9 ข้อสร้าง ‘อนาคตมั่นคง’ เราออกแบบเองได้

เมื่อโลกทุนนิยมเข้ามากำกับชีวิต จนครรลองการดำเนินชีวิตถูกวางไว้เป็นแพทเทิร์นไม่ต่างจากการฉีกซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หลายคนอาจหลงลืมไปแล้วว่าแท้จริงเราออกแบบชีวิตตามที่ต้องการได้ หากเพียงจัดการปัจจัยที่สำคัญอย่าง “เงิน” ที่เป็นตัวแปรสำคัญให้อยู่มือ ถือเป็นการออกแบบขั้นพื้นฐานที่ทำให้ชีวิตเราแตกต่าง ไม่จำเป็นต้องย่ำอยู่กับรูปแบบเดิมที่อาจมีแต่การสร้างหนี้กว่าจะสะสมความมั่นคงในทรัพย์สินเสมอไป


1. แยกอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตให้ชัดเจน


แม้อดีตคือสิ่งที่ผ่านไปแล้วและแก้ไขไม่ได้ แต่สามารถเอามาเปรียบเทียบเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิมได้ ลองเปลี่ยนมุมมองชีวิตให้ตัวเองใหม่ เช่น ลองดูว่าปัจจุบันของเราเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่ผ่านมาอย่างไร พร้อมกับวางเป้าหมายอนาคตสร้างแรงจูงใจ อาทิ ริเริ่มแก้ไขสิ่งที่ยังไม่ดี หรือเริ่มทำตามความฝัน แต่ต้องระวังอย่าผูกมัดเป้าหมายตึงเกินไปในแบบที่ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะจะทำให้ท้อแท้ไปก่อนระหว่างทาง


2. ชีวิตออกแบบได้ต้องเริ่มเดี๋ยวนี้


หากมัวยอมจำนนกับต้นทุนที่เกิดมาไม่เท่ากันแล้ว คงไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแน่ ดังนั้นต้องเลิกผัดวันประกันพรุ่ง เพราะเวลาที่ดีที่สุดในนการเริ่มออกแบบชีวิตคือ “วันนี้ ตอนนี้ วินาทีนี้” เช่น หากต้องการมีต้นไม้ใหญ่ไว้พักพิงที่บ้านตอนเกษียณ ปกติใช้เวลาปลูก 20 ปี ถ้าไม่ได้ปลูกวันนี้ก็คงไม่ได้ร่มเงา


3. หมั่นถอดบทเรียนการเงินอดีต


การใช้ชีวิตมักควบคู่กับการเงินเสมอ จะดีมากหากเริ่มวิเคราะห์การใช้เงินตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ค่อยๆ เพิ่มระดับการสร้างความมั่งคั่ง คอยบอกตัวเองเสมอว่าไม่มีใครมีชีวิตที่สำเร็จรูปตั้งแต่เกิด ถึงแม้เกิดมาร่ำรวยแต่ก็มีตัวอย่างการใช้ชีวิตผิดพลาดให้เห็น วันนี้เมื่อรู้ว่าพังไม่เป็นท่ากับการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ควรหาวิธีจำกัดจุดอ่อน และสร้างแผนทางการเงินกันใหม่

10-life-design-01

4. จินตนาการสำคัญควบคู่กับความรู้


การฝันถึงอนาคต เช่น อยากมีบ้านให้ครอบครัวได้อยู่กันอบอุ่น ประหนึ่งการสะกดจิตตัวเองว่าจะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ สิ่งนี้จะเป็นแรงขับให้เดินไปอย่างมีเป้าหมาย ไม่หลงทางกับอะไรกับสิ่งยั่วยุให้ใช้จ่ายระหว่างทาง ขณะเดียวกันก็เพิ่มศักยภาพตัวเองด้วยการหารายได้เสริม เพิ่มทักษะเพื่อหาโอกาสก้าวไปสู่งานที่มั่งคั่งมากขึ้น

 

5. รู้ตัวเสมอกับปัจจุบันและทำให้ดีที่สุด


ระหว่างทางก่อนที่จะไปถึงฝันมักมีบทดสอบมาทำให้ปัดเป๋ตลอดเวลา การมี “สติ” อยู่กับปัจจุบันจึงสำคัญสุด เพราะจะทำให้เราตัดสิ่งรบกวนออกไปและโฟกัสกับเป้าหมายหลักได้

 

6. บันทึกออกมารูปธรรมเตือนใจ


การบันทึกเป็นรูปธรรมจะทำให้เห็นความจริงจนยากที่จะปฏิเสธ เช่น การจดบันทึกค่าใช้จ่ายก้อนโตที่พุ่งจากเดือนก่อน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เห็นพฤติกรรมการใช้เงินตัวเองว่าเปลืองเปล่าไปกับค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เป้าหมายใหญ่ไปเท่าไหร่ ถ้าเริ่มเห็นความจริงที่เป็นรูปธรรม ก็อาจทำให้รีบปรับตัวเรื่องการใช้จ่ายได้ทันเวลา

 

7. ตั้งรับบทสอบและวิกฤตชีวิตเสมอ


บททดสอบชีวิตเกิดขึ้นระหว่างทางได้เสมอตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งทำให้เราหมดแรงหรือหมดกำลังใจ ถึงขั้นการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปตั้งแต่วินาทีนั้น เช่น หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต คนที่เรารักเกิดอุบัติเหตุหรือมีโรคร้าย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิกฤตไหน “เงิน” จะเป็นต้นเหตุหนึ่งให้ชีวิตเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังสือเสมอ ดังนั้น การเก็บเงินสำรองไว้เพื่อรองรับบททดสอบชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญเสมอ

8. ให้ความสำคัญกับความหมายชีวิตตัวเอง


หากจดจ่อกับโซเชียลมีเดียเกินไปเราก็มักจะเอาชีวิตคนอื่นมาเปรียบเทียบ สร้างเป็นความกดดันให้ตัวเอง แต่การหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญหว่า แต่อย่าตั้งเป้าหมายที่ไกลเกินเอื้อมจนสูญเสียความสุขในปัจจุบัน แล้วขยันหันมาขอบคุณตัวเองบ่อยๆ หากเดินตามความฝันแบบไม่วอกแวก

 

9. มีเงินแบ่งให้กำลังใจตัวเอง


หลายครั้งเจอทางแยกและไม่มีอะไรการันตีว่าจะเลือกทางที่ถูกหรือผิด แต่วันหนึ่งหากสามารถเก็บหอมรอมริบจากการฟันฝ่าปัญหามาได้ ก็อย่าลืมใช้เงินเป็นช่องทางตอบแทนสร้างความสุขให้ตัวเองบ้าง เพื่อให้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจในยามที่เราเฝ้าดูตัวเองว่า “ที่ผ่านมาเราก็ทำได้นี่”

ถ้าเรามีการวางแผนชีวิตโดยรู้จักบริหารการเงินควบคู่ไปด้วย เชื่อเถอะว่า เราทุกคนสามารถเป็นนักออกแบบชีวิตในอนาคตได้จริง โดยไม่ต้องปล่อยให้เรื่องเงินทองมาเป็นภาระสร้างความกลัดกลุ้มและฉุดรั้งเป้าหมายในอนาคตอีกต่อไป

 

ที่มา
https://thematter.co/social/psycology-of-future-self/132724
https://thematter.co/social/philosophy/suffuring-of-existential-crisis/101852
https://www.facebook.com/kendekthai/posts/1007299019309284/
https://futuretrend.co/self-compassion-office-life/