สำรวจอาการคนหนี้ท่วมหัว

ยังคงจำกันได้ เมื่ออดีตนักเทนนิสมือ 1 ของโลกคนหนึ่ง ถูกศาลตัดสินใจให้นำถ้วยรางวัลของเขาออกประมูลขายในกรุงลอนดอน เพื่อนำเงินมาใช้หนี้กว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ที่เขาก่อขึ้น


นับตั้งแต่เขาเลิกเล่นเทนนิส รายได้ที่สั่งสมมาประมาณ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ถูกใช้จ่ายอย่างเต็มที่ นอกจากนี้เขายังไปกู้หนี้ยืมสินและไม่สามารถจ่ายคืนได้ สุดท้ายศาลตัดสินให้เขาเป็นบุคคลล้มละลาย ด้วยเหตุผล “ล้มเหลวในการจ่ายหนี้”


ปี 2552 นิตยสาร Sports Illustrated เปิดเผยตัวเลขเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินของนักกีฬาอาชีพ พบว่านักบาสเกตบอลราว 60% ถังแตกภายใน 5 ปีหลังเลิกเล่น ขณะที่นักอเมริกันฟุตบอลมีอัตราการล้มละลายเกือบ 80% ภายในช่วง 2 ปีแรกของการเลิกเล่น


มาดูฝั่งอังกฤษกันบ้าง องค์กรการกุศลชื่อ Xpro เปิดเผยข้อมูลในปี 2556 พบว่ามีนักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกราว 3 ใน 5 คน กลายเป็นคนล้มละลายภายในเวลา 5 ปี หลังจากเลิกเล่น ซึ่งมีข้อสงสัยว่า


นักกีฬาอาชีพระดับชั้นนำที่ทำเงินได้มหาศาลในกีฬาประเภทต่างๆ เช่น นักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกทำเงินได้ 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 102 ล้านบาทต่อปี ทำไมพอเลิกเล่นถึงมีอัตราการล้มละลายในระดับสูง

คำตอบที่ได้คือ ใช้จ่ายเกินตัว ไม่รู้จักเก็บออม พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่มีวินัยทางการเงินที่เพียงพอ


ไม่ว่าจะมีรายได้มากน้อยแค่ไหน หากไม่มีวินัยทางการเงินย่อมมีโอกาสสูงที่จะทำให้เงินหมดตัว และเมื่อถึงวันนั้นก็ต้องหาทางออกด้วยการไปกู้หนี้ยืมสิน เมื่อหาเงินมาใช้หนี้ไม่ทัน หนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นดินพอกหางหมู สุดท้ายกลายเป็นคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว


ดังนั้น ก่อนคิดกู้หนี้ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าเมื่อเป็นหนี้แล้วจะมีเงินจ่ายหรือไม่ ซึ่งตามหลักแล้วแต่ละคนควรมีภาระหนี้ต่อเดือนรวมแล้วไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้


ยกตัวอย่าง มีเงินเดือน 20,000 บาท ภาระหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 6,666 บาท (20,000 หาร 3 เท่ากับ 6,666 บาท) หมายความว่า หลังแบ่งเงินไปจ่ายหนี้ก็ยังมีเงินเหลือใช้จ่าย รวมถึงยังมีเงินเก็บออม ตรงกันข้ามหากคำนวณแล้วมีภาระหนี้เกิน 6,666 บาท อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าภาระหนี้สินต่อเดือนเริ่มสูงเกินไป


สำหรับผู้ที่สามารถจ่ายหนี้ได้คงไม่มีปัญหา แต่สำหรับผู้ที่มีหนี้สินท่วมหัวมักไม่ค่อยมีความสุขและมักจะแสดงอาการส่วนตัวออกมา ดังนี้


1. กระสับกระส่าย

การมีภาระหนี้สินท่วมหัวเพราะตัวเองก่อขึ้นล้วนๆ และยิ่งถึงเวลาจ่ายหนี้แล้วหาเงินไม่ทันก็มักจะมีอาการอยู่ไม่เป็นสุข ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย ทานอะไรก็ไม่อร่อย นอนไม่หลับ ในหัวคิดแต่ว่าจะหาเงินจากที่ไหนไปให้เจ้าหนี้


2.ไม่อยากคุยเรื่องเงิน

เวลาเพื่อนๆ คุยกันถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ จะไม่อยากมีส่วนร่วมกับบทสนทนา เพราะเหมือนเป็นการไปสะกิดให้จิตใจห่อเหี่ยวมากกว่าเดิม หรือหากมีหนี้สินมากๆ อาจถึงขั้นผวาเมื่อได้ยินคนรอบข้างพูดถึงเรื่องเงิน สังเกตว่าผู้ที่มีภาระหนี้สินท่วมหัวจะชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว


3.เริ่มจ่ายหนี้ช้า

ในอดีตสามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด แต่อยู่ๆ เริ่มจ่ายหนี้ช้าหรือจ่ายได้ไม่ครบตามจำนวน หรือถอนเงินเก็บมาจ่ายหนี้ หากเป็นแบบนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังมีหนี้สินสูงเกินไป

4.ยอดหนี้ไม่ลด

โดยปกติแล้ว เมื่อจ่ายหนี้ ยอดหนี้จะค่อยๆ ลดลง แต่เมื่อสำรวจดูจะพบว่ายอดหนี้กลับเพิ่มสูงขึ้น แสดงว่ามีการก่อหนี้ก้อนใหม่เข้ามา ทำให้เงินต้นและภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

เมื่อสำรวจตัวเองและพบว่าเริ่มมีอาการข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น อันดับแรกให้ตั้งสติ อย่าหนีปัญหา จากนั้นก็ลงมือทำการแก้ไข

1. สำรวจรายจ่าย แล้วลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

วิธีการง่ายๆ คือ ดูว่าในแต่ละเดือนมีรายจ่ายอะไรบ้าง แล้วให้จดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เช่น ค่าดูหนัง ค่าทานอาหารนอกบ้าน ค่าฟิตเนสรายเดือน ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆ จากนั้นสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป พูดง่ายๆ จะประหยัดและมัธยัสถ์มากขึ้น

2.จัดลำดับการจ่ายหนี้

ให้จดหนี้ทั้งหมดแล้วจัดลำดับหนี้ด้วยการให้หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดอยู่เป็นลำดับแรก แล้วไล่ระดับลงมาเรื่อยๆ จากนั้นให้เคลียร์หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ ให้หมดก่อน เช่น หนี้นอกระบบ หนี้บัตรกดเงินสด หนี้บัตรเครดิต


3.หยุดก่อหนี้ใหม่

วิธีหักดิบเพื่อทำให้ภาระหนี้ไม่สูงไปมากกว่านี้ ก็คือ หยุดก่อหนี้ใหม่ ซึ่งต้องสัญญากับตัวเองว่าถ้าหนี้ก้อนเดิมไม่หมดไปจากชีวิตจะไม่ก่อหนี้ใหม่เป็นอันขาด

4.ขายสินทรัพย์บางอย่างไปจ่ายหนี้

หลังจากประหยัดก็แล้ว ขี้เหนียวสุดๆ ก็แล้ว แต่ภาระหนี้ก็ลดลงเพียงเล็กน้อย ถ้าเป็นแบบนี้ต้องสำรวจว่าตัวเองมีสินทรัพย์อะไรบ้างที่พอจะขายเป็นเงินแล้วนำไปจ่ายหนี้ บางครั้งสินทรัพย์ที่ว่าถึงแม้จะมีคุณค่าทางจิตใจ แต่ต้องตัดใจขายเพื่อแลกกับความสุขของชีวิตในระยะยาว


5.รวมหนี้

การแก้ไขปัญหาหนี้สินด้วยวิธีการรวมหนี้ ส่วนใหญ่ที่ดำเนินการแล้วประสบความสำเร็จ ก็คือ ผู้ที่มีหนี้สินไม่สูงมาก เช่น 1 แสนบาท และเป็นหนี้สินประเภทเดียวกัน เช่น หนี้จากการใช้บัตรเครดิต 5 ใบ เป็นต้น วิธีการ คือ นำหนี้บัตรเครดิตทุกใบที่มีอยู่มารวมไว้ที่เดียว เพื่อลดภาระดอกเบี้ยบัตรเครดิตหลายๆ ใบให้เหลือภาระดอกเบี้ยที่เดียว เมื่อรวมหนี้ได้แล้ว


โดยวิธีดังกล่าวลูกหนี้ต้องเจรจากับผู้ออกบัตรเครดิต (สถาบันการเงิน) ว่าจะรวมหนี้อย่างไร รวมถึงรูปแบบการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต เช่น ขอสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งผู้กู้สามารถขอกู้ได้วงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ และดอกเบี้ยต่ำ (ต่ำกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต) ถัดจากนั้นก็นำเงินกู้ก้อนใหม่ไปจ่ายหนี้บัตรเครดิต


การมีหนี้สิน ไม่มีความสุขแน่นอน ซึ่งหากใครมีประสบการณ์คงรู้ซึ้งถึงความทรมาน และในช่วงเป็นหนี้ต้องรับมือและใช้ชีวิตกันอย่างไร ดังนั้น หากไม่ต้องการอยู่กับหนี้สินไปตลอดชีวิต ทางออกง่ายๆ คือ มีวินัยทางด้านการเงิน รู้จักเก็บ รู้จักใช้ รู้จักพอดี ถ้าทำได้ชีวิตจะปลอดหนี้และมีความสุข