บริหาร “กงสี” อย่างไร ให้ธุรกิจรุ่ง ครอบครัวรักใคร่กลมเกลียว

ธรรมนูญครอบครัว คือ กฎกติกามารยาทของครอบครัว และข้อตกลงที่แสดงบทบาทของสมาชิกครอบครัวที่มีต่อธุรกิจและสังคม รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจครอบครัว ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นค่านิยมหลัก วิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นที่ครอบครัวมีต่อธุรกิจ โดยจัดทำข้อตกลงเหล่านี้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อสร้างความชัดเจนในการทำให้มีผลบังคับใช้ภายในครอบครัว


การมีธรรมนูญครอบครัว และระบบบริหารธุรกิจครอบครัวที่ชัดเจน จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับสมาชิกในครอบครัวได้ และทำให้สมาชิกครอบครัวได้ทราบถึงหน้าที่และสิทธิของตนเอง เป็นการแยกบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนที่บ้าน และที่ทำงานออกจากกัน ไม่ปะปนกันอย่างมีเหตุมีผล


การบริหารธุรกิจครอบครัวมีความแตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่นที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ทำให้อาจจะมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ ดังนั้นเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น ควรจะมีการวางระบบการทำธรรมนูญครอบครัวไว้ ซึ่งแต่ละครอบครัวก็อาจจะมีธรรมนูญครอบครัวที่แตกต่างกันไป เพื่อให้ครอบครัวได้เลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุดมาสืบทอดกิจการต่อ โดยที่สมาชิกในธุรกิจครอบครัวไม่มีความขัดแย้ง ถึงแม้ธรรมนูญครอบครัวในแต่ละธุรกิจครอบครัวจะมีความแตกต่างกันไป แต่ในภาพรวมธรรมนูญครอบครัวจะมีคณะกรรมการกำกับดูแล และให้แบ่งแยกธุรกิจและครอบครัวออกจากกัน โดยให้สภาครอบครัวดูแลเรื่องของครอบครัว และบอร์ดบริษัทดูแลเรื่องธุรกิจ

โดยองค์รวมคณะกรรมการจะต้องประกอบด้วยสมาชิก 2 ส่วน คือสภาครอบครัว และบอร์ดบริหาร โดยสมาชิกในสภาครอบครัวจะมาจากผู้อาวุโสในครอบครัว ซึ่งจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่สมาชิกในครอบครัวให้ความเกรงใจและยอมรับ สำหรับสมาชิกในบอร์ดบริหารอาจหมายรวมถึงคนนอกเข้ามาร่วมได้ เช่น CEO หรือผู้บริหารที่สมาชิกในครอบครัวยอมรับ ซึ่งจำนวนสมาชิกและการโหวต การออกเสียง ก็มีความแตกต่างกันในแต่ละธุรกิจครอบครัว บางธุรกิจครอบครัวตัดสินกันที่คะแนนเสียงตัวบุคคล บางธุรกิจครอบครัวก็ตัดสินกันด้วยอัตราหุ้นที่ถือครองอยู่ แต่ทุกธุรกิจครอบครัวจะมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของหลักการสำคัญ ดังนี้

  1. มีการคัดสรร และกำหนดจำนวนสมาชิก วาระ คุณสมบัติ โครงสร้าง และหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งส่วนบริหารธุรกิจ และสภาครอบครัว ซึ่งดูแลสมาชิกในครอบครัว เพื่อการสื่อสาร การตัดสินใจและระงับความขัดแย้ง
  2. การสืบทอดธุรกิจครอบครัว การฟูมฟักทายาทที่จะมาสืบต่อธุรกิจ และข้อตกลงธุรกิจสำหรับเขย – สะใภ้ รวมถึงการเลื่อนตำแหน่ง ลดตำแหน่ง และปลดตำแหน่ง เช่น เมื่อมีสมาชิกในตำแหน่งผู้บริหารที่ไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ไม่ว่าจะเป็นในกรณีใด จำเป็นที่จะต้องมีคนที่จะสามารถทำงานแทนกันได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความรู้ ทัศนคติในการบริหารงานที่ต้องไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะมีประสิทธิภาพ และความพร้อมที่ไม่น้อยไปกว่าผู้บริหารคนเดิม
  3. การให้ค่าตอบแทนสมาชิกในครอบครัว เช่น คนทำงานได้โบนัส คนไม่ทำงานได้เงินปันผล ให้เงินเดือนสมาชิกตามราคาตลาด ถ้าผลงานดีให้เป็นโบนัส และค่าตอบแทนสมาชิกที่จะเกษียณ
  4. การจัดการกงสีครอบครัว ให้สวัสดิการที่จำเป็น เช่น การศึกษา ค่ารักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย การจัดตั้งคณะกรรมการ (สภาครอบครัว) ขึ้นมาดูแลเงินกงสี เช่น ถ้ามีลูกหลาน จะส่งเรียนหนังสือ จะใช้เงินกงสีหรือใช้ของใครของมัน ซึ่งจะต้องมีการตกลงกันไว้โดยสภาครอบครัว
  5. การจัดการหุ้นของธุรกิจครอบครัว ปัญหาส่วนมากในการทำธุรกิจครอบครัวก็คือ การบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี โดยวิธีการแก้ไขปัญหาต้องเป็นการบริหารทรัพย์สินส่วนกลางให้มีความโปร่งใสจึงจะลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครอบครัวได้
  6. การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในตระกูล เช่น คนเจนเนอเรชั่นแรกถึงจะมีปัญหากันบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงกับแตกหัก เพราะเมื่อคนรุ่นพ่อทำงาน ยังมีรุ่นลูกคอยติดตามเรียนรู้การทำงานอย่างใกล้ชิด ทำให้ทั้งสองเจนเนอเรชั่นนี้ ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกันซึ่งกันและกัน (และลูกก็ยังมีความเกรงใจพ่อแม่) แต่ในปัจจุบัน รุ่นพ่อทำงาน รุ่นลูกไปเรียนเมืองนอก พ่อทำอะไร ลูกทำอะไร ไม่มีใครทราบแล้ว ดังนั้นการพบปะ สร้างสัมพันธ์กันจะช่วยลดความขัดแย้งได้ดีขึ้น


กล่าวโดยสรุป การกำกับดูแลกิจการธุรกิจครอบครัวที่ดี ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารความแตกต่างระหว่างความต้องการของผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้ถือหุ้นรายย่อย และความแตกต่างระหว่างระบบครอบครัว ที่ต้องบริหารความต้องการที่แตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัว และระบบธุรกิจ ที่ต้องการความเป็นมืออาชีพ ความโปร่งใส และการรับผิดชอบในการทำธุรกิจ เพื่อความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาว และการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างความสมานฉันท์ของครอบครัวให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นครอบครัวที่เติบโตอย่างมีความสุข


บทความโดย :

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร