รู้จัก SMS ปลอม ไม่ผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ

การส่งข้อความผ่านทาง SMS เป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารที่องค์กรต่างๆ นิยมใช้ติดต่อกับลูกค้า ทำให้ SMS ถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือของมิจฉาชีพ เช่นเดียวกับ อีเมล และ โซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมิจฉาชีพมักหลอกขอข้อมูลที่นำไปสู่การทำธุรกรรมการเงิน หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันอันตรายเพื่อแอบดูดเงินในบัญชี หรืออาจหลอกให้เพิ่มเพื่อน เพื่อพูดคุยหลอกล่อด้วยกลวิธีต่างๆ และสามารถทำได้แนบเนียนขึ้นเรื่อย เราในฐานะคนยุคดิจิทัล จึงต้องรู้เท่าทันภัยออนไลน์รูปแบบต่างๆ

397413574

SMS สามารถปลอมเบอร์โทรศัพท์ และชื่อผู้ส่งได้ ทำให้ของปลอมเข้าไปอยู่ในกล่องข้อความเดียวกับของจริงได้แบบเนียนๆ จุดนี้เองทำให้ธนาคารต่างๆ ประกาศยกเลิกการส่ง SMS แนบลิงก์ เพื่อเป็นจุดสังเกตให้ลูกค้า ในการแยกของปลอม ออกจากของจริง แต่ก็ยังมีหลายหน่วยงานที่ยังมีการส่ง SMS แนบลิงก์มาให้ ทำให้การแยกของจริงและของปลอม ยังคงต้องใช้สติ และการตรวจสอบให้แน่ใจก่อนทำรายการต่างๆ


สำหรับ SMS ปลอมที่มาแบบเนียน ๆ มักจะทำผ่านอุปกรณ์ False Base Station หรือ FBS ซึ่งมิจฉาชีพจะนำไปวางไว้ตามแหล่งชุมชน หรือจุดให้บริการสาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า หน่วยงานราชการ ธนาคาร หรือองค์กรที่น่าเชื่อถือต่างๆ โดยจะจำลองตัวเองเป็นหนึ่งเครือข่าย หากเป้าหมายอยู่ในรัศมีของสัญญาณจากอุปกรณ์นี้ โทรศัพท์มือถือก็จะหลุดจากเครือข่ายจริงชั่วขณะ แล้วไปเกาะกับสัญญาณเครือข่ายปลอม จากนั้นมิจฉาชีพก็จะส่งข้อความเข้ามาที่มือถือของเป้าหมาย โดยปลอมแปลงชื่อ และเบอร์โทร เพื่อให้ SMS ถูกส่งรวมไปอยู่ในกล่องข้อความเดียวกับองค์กรที่ถูกแอบอ้าง ทำให้ผู้ที่ได้รับ SMS เข้าใจผิด คิดว่าเป็นข้อความที่เชื่อถือได้ ประกอบกับตนเองก็เพิ่งไปอยู่ในพื้นที่นั้นจริง ก็ยิ่งหลงเชื่อ ขาดความระมัดระวัง และอาจสูญเงินในบัญชีไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์


เนื่องจากอุปกรณ์ FBS มีการลอบซื้อขายกันบนออนไลน์ อีกทั้งยังสามารถพกพา เคลื่อนย้ายได้ ทำให้การจับกุมเป็นไปได้ยาก หน้าที่ของพวกเราในฐานะพลเมืองดิจิทัล จึงต้องมีสติ รู้จักตั้งข้อสงสัย และคิดถึงความเป็นไปได้มาประกอบกัน เพื่อเป็นเกราะป้องกันตนเองจากกลอุบายต่างๆ ของมิจฉาชีพ

หากได้รับ SMS หรือข้อความที่ส่งมาในช่องทางใดก็ตาม สิ่งที่ควรทำมีดังนี้


1. ใช้สติ คิดถึงความเป็นไปได้ โดยเฉพาะข้อความที่ทำให้เกิดความสนใจ หรือ ความวิตกกังวล


2. ระมัดระวังข้อความที่ส่งมาให้ คลิกลิงก์ ดาวน์โหลด กรอกข้อมูล หรือ ชวนให้เพิ่มเพื่อน


3. หากไม่แน่ใจ ให้สอบถามไปยังเบอร์ Contact Center ขององค์กรนั้นๆ โดยตรง


4. เมื่อพบการหลอกลวง หรือความผิดปกติ ให้แจ้งไปยังหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างทันที


เน้นย้ำอีกที ปัจจุบันธนาคารต่างๆ ไม่มีนโยบายส่ง SMS แนบลิงก์แล้ว ยกเว้นลูกค้ามีการร้องขอเข้ามาด้วยตนเองเท่านั้น ส่วนกรณีอื่น ๆ หากพบข้อความแนบลิงก์แอบอ้างชื่อ หรือ เบอร์โทรของธนาคารไทยพาณิชย์ ให้แจ้งข้อมูลได้ที่ โทร 02-777-7575 ตลอด 24 ชั่วโมง