5 ข้อผิดพลาดที่ทำให้คุณล้มเหลวทางการเงิน

ในทุกการเดินทางใช่ว่าเราจะพบเจอแต่ความราบรื่น ปราศจากอุปสรรค บางครั้งก็สมหวัง บางครั้งก็ผิดหวัง และจะมีบททดสอบต่างๆ เข้ามาให้เราได้เรียนรู้และก้าวผ่าน ในการวางแผนการเงินก็เช่นกัน ก็จะมีความท้าทายและบททดสอบต่างๆ เข้ามาอยู่เสมอกว่าที่จะประสบความสำเร็จทางการเงิน  บทความนี้จะมาเล่าถึง 5 ข้อผิดพลาดที่ทำให้คุณล้มเหลวทางการเงิน ซึ่งเมื่อเรารู้แล้วว่าข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นคืออะไร เราจะได้เตรียมการและวางแผนเพื่อป้องกันความผิดพลาดนั้นๆ ได้


1. กระโดดเข้าสู่การเป็นนักลงทุนก่อนที่คุณจะมีเป้าหมายและแผนการลงทุนที่ชัดเจน

ความผิดพลาดข้อนี้ เป็นข้อผิดพลาดอันดับต้นๆ และเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งยวดของนักลงทุนมือใหม่จริงๆ หากคุณไม่รู้ว่าวันนี้คุณยืนอยู่ ณ จุดไหน และคุณต้องการที่จะไปอยู่ที่ตรงไหนในอนาคต เพราะหากคุณปราศจากเป้าหมายและแผนการลงทุนที่ดี การลงทุนของคุณก็จะเป็นไปย่างสะเปะสะปะ เป้าหมายที่คุณอยากได้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าคุณอยากเป็นใคร หรืออยากทำอะไรในอนาคต ในขณะที่แผนการที่ดีจะเป็นเครื่องมือที่จะพาคุณไปสู่เป้าหมายนั้นๆ


ดังนั้นอย่าได้เสียดายเวลาที่จะใช้ไปในการจัดการการเงินส่วนบุคคลของคุณให้เป็นระบบ วิเคราะห์ตัวเองและตั้งเป้าหมายการลงทุน พร้อมเขียนเป้าหมายของคุณออกมาให้ชัดเจน เมื่อนั้นคุณก็จะสามารถเลือกการลงทุนอย่างชาญฉลาดที่สามารถตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตที่คุณต้องการได้


2. ไม่ให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ หรือประเมินความน่ากลัวของเงินเฟ้อต่ำเกินไป

เงินเฟ้อคืออะไร เงินเฟ้อคือสภาวะที่ข้าวของแพงขึ้นเรื่อยๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือสภาวะที่เงินลดค่าลงเรื่อยๆ ความหมายของเงินที่ลดค่าลงเรื่อยๆ ก็คือ เงิน 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่สามารถซื้อข้าวของ เครื่องใช้ได้เท่ากับการใช้เงิน 100 บาทซื้อข้าวของในวันนี้ ถ้าคุณยังนึกไม่ออกถึงความน่ากลัวของเงินเฟ้อ ขอยกอีกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ผ่านดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่เราเรียกว่าดัชนีก๋วยเตี๋ยว ลองนึกย้อนกันดูว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วเราซื้อก๋วยเตี๋ยวทานกันชามละเท่าไหร่ สัก 15 บาทหรือ 20 บาทได้ แล้วราคาก๋วยเตี๋ยวเมื่อ 10 ปีที่แล้วล่ะอยู่ที่ชามละเท่าไหร่ น่าจะสัก 30 บาทได้ แล้วทุกวันนี้ คุณกินก๋วยเตี๋ยวที่ชามละเท่าไหร่กัน แล้วคุณคิดว่าอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้าแค่ก๋วยเตี๋ยว 1 ชามจะมีราคาเท่าไหร่กัน นี่แค่ตัวอย่างราคาก๋วยเตี๋ยว 1 ชามเท่านั้น ยังไม่ได้พูดถึงราคาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของเราเลย

ดังนั้นเงินหลักร้อยในวันข้างหน้าอาจจะซื้อไม่ได้แม้กระทั่งก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม และเงินหลักล้านที่คุณมีหรือกำลังจะมีก็อาจจะไม่เพียงพอสำหรับใช้ในยามเกษียณอีกแล้วก็เป็นได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเงินกองทุนเพื่อการเกษียณอายุหรือเงินกองทุนเพื่อการศึกษาบุตรที่คุณได้เตรียมหรือกำลังจะเตรียม คุณได้เคยคิดถึงผลของเงินเฟ้อบ้างหรือไม่ อย่าได้ประเมินความน่ากลัวของเงินเฟ้อต่ำจนเกินไป เผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาด เพราะเงินเฟ้อน่ากลัวมากจริงๆ จะบอกให้


3. รีรอในการเก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุ

หลายคนคิดว่าการวางแผนเกษียณอายุเป็นเรื่องของคนใกล้เกษียณอายุแล้วเท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว หรือบางส่วนที่อยู่ในระยะเริ่มต้นของวัยกลางคนจึงมักละเลย ผัดวันประกันพรุ่งในการวางแผนเกษียณอายุ และคิดว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่จำเป็นและไม่เร่งด่วน จึงมักนำเงินไปใช้กับเป้าหมายระยะสั้น เช่น เพื่อการท่องเที่ยว หรือการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ส่วนตัวที่มีราคา เช่น การมีบ้านและการมีรถ ทำให้เงินออมส่วนใหญ่หมดไปกับการผ่อนบ้านและผ่อนรถ ซึ่งแน่นอนย่อมตามมาด้วยกับภาระดอกเบี้ยจ่าย ผลก็คือไม่เหลือเงินออม หรือมีเงินออมที่ไม่เพียงพอสำหรับไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ และในท้ายที่สุดก็มีชีวิตบั้นปลายหลังเกษียณที่ยากลำบาก เป็นภาระของลูกหลาน หรือเป็นภาระของสังคม หวังว่านี่คงไม่ใช่ชีวิตบั้นปลายที่คุณอยากได้  เพราะถ้าเลือกได้ หลังจากที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิต คุณก็คงอยากมีชีวิตหลังเกษียณอายุที่สุขสบาย ไม่มีใครที่จะวางแผนตัวเองเพื่อที่จะล้มเหลว หากแต่ล้มเหลวเพราะไม่ได้วางแผนต่างหาก ดังนั้นอย่าลืมว่าการเก็บเงินเพื่ออนาคต เพื่อตัวคุณเองในวันข้างหน้าเป็นเรื่องที่สำคัญมากจริงๆ

4. ไม่มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

“อย่าใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน – Don’t put all your eggs in one basket” เป็นหนึ่งในหลักการลงทุนเบื้องต้นที่คุณคงจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว ซึ่งหลักการนี้ กล่าวถึงสิ่งที่ต้องพิจารณาในการตัดสินใจลงทุน นั่นคือต้องมีการกระจายความเสี่ยง โดยเปรียบไข่เป็นเงินลงทุนของเรา การกระจายความเสี่ยงด้วยการนำไข่ไปใส่ไว้ในหลายๆ ตะกร้า ก็เปรียบเสมือนกับการนำเงินลงทุน กระจายไปในการลงทุนหลายๆ รูปแบบ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับตะกร้าใบใดใบหนึ่ง อย่างน้อย เราก็ยังมีตะกร้าใบอื่นๆ เหลืออยู่ เฉกเช่นเดียวกับการลงทุน ที่แม้ว่าการลงทุนบางอย่าง เช่น หุ้น ที่ในช่วงภาวะตลาดและเศรษฐกิจที่เติบโตดีมักจะมีแนวโน้มได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ แต่เราก็ไม่ควรนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับหุ้น ไม่ว่าจะเป็นจากตัวหุ้นเองหรือภาวะตลาดและเศรษฐกิจที่พลิกผัน อย่างน้อย ผลกระทบที่คาดไม่ถึงก็จะถูกผ่อนหนักเป็นเบา และ เราก็จะได้ไม่เดือดร้อนจนเกินไป


5. ถอดใจจากการลงทุน

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยผิดพลาดจากการลงทุน หรือรู้สึกว่าการลงทุนเป็นเรื่องที่ยากเกินไป ทำให้คุณเกิดอาการ ‘ถอดใจ’ และไม่อยากจะลงทุนอีกต่อไปแล้ว คำแนะนำ คือ ขอให้คุณลองหันกลับมาวิเคราะห์ตัวเองว่า ทำไมคุณจึงผิดพลาด เช่น หากคุณขาดทุนจากการลงทุนในหุ้น คำถามที่คุณควรจะต้องถามตัวเอง คือ คุณเลือกลงทุนในหุ้นตัวนี้เพราะอะไร คุณได้ทำการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้วหรือไม่ก่อนที่คุณจะลงทุน คุณมีการตั้งเป้าหมายการลงทุนและมีแผนการลงทุนหรือยัง แล้วคุณได้ทำตามแผนการลงทุนนั้นหรือเปล่า หรือคุณแค่กระโดดเข้าไปซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะเห็นว่าใครๆ เขาก็ซื้อกัน หรือเพราะกลัวว่าถ้าไม่ซื้อแล้วจะตกขบวน ถ้าคุณเปิดใจและวิเคราะห์ความผิดพลาดจากการลงทุนของคุณอย่างจริงจังแล้วล่ะก็  แม้ว่าคุณจะขาดทุนจากการลงทุนที่อยู่ในรูปของตัวเงิน แต่เชื่อได้เลยว่าคุณจะได้อะไรบางอย่างติดไม้ติดมือกับมาอย่างแน่นอน ซึ่งอะไรบางอย่างที่ว่าก็จะกลายเป็นทักษะ เป็นประสบการณ์ที่จะทำให้คุณพัฒนาความสามารถในการลงทุนของคุณให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

จงอย่ากลัวความล้มเหลว แต่จงเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น เพราะความล้มเหลวจะกลายเป็นครูที่ดีที่สุดของเรานอกจากนี้ความผิดพลาดหรือความล้มเหลวที่น่ากลัวที่สุดก็คือการที่คุณหวาดกลัวและไม่ยอมเป็นนักลงทุน


บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร