Tiny House บ้านเล็กในเมืองใหญ่แต่ฟังก์ชั่นครบครันสไตล์ญี่ปุ่น

มหานครโตเกียวอีกเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องที่อยู่อาศัยที่มีขนาดเล็ก ลองนึกภาพครอบครัวที่มีสามคนพ่อแม่และลูกที่ต้องอาศัยในบ้านที่มีพื้นที่เพียง 20 กว่าตารางเมตร แค่คิดก็อึดอัดแล้วใช่มั้ย แต่สถาปนิกญี่ปุ่นเขานำแนวคิดการสร้างบ้านโบราณแบบญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ทำให้บ้านที่มีพื้นที่เล็กจิ๋วอยู่ได้แบบสบายและฟังก์ชั่นครบครัน บ้านที่ว่านี้เขาเรียกกันว่า Tiny House

Tiny house ในโตเกียวหมายถึงบ้านที่มีขนาดพื้นที่เล็กกว่า 50 ตารางเมตร คุณสามารถพบเห็นบ้านแบบที่เรียกว่า Tiny House ได้ทั่วไปในโตเกียวโดยลักษณะจะอยู่ริมถนนและเป็นบ้านที่มีผนังติดกันแบบทาวน์เฮาส์ในบ้านเรา โดยวันนี้จะพาไปสำรวจบ้านสองหลังที่เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว 3 ชีวิต พ่อ แม่ ลูก ว่าเขาอยู่กันอย่างมีความสุขอย่างไรในบ้านที่มีขนาดเล็กมากเช่นนี้

บ้านหลังแรกมีขนาดเพียง 23 ตารางเมตร ขนาดความกว้างเพียง 3 เมตร ก้าวแรกตรงข้ามประตูเข้าบ้านเป็นห้องนอนของพ่อแม่ขนาดเพียง 9 ตารางเมตรที่ใช้เฟอร์นิเจอร์แบบมินิมอล อีกด้านของทางเดินแคบๆ เป็นบันได และใต้บันไดก็เป็นห้องเก็บของโดยห้องที่ติดกันคือห้องสุขา บ้านเล็กๆ แบบนี้ต้องใช้พื้นที่ใช้สอยทุกตารางเมตรอย่างคุ้มค่า เช่น ห้องสุขาที่มีขนาดพอดิบพอดีกับขนาดของบันได

tiny-house4

ขึ้นมาชั้นสองเป็นห้องครัว ห้องนั่งเล่นและที่ทานข้าว ซึ่งครอบครัวใช้ในการพักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกัน แต่สิ่งที่ช่วยทำให้บ้านดูโปร่งขึ้นคือการมีเพดานที่สูง ทำให้รู้ว่าบ้านเปิดโล่งกว่าความเป็นจริง โดยเพดานที่สูงแบบนี้เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของบ้านแบบ Tiny House ฝาผนังที่สูง ชะลูดเป็นชั้นวางของขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บสิ่งของ ทั้งหนังสือและเครื่องมือต่างๆ โดยมีบันได้ติดอยู่ข้างๆ ให้สามารถปีนหยิบของในที่สูงได้ง่าย เมื่อเดินขึ้นบันไดวนจะเป็นพื้นที่เปิดโล่งซึ่งเป็นที่นอนและที่นั่งเล่น รวมทั้งทำกิจกรรมต่างๆ ของลูกสาวโดยมีเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวไว้เก็บของต่างๆ จากจุดนี้มีบันไดต่อขึ้นไปบนดาดฟ้าซึ่งเป็นที่ตากผ้า นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นระเบียงเพื่อหย่อนใจ ชมวิวหรือทำบาบีคิวแต่ก็มีข้อจำกัดเพราะชิดติดกันกับบ้านข้างๆ  เจ้าของบ้านกล่าวว่าพวกเขาไม่คิดว่าบ้านหลังนี้ใหญ่หรือเล็กเกินไปแต่มันพอดีกับความต้องการ ทำความสะอาดง่ายและพวกเขาเองมีความสุขดีในบ้านหลังนี้

อีก Tiny House ที่เราจะไปเยี่ยมชมมีขนาดความกว้างเพียง 1.8 เมตร มีขนาด 50 ตารางเมตร เป็นบ้านทรงตัวแอลซึ่งบ้านที่อยู่ในบริเวณที่มีบ้านจำนวนหนาแน่น บ้านรูปทรงแปลกๆ แบบนี้ในโตเกียวถือเป็นเรื่องปกติ จากทางเข้าบ้านแคบๆ จะเจอห้องสุขาและอ่างล้างมือ โดยจุดในสุดของรูปตัวแอลเป็นสวนขนาดเล็กที่มีเพดานสูงโปร่งและเป็นแผงกระจกที่รับแสงธรรมชาติ และพวกเขายังทำบันไดให้แมวที่เลี้ยงไว้ปีนเล่นได้อีกด้วย ด้านขวาของสวนเป็นพื้นที่นั่งเล่นและห้องทานข้าว โดยเจ้าของบ้านใช้ผนังสีขาวร่วมกับกระจกเพิ่มเพื่อทำให้รู้สึกว่าห้องกว้างขึ้น

ข้างๆ สวนจะเป็นบันไดวนขึ้นไปชั้นสอง ที่ต้องเลือกใช้บันไดวนเพราะบันไดประเภทนี้ไม่กินพื้นที่และมีความโปร่ง จึงเป็นที่นิยมใช้ในบ้านที่มีพื้นที่น้อย ชั้นสองเป็นห้องนอนและห้องน้ำ ห้องนอนมีขนาดเล็กเพียง 12 ตารางเมตร แต่ไม่รู้สึกอึดอัดเพราะได้รับแสงสว่างจากกระจกบริเวณสวน ห้องน้ำแยกส่วนเปียกส่วนแห้งด้วยกระจกทำให้ดูมีความลึกและไม่อึดอัด และเพื่อให้การใช้สอยที่ดินที่มีอยู่อย่างเต็มที่บ้านแบบ Tiny House ส่วนใหญ่จะมีห้องใต้ดิน โดยบ้านนี้ใช้ห้องใต้ดินเป็นห้องทำงาน และอีกมุมเป็นห้องนอนของลูก เจ้าของกล่าวว่าบ้านนี่เล็กมากและเลย์เอาท์ก็แปลกแต่มันมีฟังก์ชั่นครบตามความต้องการ พวกเขามีความสุขดีในการใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้

แนวความคิดของสถาปนิกที่ออกแบบบ้าน Tiny House หลังนี้คือ Sugiura Denso เขาออกแบบบ้าน Tiny House มาแล้วกว่า 150 หลัง เขามีแนวคิดในการออกแบบบ้านที่ดูเล็กมากจากภายนอกแต่ข้างในกลับดูกว้างขวางกว่าความเป็นจริงอย่างไร สถาปนิกกล่าวว่าก่อนที่จะออกแบบเขาใช้เทคนิคการออกแบบ Tea Room แบบโบราณในเกียวโตเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่าง บ้านโบราณเหล่านั้นสามารถออกแบบให้พื้นที่ที่จำกัดภายในอยู่ได้อย่างรู้สึกสบาย แม้มองจากข้างนอกบ้านจะดูแคบแต่เข้ามาข้างในแล้วพื้นที่จะมีความลึกและมีสวนเล็กซ่อนอยู่ภายในเพื่อทำให้รับรู้ถึงฤดูกาลที่เปลี่ยนไป เขากล่าวว่าบ้านโบราณแบบนั้นมีความแคบแต่ยาวลึกอาจจะรู้สึกอึดอัดแต่การเพิ่มสวนในบ้านเข้าไปข้างในทำให้รู้สึกโปร่งสบาย ถ้ามองจากภายนอกประตูหน้าต่างจะจะทำเป็นซี่ๆ ดูจากข้างนอกจะดูทึบเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้เจ้าของบ้านเมื่อบ้านนั้นต้องอยู่ริมถนน แต่ในขณะเดียวกันก็มีช่องว่างให้อากาศเข้ามาในบ้านได้ บ้านโบราณที่เกียวโตมีการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าโดยมักมีการซ่อนบันไดไว้หลังประตูบานเลื่อนและมีพื้นที่เก็บของใต้บันได เขากล่าวว่าหลังจากทำการศึกษาบ้านแบบโบราณเขาเกิดไอเดียในการออกแบบบ้านที่มีพื้นที่เล็กออกมา 3 แนวคิดคือ See Through, Overlapping และ Opening up นี่คือ 3 คีย์หลักของเขาในการออกแบบบ้าน Tiny House โดยการปรับใช้แนวคิดทั้งสามนี้บ้านที่มีเนื้อที่น้อยก็จะสามารถอยู่ได้อย่างรู้สึกสบาย

See Through เปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามา ทำบันไดเป็นบันไดวนที่ใช้วัสดุที่ไม่ปิดทึบแต่มีลักษณะเป็นตาข่าย ทำให้เกิดความรู้สึกโปร่งโล่งจากล่างขึ้นไปข้างบนที่แสงสว่างส่องเข้ามา ให้ความรู้สึกของความกว้าง ประตูหน้าบ้านที่เป็นซี่ๆ สร้างความเป็นส่วนตัวแต่ก็ยังสามารถทำให้คนในบ้านมองเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นภายนอกบ้าน แต่คนข้างนอกมองเข้ามาไม่เห็นข้างใน

Overlapping เช่น การทำประตูบานเลื่อนปิดส่วนที่เป็นครัวไว้ เมื่อใช้งานก็เปิดออก ใช้งานเสร็จก็ปิด เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้เป็นพื้นที่นั่งเล่นได้ทันที คือทั้งครัวและพื้นที่นั่งเล่นซ้อนกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน นอกจากนั้นในครัวยังมีไฟให้แสงสว่างถ้าเปิดไฟในครัวทิ้งไว้แล้วปิดประตูบานเลื่อนที่โปร่งแสง แสงจะลอดออกมาทำให้บ้านดูกว้างขึ้น ดังนั้นการใช้แสงไฟมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้บ้านดูกว้างขวางขึ้นจากความเป็นจริง

Opening up จะเห็นว่าแต่ละบ้านจะมีพื้นที่ในแนวตั้ง เพดานสูงเพิ่มความโปร่งสบาย ถึงแม้พื้นที่บางจุดในบ้านจะมีเพดานต่ำ แต่การมีจุดที่มีเพดานสูงถึงหลังคาช่วยหลอกตาให้รู้สึกถึงความโล่งสบาย หรือการมี Sky light ในห้องน้ำที่มีขนาดเล็กทำให้รู้สึกว่าห้องน้ำกว้างขึ้น และการทำหลังคาห้องน้ำให้มีความสโลปสูงขึ้นแทนที่จะเป็นเพดานตรงๆ เรียบๆ สร้างความรู้สึกเปิดกว้างและโปร่งกว่า

Sugiura Denso สถาปนิกกล่าวว่าบ้านในพื้นที่เล็กๆ ที่เขาออกแบบทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างสูงสุด อยู่สบาย มีฟังก์ชั่นครบครัน นอกจากนั้นยังประหยัดกว่าในการดูแลซ่อมแซม และง่ายในการทำความสะอาด สำหรับใครที่มีที่ดินที่มีขนาดเล็กและอยากสร้างบ้านของตัวเองอาจนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ SCB มีสินเชื่อสำหรับสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองด้วยข้อเสนอสุดพิเศษ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่