Survival Mode เอาตัวรอดอย่างไร ในยุคของแพง

ตั้งรับกันไม่ทันแล้วกับราคาสินค้าที่ชักแถวเรียงหน้ากระดาน พร้อมใจทะยานสู่ดวงจันทร์  ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจสุดโหดเหมือนโกรธใครมา แถมโควิดกลายพันธ์ยังขยันมาเยี่ยมเยือน บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศให้แรงหมด เหมือนต้องประคองปั่นจักรยานที่โซ่หลุดไปแล้วให้เดินหน้าแบบลุ้นๆ ถึงเวลานี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการหาฮาวทูการเอาชีวิตให้รอดให้ได้


1. ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ หลักคิดคลาสสิคสำหรับทุกยุค


ไหนๆ ก็ต้องทำงานจากบ้านแล้ว ลองเปลี่ยนมาทำอาหารเองดูบ้าง โดยทำในปริมาณที่เยอะในครั้งเดียวเผื่อไว้กินหลายมื้อ จะทำให้ต้นทุนค่าอาหารเฉลี่ยต่อมื้อถูกลงอย่างแบบฉับพลัน เชื่อเถอะว่าเห็นผลได้ และยังแก้เบื่อได้ ในวันที่ไถหน้าจอเลือกร้านค้าในแอปแล้วก็เบื่อ เพราะลองมาหมดแล้วทุกอย่าง แถมการสั่งแต่ละครั้ง ต้องมีหลักเกิน 100 บาทขึ้นไป จำนวนที่ได้อาจจะไม่พออิ่มท้องสำหรับสมาชิกทุกคนอีกต่างหาก


2. สร้างคลังอาหารและรังสรรค์การแปรรูปอาหารเอง


อาจจะปลูกผักง่ายๆ แบบแนวตั้งหรือกระถางไม่ว่าจะเป็นบนคอนโดมิเนียมหรืออยู่บ้าน เลือกประเภทที่ต้องกินบ่อยๆ ใช้บ่อยเช่น กะเพรา ผักชี ต้นหอม โหระพา พริก หรือไม่ก็แปรรูปอาหารไว้ทานเอง เช่น ซื้อผักอย่างแตงกวา แครอท หัวไชเท้าแบบถุงใหญ่ครั้งเดียวแล้วนำมาแปรรูปไว้กินระยะยาว ด้วยการนำมาดองใส่ในขวดโหลกาแฟที่หมดแล้ว ไว้เป็นผักแนมกินกับกับข้าวมื้ออื่น ประหยัดแบบอร่อยแล้วแถมยังได้ประโยชน์จากสารโพรไบโอติกส์ที่มาช่วยระบบย่อยอาหารอีก


3. บอกตัวเอง ‘เบาได้เบา’


อะไรคงไม่ดีเท่ากับการลดกิเลสหรือความอยากของตัวเอง พร้อมจูงใจสมาชิกครอบครัวว่าอะไรที่เคยอยากได้แบบพร่ำเพรื่อขอให้เบาได้เบา ตั้งแต่การเติมเงินเกมให้ลูกอย่างไม่มีเหตุผล การช้อปปิ้งออนไลน์สารพัดอย่างแบบใจเร็วของคุณแม่ หรือการซื้ออุปกรณ์ไฮเทคของคุณพ่อแบบของมันต้องมี เวลานี้การประหยัดน่าจะเป็นทางรอดที่ดีที่สุด

survival-mode-when-everything-prices-are-going-up-02

4. ลดความพิเศษให้กับชีวิต


ปัจจุบันไม่ว่าจะของกินหรือของใช้ก็เริ่มปรับราคาขึ้นแบบรัวๆ ดูอย่างอาหารพื้นฐานที่เป็นดัชนีชี้วัดอย่างไม่เป็นทางการอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หากขอปรับราคาขึ้นเมื่อไหร่บอกได้เลยว่า ค่าครองชีพมีแววพุ่งทะยาน เตือนให้เราต้องระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น ถ้าอยากประหยัด ลองลดการกินมื้อพิเศษที่แสนแพง หรือเพลาการจัดปาร์ตี้เฉลิมฉลองลง หรือไม่ก็เปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงกับฝูงในร้านอาหารข้างนอก มาเป็นการมาช่วยกันทำอาหารกัน หรือแลกเปลี่ยนบ้านละเมนูแล้วเอามาแจมกันบ้างในบางโอกาส


5. ‘จด-ไม่จ่ายหมด’ ลดเจ็บตัว


ลองหัดจดรายละเอียดการใช้จ่ายแต่ละวันให้กับตัวเองอย่างเคร่งครัดดู จะจดผ่านสมุด โน้ตในมือถือหรือในแอปพลิเคชันก็ตามแต่สะดวก คำตอบที่ได้จะทำให้เราเห็นช่องโหว่ของตัวเองชัดเจนว่า แต่ละวันเปลืองไปกับอะไรที่ไม่จำเป็น และพร้อมที่จะตัดออกไปได้ อย่างน้อยก็ช่วยปรับพฤติกรรมการใช้เงินแบบเคยชินแต่ไม่จำเป็นออกไป ถือเป็นการลดการเจ็บตัวจากการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายลงไปได้

อีกทางที่จะช่วยตรวจดูรายจ่ายที่เงินออกไปว่าเปลี่ยนแปลงจากเดือนที่แล้วอย่างไร คือฟังก์ชั่น Just For You ที่เป็นผู้ช่วยด้านการเงินส่วนตัวอัจฉริยะที่ให้คุณรู้ทุกการใช้จ่ายผ่านบัญชีหรือบัตรเครดิตที่ผูกไว้กับแอป SCB EASY ทำให้สามารถจัดการการใช้จ่าย การออมเงินได้ดียิ่งขึ้น รู้ได้ว่าเราเสียเงินกับอะไรมากเกินไป แล้วปรับลดการใช้เงินได้ทันการณ์


6. ลดจ่ายการลงทุนแบบหายวับไปทั้งเงินต้น


การใช้เงินเพื่อความสนุกสนานอย่างการเติมเงินในเกมซื้อไอเท็ม หรือเพื่อซื้อความหวังอย่างสลากกินแบ่งรัฐบาลในทุก 15 วัน ย่อมมีโอกาสสูญเสียเงินต้นทั้งหมดมากกว่าจะได้คืน แม้จะถือเป็นการลงทุน 2 ครั้งต่อเดือน แต่ถ้าลองเอายอดที่ซื้อมาลองบวกกันแล้ว เคยคิดหรือไม่ว่าเอาไปต่อยอดสร้างรายได้อย่างอื่นได้อีกตั้งเท่าไหร่ เข้าทำนองได้ไม่คุ้มเสีย และยิ่งเป็นความเสี่ยงในยุคข้าวยากหมากแพงแบบนี้

7. เช็ก-เปรียบเทียบให้ชัวร์


ก่อนจะซื้อของลองเช็กยอดโปรโมชั่นต่างๆ หรือเช็กยอดสะสมแต้มเพื่อไปแลกซื้อของต้องประสงค์ รวมถึงการเช็กรหัสสินค้าที่แปะตามป้ายดีๆ บางทีโปรโมชั่นที่เขียนไว้อาจเป็นตัวหลอกที่มาล่อจิตใจเพราะคิดว่ามีส่วนลด แต่แท้จริงมีเงื่อนไขต่างๆ นานามากมาย และพอลองคิดราคาต่อชิ้นแล้ว โปรโมชั่นที่จัดวางไว้อาจจะแพงกว่าแบบเดิมที่ซื้อประจำก็ได้ เรียกว่าต้องเป็นผู้บริโภคที่รู้เท่าทันการตลาดให้ดีในช่วงนี้


8.  ลดความคุณภาพลงมาเพียงพอใช้ได้


บางทีการลดคุณภาพลงมาเพื่อให้ได้ราคาสินค้าถูกลง เหลือแค่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว โดยลองเปลี่ยนวิธีการการตัดสินใจซื้อของจากแบรนด์หรู มาเป็นการเลือกฟังก์ชั่นการใช้งานที่จะตอบโจทย์ได้มากกว่าก็น่าจะช่วยทำให้ประหยัดได้ไม่มากก็น้อย


แม้ค่าครองชีพพุ่งปรี๊ดจะทำให้เราต้องเหนื่อยในการปรับตัว ลดมาตรฐานความเคยชินและความสบายหลายอย่างในชีวิต แต่เชื่อเถอะว่าถ้าลองกัดฟันดูซักตั้ง เราเป็นหนึ่งในผู้อยู่รอดในทุกสถานการณ์ที่รุมเร้าได้อย่างไม่เจ็บปวดเกินไป

อ้างอิง
https://www.moneybuffalo.in.th/business/สาเหตุ-ของราคาแพง
https://www.thairath.co.th/business/finance/2298495
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/894166
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/971617