Richest Family in USA รวยยังไงให้รอดในศตวรรษนี้

เรื่อง: เอกศาสตร์ สรรพช่าง


Hi-Light:

  • Business insider จัดอันดับครอบครัวอเมริกัน 25 อันดับที่รวยที่สุดในอเมริกา เป็นครอบครัวที่มีทรัพย์สมบัติรวมกันมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ ประมาณสามแสนกว่าล้านบาท
  • ในลิสต์ที่จัดอันดับ อย่างที่เดาไว้ไม่ผิดคือ เหล่าครอบครัวมหาเศรษฐีเหล่านี้วนเวียนอยู่ในธุรกิจไม่กี่อย่าง น้ำมัน ยา นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ธนาคาร ที่น่าสนใจคือมีครอบครัวคนทำสื่ออยู่ด้วย
  • บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งกำลังลงทุนเรื่องเทคโนโลยีอย่างมากมาย ลงทุนในที่นี่หมายถึง พัฒนาขึ้นมาเอง หรือไม่อีกทีก็ซื้อมาทั้งบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Alphabet เจ้าของ Google, Apple หรือ Facebook การพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ ระบบการจัดการข้อมูล เทคโนโลยีที่เชื่อมกับวิถีชีวิตของลูกค้านั้น บริษัท Top 4 ของอเมริกาลงทุนเรื่องเทคโนโลยีเป็นสัดส่วนที่สูงมากคือมากกว่า 20% ซึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อสักสิบปีก่อนจะอยู่ที่ไม่เกิน 7% ของรายได้


คนไทยจัดลำดับศักดินาของตนด้วยยศฐาบันดาศักดิ์ ส่วนคนอเมริกันจัดลำดับศักดินาของตัวด้วยจำนวนเงินที่มีบัญชีและความยิ่งใหญ่ของการสร้างอาณาจักรของตนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ยกตัวอย่างครอบครัวเคเนดี้ก็ถูกยกย่องว่าเป็นเสมือนราชวงศ์ในแวดวงนักการเมือง ร็อคกี้เฟลเลอร์คือแบบอย่างความสำเร็จของการทำธุรกิจ เรียกว่าเป็นนามสกุลที่ใครได้ยินแล้วก็ต้องรู้สึกถึงความน่าเกรงขามมีประวัติศาสตร์และเปี่ยมด้วยอิทธิพล


1

ไม่นานมานี้ Business insider จัดอันดับครอบครัวอเมริกัน 25 อันดับที่รวยที่สุดในอเมริกา เป็นครอบครัวที่มีทรัพย์สมบัติรวมกันมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ (แน่นอนไม่มีโดนัล ทรัมป์) ประมาณสามแสนกว่าล้านบาท การจัดอันดับนี้ผมคิดว่าไม่ได้จัดอันดับแค่ว่ามั่งมีแต่ต้องการให้เห็นถึงอิทธิพลและการรักษาการทำงานแบบธุรกิจครอบครัวที่สามารถส่งต่อความยิ่งใหญ่ได้แบบรุ่นต่อรุ่น ถือว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับการทำธุรกิจสมัยใหม่ในอเมริกาที่เปลี่ยนตัวเองเป็นมหาชน และผู้ถือหุ้นส่วนมากก็ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้น ไม่ได้มีอำนาจในการบริหาร การรักษาความแข็งแกร่งของสายสัมพันธ์ในครอบครัวในประเทศที่สถาบันครอบครัวล้มเหลวที่สุด จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ฝรั่งเหล่านี้ใช้อะไรหนอในการเกาะเกี่ยวครอบครัวเอาไว้ด้วยกัน


2

ดูในลิสต์ที่จัดอันดับ อย่างที่เดาไว้ไม่ผิดคือ เหล่าครอบครัวมหาเศรษฐีเหล่านี้วนเวียนอยู่ในธุรกิจไม่กี่อย่าง น้ำมัน ยา นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ธนาคาร ที่น่าสนใจคือมีครอบครัวคนทำสื่ออยู่ด้วย ทำไมบริษัทกงสีที่ทำสื่อในอเมริกา ถึงยังคงความร่ำรวยอยู่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของบริษัทสื่อในประเทศอื่น ๆ ที่มีอาการย่ำแย่กว่ามากทั้งในยุโรป เอเชีย หรือแม้แต่ในออสเตรเลีย


3

ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่ามีหลายปัจจัยคนอเมริกันเป็นคนที่บริโภคสื่ออย่างหนักหน่วง เข้มข้นและไม่ใช่แค่ข่าว คือเอาจริงเอาจังกับการทำสื่อ ว่ากันตั้งแต่ทำภาพยนตร์ไปจนถึงรายงายข่าวกีฬา ข้อมูลต้องแน่น (ใครชอบดูบาสเก็ตบอล NBA คงนึกออก เต็มไปด้วยตัวเลขและสถิติ นั่นความสนุกของการดูกีฬาแบบอเมริกันชน) อีกประการหนึ่งคือ ฐานผู้อ่านที่ใหญ่ คือ บทความเดียวสามารถอ่านกันได้ทั่วโลก นั่นน่าจะเป็นเหตุผลว่าการแข่งขันที่สูงมากและเมื่อมีผู้รอดจากการคัดสรร ผู้นั้นย่อมอยู่บนจุดสูงสุดตามกฎของมาสโลว์


4

ธุรกิจครอบครัวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของอเมริกาก็ว่าได้ ฉะนั้นสายสัมพันธ์จึงกว้างขวางและแข็งแรง ทำให้พวกเขาแตกแขนงธุรกิจออกไปได้มากมาย จากตัวอย่างครอบครัว Newhouse เจ้าของ Advance Publication เจ้าของ Condé Nast เป็นเจ้าของบริษัทสื่ออีก 25 บริษัท (เพิ่งรู้ว่า Reddit ก็ด้วย) หรือ Hearst เจ้าของ Esquire และ Harper's Bazaar ก็มีหัวหนังสือและสื่อต่างๆ มากกว่า 300 หัวในมือ ซึ่งต่างต่างเกี่ยวโยง โยงใยเกื้อหนุนกันอย่างเป็นระบบ(ครอบครัว Hearst มีทรัพย์สินมากกว่า Newhouse อีก คือประมาณ 24,500 ล้านเหรียญ ส่วน Newhouse อยู่ที่ 18,500 ล้านเหรียญ แต่ทั้งคู่ก็มีมากกว่าครอบครัว Rockefeller และ Goldman)


5

และอนาคตคิดว่าธุรกิจครอบครัวน่าจะโตไปได้อีก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเก่งกาจของลูกหลานและการวางระบบไม่ให้ลูกหลายผลาญเงินจนหมดและที่สำคัญก็อยู่ที่ข้อที่ผมจะบอกถัดไป


6

สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับราชวงศ์หมื่นล้านของอเมริกาก็คือ แม้ว่าจะมีความมั่งคั่ง พบว่าเกือบทั้งหมด ไม่ได้โดดเด่นเรื่องเทคโนโลยีมากนัก ยกเว้นก็แต่ครอบครัวที่บริหารกิจการสื่อที่สถานการณ์บังคับให้ต้องปรับตัว ตรงกันข้ามกับบริษัทรุ่นใหม่ๆ ที่โตวันโตคืนด้วยการลงทุนในเทคโนโลยี


7

James Bessen นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอสตัน บอกกับ Wall Street Journal ไว้ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งกำลังลงทุนเรื่องเทคโนโลยีอย่างมากมาย ลงทุนในที่นี่หมายถึง พัฒนาขึ้นมาเอง (หรือไม่อีกทีก็ซื้อมาทั้งบริษัท) ไม่ว่าจะเป็น Alphabet เจ้าของ Google, Apple หรือ Facebook การพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ ระบบการจัดการข้อมูล เทคโนโลยีที่เชื่อมกับวิถีชีวิตของลูกค้า บริษัท Top 4 ของอเมริกาลงทุนเรื่องเทคโนโลยีเป็นสัดส่วนที่สูงมากคือมากกว่า 20% ซึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อสักสิบปีก่อนจะอยู่ที่ไม่เกิน 7% ของรายได้


8

นั่นอาจเป็นเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์หมื่นล้าน ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาอย่างครอบครัววอลตันเจ้าของห้าง Walmart ตัดสินใจร่วมลงทุนกับไมโครซอฟท์ในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีขึ้น เพื่อให้ทัน Amazon


9

จริงๆ แล้วในยุคเมื่อสิบปีก่อน Walmart เป็นหนึ่งในคนที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาก ความสำเร็จของ Walmart มาจากการคิดรหัสบาร์โค้ดที่ซับซ้อนขึ้นมาใช้เอง เพื่อจัดการสต๊อกและเช็กการขาย ทำให้ Walmart โตได้เร็ว สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างมากว่า เมื่อครอบครัวที่รวยที่สุดในอเมริกากำลังลงมาลงทุนมากขึ้นในเทคโนโลยีจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยขนาดไหน


10

ไทยเราแม้จะประกาศตัวว่าเป็นไทยแลนด์ 4.0 แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เราเป็นประเทศที่รับเทคโนโลยีมากกว่าสร้างเทคโนโลยี ซึ่งก็เป็นลักษณะโดยทั่ว ๆ ไปของประเทศที่กำลังพัฒนา กระทั่งจีนเองที่กำลังโตวันโตคืนพวกเขาก็รู้ตัวเองว่า การพัฒนาด้านนวัตกรรมยังไม่ทันกับการรับเทคโนโลยี สรุปก็คือความรวยไม่จีรังเท่ากับมีวิสัยทัศน์หรือไม่ มีเงินแล้วก็ต้องใช้ให้เป็นด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นก็พังเหมือนกัน


เอาใจช่วยผู้ประกอบการทุกคนครับ


อ้างอิง

  • https://www.wsj.com/articles/why-do-the-biggest-companies-keep-getting-bigger-its-how-they-spend-on-tech-1532610001
  • https://www.businessinsider.com/richest-billionaire-families-america-2018-7#2-the-koch-family-24