ถ้าช่วยไม่ไหว แต่ก็ไม่อยากเสียความสัมพันธ์ ลองใช้วิธีผัดผ่อน ไม่ตกปากรับคำชัดเจนว่าจะให้ยืมหรือไม่ แต่ขอเวลากลับไปคิดทบทวน หรือวางเงื่อนไขให้เขาเห็นว่า เรายังมีภาระค่าใช้จ่ายอนาคตรออยู่ในช่วงนี้ช่วงนั้น และยังเป็นกำหนดที่ไม่แน่นอนเสียด้วย จะรอได้หรือไม่ หากคนรอไม่ไหวอาจต้องถอยทัพไปหาแหล่งให้ยืมใหม่เอง


8. บอกให้ชัดว่าไม่ให้ เพราะเคยมีประสบการณ์น่าผิดหวัง


บอกเหตุผลไปเลยว่าเหตุผลที่ไม่ให้ เพราะคนในครอบครัวเคยมีปัญหาการให้ยืมจนผิดใจกับเพื่อนสนิท บทเวลายืมนั้นอาจจะขอกันง่าย แต่เวลาจะใช้คืน แทบจะวิงวอนเหมือนคนติดหนี้แทนว่าช่วยคืนหนี้หน่อยเถิดนะ สุดท้ายเงินต้นก็เสียไป แถมยังมองหน้ากันไม่ติด โดยอ้างประสบการณ์ที่เราเจอเอง หรืออ้างคนในครอบครัวที่แชร์กระเป๋าเงินร่วมกันเลยว่า สั่งห้ามเป็นกฎเหล็กของบ้านเลยว่า ไม่ให้คนนอกยืมเงินเด็ดขาด


9. พูดตรงๆ เลยว่าไม่ให้เพราะอะไร


การพูดตรงๆ ว่าไม่ให้ยืม เป็นวิธีที่จริงใจ เจ็บแต่จบ ไม่ยืดเยื้อ เพราะคนที่ถูกยืมใช่ว่าจะเป็นฝ่ายมีเงินก้อนโตเสมอไป การบอกเหตุผลประกอบ น่าจะเป็นการดีที่ทำให้ผู้ยืมเข้าใจ เช่น ตอนนี้การเงินก็ตึงๆ เช่นกัน หรือไม่เคยให้คนสนิทยืมเงินเลย เพราะกลัวเป็นต้นเหตุความสัมพันธ์บาดหมาง เลยตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่ให้คนสนิทยืมเงินเด็ดขาด


10. อย่าเปิดตัวเลขทางการเงินให้คนอื่นรู้


จำไว้เลยว่า ถ้าเปิดเผยรายได้หรือทรัพย์สินมากเท่าไร ก็จะกลายเป็นภัยมาถึงตัวมากเท่านั้น เพราะถ้ามีคนเดือดร้อนตั้งใจจะหาแหล่งยืมเงินอยู่แล้ว เขาจะมองหาคนที่มีศักยภาพในการให้ยืม เล็งเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ และถ้าเขามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ คงคิดมาเป็นอย่างดีว่า ถ้าเกิดเบี้ยวนี้ขึ้นมา เจ้าหนี้รายนี้คงไม่เดือดร้อน เพราะมีฐานะการเงินแข็งแรงอยู่แล้ว


อย่าลืมว่า เรามีน้ำใจกับคนอื่นได้ หากเรามีพื้นฐานการเงินที่พร้อม รู้จักตัวตนและนิสัยใจคอของคนๆ นั้น และพร้อมรับความเสี่ยงในการสร้างความสัมพันธ์รูปแบบ “เจ้าหนี้” กับ “ลูกหนี้” ที่แสนเปราะบางขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่พร้อมรับบทเจ้าหนี้จริงๆ 10 วิธีนี้อาจช่วยลดความหนักใจในการเผชิญหน้ากับคำขอที่ยากจะปฏิเสธ หรืออีกทางหนึ่งคือแนะนำการกู้ยืมเงินด่วนจากสถาบันการเงิน  ในรูปแบบของสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อให้คุณพร้อมรับมือรับทุกเหตุการณ์ฉุกเฉินในชีวิตอย่างอุ่นใจ ดูรายละเอียดที่นี่


ที่มา
https://www.lumpsum.in.th/knowledge/read/Say-No
https://wealthmeup.com/5-วิธีรับมือคนยืมตังค์
https://wealthmeup.com/wchannel/1-1-21-04-11/
https://www.shopback.co.th/blog/เพื่อนยืมเงิน