เทคนิคบริหารเงิน เมื่อเป็นโสดตลอดชีวิต

หากพูดถึงการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ ผู้ที่มีเป้าหมายใช้ชีวิตครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิตและไม่มีภาระเรื่องการดูแลคนใกล้ชิด จะได้เปรียบกว่าคนที่มีครอบครัว เพราะเมื่ออยู่ใช้ชีวิตคนเดียวก็ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ในทางตรงกันข้ามหากคนโสดใช้ชีวิตอย่างอิสระและไม่สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างดี อาจทำให้เงินที่เก็บไว้ใช้จ่ายช่วงเกษียณไม่เพียงพอ


โดยปัญหาสำคัญของคนโสดช่วงเกษียณ คือ มีอิสระเสรีมากกว่าคนที่มีครอบครัว ไม่ต้องดูแลคนอื่น จึงขาดความระมัดระวังในการใช้ชีวิต และการใช้จ่ายเงินอาจจะมากเกินไป ทำให้เสียสมดุลได้ ขณะเดียวกัน ศูนย์สถิติสาธารณสุขแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการสำรวจด้านสุขภาพของผู้ที่มีครอบครัวและผู้ที่ครองความโสดกว่า 127,500 คน พบว่าคนโสดมักมีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าผู้ที่มีคู่ครอง ดังนั้น ผู้ที่ครองความโสดไปตลอดชีวิตจึงไม่ควรละเลยการเตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ด้วยการวางแผนด้านประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ไว้แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่สุขภาพยังแข็งแรงอยู่


ดังนั้น หากใครมีเป้าหมายครองตัวเป็นโสดและไม่มีญาติพี่น้องให้พึ่งพิง ต้องวางแผนเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนเกษียณ

1.แผนการเงิน

นอกจากต้องเตรียมเงินให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตช่วงเกษียณ ควรเรียนรู้การใช้เครื่องมือทางการเงินเบื้องต้น คือ งบการเงินส่วนบุคคล ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสะท้อนสถานะทางการเงินและพฤติกรรมทางการเงินของตัวเอง เริ่มจากการจดบันทึกรายรับ รายจ่าย แล้วสรุปเป็นรายงวด เช่น รายสัปดาห์ หรือรายเดือน ให้สอดคล้องกับจำนวนเงินที่มีอยู่


2.เตรียมใจ

เพื่อให้เกิดความเคยชินว่าชีวิตช่วงเกษียณต้องใช้ชีวิตคนเดียว เช่น เดินทางท่องเที่ยวคนเดียว กินคนเดียว จึงควรเตรียมตัวและวางแผนว่าอยากทำอะไรไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่รู้สึกเหงา


3
.เตรียมร่างกายและทำประกัน 

ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีคุณค่า เพื่อทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะช่วงเกษียณจะต้องไปไหนมาไหนตัวคนเดียว รวมถึงการวางแผนซื้อประกันชีวิต เช่น ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง เพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลช่วงเกษียณ


4.เตรียมเพื่อน

ถึงแม้มีเป้าหมายเป็นโสดไปตลอดชีวิต แต่ควรมีเพื่อนสนิทเอาไว้ ซึ่งเพื่อนๆ เหล่านี้ควรมีไลฟ์สไตล์ ทัศนคติ และการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกันไว้สามารถพบปะ พูดคุย และทำกิจกรรมด้วยกันได้


5.เตรียมผู้ช่วยการเงิน

การบริหารเงินหลังเกษียณมีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น ควรมีผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนทางการเงินไว้คอยให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน เช่น ผู้จัดการกองทุน นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล เป็นต้น

การบริหารเงินหลังเกษียณ

หลังเกษียณต้องให้ความสำคัญกับการบริหารเงินต่อด้วย แต่มีความแตกต่างจากการวางแผนการเงินช่วงก่อนเกษียณ โดยเน้นเป็นพอร์ตการลงทุนที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการจัดสรรเงินหลังเกษียณออกเป็น 3 ส่วน


1.จัดสรรเงินไว้ใช้สำหรับช่วง 3 ปีแรกหลังเกษียณ

สมมติว่ามีเป้าหมายจะใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 20,000 บาท แสดงว่า 3 ปีแรก (36 เดือน) จะต้องใช้เงิน 720,000 บาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะต้องนำไปออมไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง เช่น บัญชีเงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น


2.จัดสรรเงินไว้ใช้ในช่วงปีที่ 4 - 10

โดยนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงระดับต่ำถึงปานกลาง เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล


3.จัดสรรเงินไว้ใช้ตั้งแต่ปีที่ 11 หลังเกษียณเป็นต้นไป

โดยนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงระดับสูง เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) หรือกองทุนรวมหุ้น แต่กรณีไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ควรลงทุนเกิน 10 - 15% ของพอร์ตลงทุน


การวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ เป็นการสร้างหลักคุ้มครองด้านการเงินเพื่อให้สามารถยังชีพต่อไปได้ ยิ่งมีเป้าหมายเป็นโสดไปตลอดชีวิตและไม่มีญาติพี่น้องคอยช่วยเหลือดูแล ยิ่งต้องวางแผนเก็บเงินให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายเมื่อถึงวัยเกษียณ