หนึ่งในรูปแบบกลโกงที่คนไทยและทั่วโลกสูญเสียเงินไปจำนวนมหาศาลก็คือการหลอกลงทุน และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็มีทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มการศึกษา โดยการหลอกลวงลักษณะนี้จะใช้หลักจิตวิทยาของมนุษย์ที่อยากมองหาช่องทางหาเงินที่ได้กำไรเยอะๆ แต่ไม่อยากขาดทุน มากระตุ้นให้เกิดการอยากลงทุน โดยรูปแบบการหลอกลวงพบได้หลายช่องทางช่องทาง ไม่ว่าจะ เพจปลอม, SMS ปลอม, เว็บไซต์ปลอม, โซเชียลมีเดียปลอม หรือเบอร์แปลก ๆ
กลโกงลักษณะนี้มีทั้งการหลอกให้ลงทุนในหุ้น กองทุนรวม สกุลเงิน สินทรัพย์ดิจิทัล ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสินทรัพย์ทางเลือกต่าง ๆ คนที่กำลังมองหาแหล่งเงินได้ในยุคที่เศรษฐกิจชะลอตัว ข้าวของแพงขึ้น มีสิ่งล่อตาล่อใจให้อยากมีอยากได้มากขึ้น แต่กำลังซื้อลดลง เมื่อมีช่องทางในการสร้างรายได้แบบไม่ต้องลงแรงมาก ไม่ต้องมีความรู้ ได้เงินเร็ว หลายคนจึงสนใจ และกลายเป็นเหยื่อของการหลอกลงทุนในที่สุด
จุดสังเกตรูปแบบการหลอกลงทุนของมิจฉาชีพ
- มักแอบอ้างนำรูปบุคคล หรือองค์กรที่มีชื่อเสียง มาสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ลงทุน รวมถึงมีการตั้งชื่อบัญชี หรือ ชื่อกลุ่มให้เหมือนเป็นทีมงาน หรือเป็นบัญชีขององค์กรนั้น ๆ โดยอาจมีการไปซื้อจำนวนผู้ติดตาม หรือซื้อบัญชีต่อจากคนอื่น แล้วนำมาเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นบัญชีที่ก่อตั้งมาแล้วหลายปี
- เสนอผลตอบแทนที่อาจเป็นเงินปันผล กำไร หรือส่วนแบ่ง ที่ล่อตาล่อใจ กระตุ้นให้เหยื่อสนใจ และติดต่อเข้ามา โดยการหลอกลวงลักษณะนี้มักจะบอกว่ามีการสอนเทคนิค และวิธีการต่าง ๆ ให้ ไม่มีความรู้ก็สามารถลงทุนได้ และอาจเร่งรัดให้รีบตัดสินใจภายในระยะเวลาที่กำหนด
- พาเข้ากลุ่มแชตเพื่อหลอกคุยส่วนตัว หรืออาจพาไปเข้ากลุ่มเล็ก ๆ ที่มีทั้งเหยื่อคนอื่นๆ และทีมงานของมิจฉาชีพปะปนเป็นหน้าม้าอยู่ในกลุ่มนั้น ๆ
- อาจหลอกให้เหยื่อตายใจ แล้วบอกต่อคนอื่น ๆ เข้ามาร่วมกลุ่มเพิ่มเติม ด้วยการโอนเงินให้จริงในครั้งแรก ๆ แต่อย่าลืมว่ามิจฉาชีพได้รู้ชื่อ นามสกุล และข้อมูลบัญชีของเหยื่อไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งข้อมูลนี้สามารถนำไปใช้ในการหลอกลวงรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มเติมได้
- ให้เพิ่มเงินลงทุนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่หากเหยื่อต้องการถอนเงินออกมา ก็จะถูกอ้างต่าง ๆ นานา เช่น ทำผิดกฎการลงทุน ต้องจ่ายเงินมาปลดล็อกก่อน หรือต้องโอนเงินไปเพิ่มเพื่อจองสิทธิ์การถอนเงิน เป็นต้น
- บัญชีที่ให้เหยื่อโอนเงินไปลงทุน มักจะเป็นบัญชีม้าในนามบุคคล หรืออาจเป็นบัญชีของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่ไม่ตรงกับที่มิจฉาชีพนำมาแอบอ้าง รวมถึงอาจมีการตั้งชื่อให้ดูคล้ายกับองค์กรที่ถูกแอบอ้าง เพื่อให้เหยื่อเข้าใจผิด
ช่องทางตรวจสอบความน่าเชื่อถือในเบื้องต้นของผู้ชักชวนลงทุน
- เข้าไปที่เว็บไซต์ market.sec.or.th/LicenseCheck เพื่อค้นหารายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. รวมถึงค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุน (หลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล) นอกจากนี้ยังสามารถดูได้ด้วยว่าเพจไหน ผลิตภัณฑ์ไหนบ้าง ที่เป็น Investor Alert ให้เราต้องระวัง
- ใช้แอปพลิเคชัน SEC Check First ช่วยในการกรองข้อมูลผู้ที่ได้รับ หรือไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยใส่ชื่อหลักทรัพย์ ผลิตภัณฑ์การลงทุน หรือผู้ให้บริการ ลงในช่องค้นหา จากนั้นกดปุ่มค้นหา ก็จะมีข้อมูลขึ้นมาทันที ช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าน่าเชื่อถือเพียงพอหรือไม่ ที่สำคัญการดาวน์โหลดแอปพลิชันจะต้องดาวน์โหลดจาก App Store หรือ Google Play เท่านั้น และชื่อผู้พัฒนาแอปจะต้องเป็น THE SECURITIES AND EXCHANGE COMMISSION
- โทรเช็กเรื่องหลอกลงทุนในตลาดทุนกับสายด่วน ก.ล.ต. (SEC Help Center) โทร 1207 กด 22
สำหรับลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ที่ถูกหลอกลวงทางการเงิน สามารถแจ้งเหตุภัยทางการเงินได้ที่ โทร 02-777-7575 ตลอด 24 ชั่วโมง