ถอดรหัสความสำเร็จ Café Amazon กาแฟแบรนด์ไทยในกัมพูชา

ปัจจุบันนักลงทุนไทยไปลงทุนในกัมพูชาหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งธุรกิจเครื่องดื่มชา/กาแฟ แบรนด์ Café Amazon ประสบความสำเร็จได้ความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง คุณทรงพล เทพนำโสมนัสส์ Managing Director PTT (Cambodia)  Limited (PTTCL) ร่วมพูดคุยกับ คุณภัครวี อนันตธนนิษฐ์ Director and General Manager, Cambodia Commercial Bank (CCB) กรุงพนมเปญ ถอดรหัสความสำเร็จของ Café Amazon ในกัมพูชา


บุกเบิกตลาดร้านกาแฟในกัมพูชา


กลุ่มธุรกิจ OR เป็นบริษัทลูกของกลุ่ม PTT และ PTTCL เองก็เป็นบริษัทลูกภายใต้กลุ่ม OR ที่ทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมันซึ่งไม่ได้บริการเพียงน้ำมันอย่างเดียว แต่เป็น One Stop Service ให้กับนักเดินทางที่เข้ามาเติมน้ำมันคุณภาพ ใช้ห้องน้ำสะอาด พักผ่อนหย่อนใจเติมพลังในร้านกาแฟ


สำหรับประเทศกัมพูชา คุณทรงพลมองว่าในช่วงก่อนโควิด มีศักยภาพค่อนข้างมาก ตัวเลข GDP เติบโตเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน เมื่อประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย สินค้าบริการไลฟ์สไตล์เริ่มได้รับความนิยม จึงเป็นโอกาสที่แบรนด์ Café Amazon เข้ามาตลาดกัมพูชา โดยชูจุดเด่นที่สไตล์สวยงาม ความร่มรื่น เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของทุกเพศทุกวัย


รูปแบบธุรกิจของ Café Amazon ในประเทศไทย มีทั้งในที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมันและในศูนย์การค้า สำหรับในกัมพูชาก็ใช้คอนเซปต์เดียวกัน Café Amazon เปิดครั้งแรกเมื่อปี 2013 เริ่มจากร้านในสถานีบริการน้ำมัน ต่อมาในปี 2015 ได้เปิดร้าน Stand Alone ในย่านบึงเกงกอง ที่เป็นย่านธุรกิจหลักเปรียบเหมือนแถบสุขุมวิท ทองหล่อ ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวกัมพูชาที่มาใช้บริการ ในช่วงเปิดร้านใหม่ๆ  ขายดีถึง 1,000 แก้วต่อวัน จนกล่าวได้ว่า Café Amazon ที่ขายดีที่สุดในโลกอยู่ที่กัมพูชา ถัดมาในปี 2016 เริ่มขายแฟรนไชส์ให้นักลงทุนกัมพูชา ซึ่งการขยายแฟรนไชส์จะเน้นในเรื่องโลเคชั่นเป็นหลัก เป็นย่านที่มีผู้คนสัญจรไปมา เช่นออฟฟิศ โรงเรียน มหาวิทยาลัย มีกลุ่มลูกค้ารองรับอย่างชัดเจน ทาง PTTCL ที่ถือมาสเตอร์แฟรนไชส์จะช่วยดูความเหมาะสมของโลเคชั่นว่าจะสามารถทำกำไรกลับคืนมาให้นักลงทุนได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการตกแต่งเหมาะกับขนาดของร้านค้าให้มีรูปลักษณ์สวยงามตามคอนเซปต์ของ Café Amazon

cafe-amazon-in-cambodia-03

สไตล์การเข้าคาเฟ่ของคนกัมพูชาเป็นอย่างไร


จากประสบการณ์ใช้ชีวิตในกัมพูชามาหลายปี คุณภัครวีกล่าวถึงไลฟ์สไตล์ของคนกัมพูชาว่ามีทั้งความคล้ายและความต่างกับคนไทย เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศกำลังพัฒนา เกิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รายได้ปานกลาง ทำให้ธุรกิจไลฟ์สไตล์อย่างร้านกาแฟ เป็นที่นิยมอย่างมาก ในวันหยุดก็จะเห็นกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานไปใช้เวลาในร้านกาแฟ คุยธุรกิจ สังสรรค์กัน แต่ที่ต่างกับไทยคือกัมพูชายังไม่มี Influencer ที่ไปตามร้านกาแฟโพสต์ลง Social Media ปัจจุบันร้านกาแฟที่ติดตลาดได้แก่ Café Amazon มาเป็นอันดับหนึ่ง, Starbucks ได้ภาพลักษณ์ร้านกาแฟแบรนด์เมืองนอก , Café Brown ร้านกาแฟแบรนด์กัมพูชา มีจุดขายที่แต่ละสาขาดีไซน์สวยงามแตกต่างกันไป รสชาติถูกปากคนท้องถิ่นที่นิยมเครื่องดื่มใส่นมหวานๆ


อะไรเป็นความโดดเด่นของ Café Amazon


คุณทรงพลกล่าวว่า การที่ Café Amazon ครองอันดับ 1 ในกัมพูชามาจากการวางตำแหน่งทางการตลาดเป็น “Affordable Premium” ที่ระดับราคาสินค้าไม่ได้แพงเกินไป สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกเพศทุกวัย ประกอบกับการตกแต่งร้านมีเอกลักษณ์ด้วยแนวคิดดีไซน์แบบ Glass House ภายในมีความเขียวขจี ใช้โทนสีโมโนโทน บรรยากาศสบายๆ โดยเฉพาะสาขาที่อยู่บริเวณมหาลัย หรือโรงเรียน ได้รับความนิยมมาก นักศึกษานิยมมานั่งในร้านเพื่อจับกลุ่มสังสรรค์ ติวหนังสือ ฯลฯ โดยกล่าวได้ว่า Café Amazon เป็นร้านกาแฟเจ้าแรกที่เข้ามาในตลาดและมีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์คนกัมพูชารุ่นใหม่ที่มีกำลังจับจ่าย อีกปัจจัยหนึ่งคือการที่มีสาขาร้านอยู่ในสถานีบริการน้ำมันตามทางเดินรถสายหลัก ทำใหมีจุดแข็งด้านโลเคชั่นเหนือกว่าคู่แข่งอื่นที่กระจุกตัวอยู่ในเขตหัวเมืองใหญ่


ในส่วนเมนูเครื่องดื่มในร้าน ก็เอามาจากเมืองไทยหมด รวมถึง Seasonal Drink ด้วย โดยไอซ์ลาเต้ เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นเครื่องดื่มเย็น ใส่นม มีความหวานนิดหน่อยตรงกับรสนิยมคนท้องถิ่น

ผลกระทบจากโควิด-19 กับธุรกิจเครื่องดื่ม


คุณทรงพลมองสถานการณ์โควิด-19 ว่าส่งผลกระทบมากกับทั้งธุรกิจ ซึ่งในกัมพูชาตอนนี้เป็นการระบาดระลอก 3 ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์ มาหนักตอนต้นเดือนเมษายน รัฐบาลกัมพูชาสั่งล็อกดาวน์กรุงพนมเปญ ทุกกิจกรรมต้องหยุดชะงัก บางสาขาต้องปิดตัวชั่วคราว แม้ภายหลังได้ผ่อนคลายเปลี่ยนเป็นการทำโซนนิ่ง แต่ก็ยังห้ามทานที่ร้าน ทำให้ยอดขายตกลงอย่างเห็นได้ชัด จึงต้องปรับตัวในวิกฤตด้วยการไปจับมือกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ 3 รายใหญ่และทำโปรโมชั่นควบคู่กันไปด้วย


คุณภัครวีให้รายละเอียดการเติบโตของแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ว่าเป็นที่นิยมอย่างมาก มีทั้งผู้เล่นแบรนด์ท้องถิ่นเจ้าตลาดอย่าง Yum24 ที่เป็น Cambodia’s First Super App ไม่ได้มีแค่สั่งอาหาร แต่มีบริการส่งสินค้า ของใช้ในชีวิตประจำวันด้วย นอกจากนี้ก็มี Food Panda มีจุดขายอยู่ที่ค่าส่งต่ำกว่า อีกแพลตฟอร์มคือ e-GET ที่พัฒนาโดย Developer ชาวจีน เป็นที่นิยมของชาวจีนที่อยู่ในกัมพูชาเพราะมีฐานร้านอาหารจีนเยอะ และยังมีผู้เล่นหน้าใหม่อีกหลายรายที่รุกทำตลาดด้วยโปรโมชั่น อย่างไรก็ดี จุดเด่นของ 3 เจ้าใหญ่คือ ฐานร้านค้ามาก มีระบบติดตามเรียลไทม์ เลือกจ่ายเงินได้ทั้งแบบเงินสด หรือแบบ Cashless เช่น สแกน QR, โอนเงิน, จ่ายผ่านบัตรเครดิต เป็นต้น


ในส่วนการใช้จ่ายรูปแบบ Cashless เริ่มเป็นที่นิยม และตั้งแต่เกิดโควิด คนก็หันมานิยมใช้มากขึ้นกว่าเดิม หลายธนาคารก็พัฒนาแอป Mobile Banking ให้จ่ายเงินผ่าน QR Code ได้ แต่กลุ่มผู้ใช้หลักๆ ก็ยังอยู่ในเมืองใหญ่ ในต่างจังหวัดและในตลาดก็ยังใช้เงินสดเป็นหลัก

การขยายธุรกิจ Café Amazon ในกัมพูชา


คุณทรงพลกล่าวว่าแม้ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ก็มีเป้าหมายว่าภายในปี 2021 จะขยาย Café Amazon เป็น 200 สาขา จาก 160 สาขาในปัจจุบัน โดยโมเดลธุรกิจจะเน้นเจาะไปที่กลุ่มอาคารสำนักงาน สถานที่ราชการ โรงพยาบาล ที่มีคนรองรับชัดเจน  นอกจากในตลาดกัมพูชาแล้ว ปัจจุบัน Café Amazon มีสาขาในประเทศญี่ปุ่น โอมาน สิงคโปร์ เวียดนาม แนวโน้มก็จะเปิดขยายในอีกหลายประเทศอย่าง มาเลเซีย เป็นต้น


สำหรับนักธุรกิจที่อยากไปร่วมเปิดแฟรนไชส์ Café Amazon ในต่างประเทศ นักธุรกิจไทยก็ไปเปิดได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักธุรกิจท้องถิ่น แต่หลักๆ ก็อยากให้คนกัมพูชามีโอกาสลงทุนในธุรกิจนี้ โดยเงื่อนไขสำคัญคือต้องมีความพร้อม บุคลากร เงินทุน และความใส่ใจที่พร้อมตอบสนองลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจที่จะดึงลูกค้าให้อยู่กับเรานานๆ และด้วยปัจจุบันที่สถานการณ์โควิด ทำให้โมเดลธุรกิจร้านอาหารเปลี่ยนโฉมไปหมด การลงทุนจึงต้องพิจารณาเม็ดเงินของตัวเองว่าพร้อมหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องทำเลที่ตั้งก็สำคัญ จากแต่ก่อนที่ Café Amazon ขายดีมาก ถึงค่าเช่าที่จะแพง ก็สามารถคุ้มทุนในเวลาไม่นาน แต่ปัจจุบันด้วยการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น มีร้านกาแฟมากขึ้น ทั้งสาขาของ Café Amazon และแบรนด์กาแฟอื่น รวมทั้งเครื่องดื่มทางเลือกอย่างชาไข่มุก และสถานการณ์โควิด ที่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่  จำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบเหล่านี้อย่างรอบคอบ


ในมุมมองของคุณทรงพล จุดแข็งที่ทำให้ธุรกิจได้รับความนิยมในระยะยาว คือ 1) Café Amazon มีจุดเด่นที่การตกแต่งค่อนข้างหรูหรา แต่ราคาสินค้าไม่แพงเกินไป 2) ความใส่ใจเรื่องบริการ ชงกาแฟให้ได้มาตรฐาน ดูแลเอาใจใส่ลูกค้า เป็นคีย์หลักให้ธุรกิจยั่งยืนได้ ในส่วนระบบดิจิทัลสนับสนุนการซื้อของบนแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ เป็นทางเลือกเข้ามาเสริมเพื่อต่อยอดธุรกิจ โดยรวมแล้วคุณทรงพลมั่นใจว่า Café Amazon จะผ่านพ้นวิกฤตไปได้


CCB บริการนักธุรกิจไทยในกัมพูชา


ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ (Cambodia Commercial Bank - CCB)
เป็นธนาคารในเครือของ SCB เปิดให้บริการมากว่า 27 ปี ปัจจุบันมี 4 สาขาในเมืองสำคัญ ได้แก่ สำนักงานใหญ่ในกรุงพนมเปญ สาขาพระตะบอง (ติดชายแดนจังหวัดสระแก้วของไทย) สาขาเสียมเรียบ (เมืองท่องเที่ยวที่ตั้งของนครวัด นครธม) และสาขาสีหนุวิลล์  ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับ 2  และเมืองท่าหลักของประเทศ  นอกจากนี้ CCB ยังเป็นหนึ่งในธนาคารได้รับเลือกจากธนาคารชาติแห่งกัมพูชาให้เข้าร่วมโครงการ QR Cross Border ให้คนกัมพูชาที่มาไทยสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายเงินที่ไทย โดยตัดเงินจากบัญชีที่กัมพูชา


CCB ให้บริการการเงินครบวงจร ทำทุกอย่างเหมือนธนาคารท้องถิ่น เช่น เงินฝาก ตู้เอทีเอ็ม เงินโอน สินเชื่อทั้งสินเชื่อหมุนเวียนและระยะยาว Trade Finance เปิด L/C T/R , Foreign Exchange , Business Net, Internet Banking ทำธุรกรรมได้ทุกที่ มีบริการให้คำปรึกษาเรื่องการลงทุน กฎระเบียบในการทำธุรกิจที่กัมพูชา ด้วยบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม SCB มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ – ที่นี่ -


ที่มา : สัมมนาออนไลน์ Cambodia Insight and Update 2021 “โอกาสและความสำเร็จกาแฟแบรนด์ไทยในกัมพูชา ทาง Facebook SCB Thailand วันที่ 16 กรกฎาคม 2564