เวลาหยุดอยู่กับที่ ณ 6 ร้านย่านวัดอุโมงค์

ถ้าเทียบกับแสงสี ถนนนิมมานฯ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ คงเป็นนีออนสะท้อนแสงตอนกลางวันและสว่างวิบวับตอนกลางคืน ต่างจากย่านวัดอุโมงค์ ที่สบายตากว่าเหมือนใช้พู่กันระบายอย่างช้าๆ และใจเย็นด้วยสีจากธรรมชาติ


ทำไม? เพราะเวลาเปิดทำการของร้านรวงย่านวัดอุโมงค์ ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นสายๆ หลายร้านติดป้ายไว้ว่าเปิด 9 โมงเช้า ฉะนั้นใครวางแผนมาเที่ยวย่านนี้เผื่อเวลาไว้เลย 1-2 วัน ค้างสักคืนสองคืนได้ยิ่งดี


“อย่ารีบ” เราถือวิสาสะตั้งกฎข้อนี้ขึ้นมาเอง หลังจากเดินทะลุซอยโน้นออกซอยนี้ ก่อนจะพบว่า ‘ช่วงเวลาดีๆ’ เกิดขึ้นที่นี่ถ้าเราให้เวลาเต็มที่กับแต่ละหย่อม แต่ละร้าน เพราะย่านวัดอุโมงค์ นาฬิกาไม่ใช่สิ่งจำเป็น


ทั้งร้านขนม ร้านกาแฟ เกสท์เฮาส์ หรือแม้แต่ร้านตัดผม - ทั้งหมดนี้ทำเอาแพลนเที่ยวเมืองที่วางเอาไว้รวนหมด เพราะโดนบรรยากาศ-ตลาด-ร้านฯ ย่านวัดอุโมงค์ขโมยเวลาไปไม่รู้เนื้อรู้ตัว


เพราะอะไร? ลองแวะเข้าไปในแต่ละร้านดูสิ

1. Shizen : ร้านตัดผมลับๆ ที่มีช่างเพียงคนเดียว

อดีตช่างทำผมฝีมือดีในเมืองหลวง ตัดสินใจทิ้งความวุ่นวาย ตั้งใจมาเปิดร้านทำผมเล็กๆ เงียบสงบและเรียบง่ายในจังหวัดเชียงใหม่ คุณปลาย-กชมน ต่ายยงค์ หญิงสาวผมสั้น ผู้เป็นเจ้าของร้านทำผมสุดน่ารักชื่อว่า Shizen มาจากภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ‘ธรรมชาติ’

ยิ่งร้านทำผมแห่งนี้ตั้งอยู่ภายใต้ความร่มรื่นในซอยวัดอุโมงค์ ยิ่งทำให้บรรยากาศรวมๆ ของร้านทำผมแห่งนี้ใกล้ชิดกับธรรมชาติเข้าไปอีก สีเขียวของต้นไม้ตัดกับสีน้ำเงินของตัวบ้าน ถ้ามองจากด้านนอกหลายคนก็คงไม่คิดว่าบ้านหลังนี้จะถูกแบ่งสัดส่วนให้เป็นร้านทำผมเล็กๆ แต่พร้อมไปด้วยอุปกรณ์ตัดแต่งทรงไม่ต่างจากร้านทำผมทั่วไป แถมชั้นล่างของที่นี่ยังซ่อนพื้นที่สตูดิโอเล็กๆ เอาไว้สำหรับคลาสเรียนโยคะ หรือทำกิจกรรมเวิร์คช็อปต่างๆ อีกด้วย


Shizen เป็นร้านทำผมลับๆ ย่านวัดอุโมงค์ แต่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ต่างมักจะแวะเวียนเข้ามาให้ปลายจัดแต่งทรงผม แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเดินเข้ามาแล้วได้รับบริการทันที


คุณจะต้องโทรจองคิวเพื่อนัดหมายก่อน เพราะคอนเซปท์ของร้าน Shizen คือการมอบรายละเอียดและความใส่ใจขั้นสูงสุดให้กับลูกค้าทุกคน ร้านทำผม Shizen มีช่างเพียงคนเดียวนั่นคือคุณปลาย ในหนึ่งวันจึงรับลูกค้าได้เพียงวันละคนเท่านั้น มีบ้างที่เกินกว่านี้ แต่ไม่บ่อย เพราะปลายจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการพูดกับลูกค้าแต่ละคน เพื่อให้เข้าใจตัวตนของลูกค้ามากที่สุด

“เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของลูกค้า และเส้นผมของเขา จะทำให้ตัดผมออกมาเป็นตัวเขามากที่สุด”


ระหว่างที่ลงกรรไกร ปลายจะชวนคุยถึงเรื่องต่างๆ ถามไถ่ถึงปัญหาของเส้นผมบ้าง เพลงที่ชอบบ้าง ขนมที่ชอบ แต่ไม่เร่งเร้าเซ้าซี้หากลูกค้าชอบความเป็นส่วนตัว แถมยังไม่หวงวิชา คอยแนะนำทริคเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการดูแลเส้นผมเป็นของแถมกลับไปอีก


คุณปลายมักจะสังเกตความเป็นตัวตนของลูกค้าตั้งแต่เดินเข้ามาในร้าน และใช้เซนส์ที่ยอดเยี่ยมของตัวเองประเมินว่าลูกค้าคนนี้น่าจะชอบประมาณไหน สมมติมีผู้หญิงคนหนึ่งอยากตัดผมสั้น ชอบแต่งหน้าเข้มๆ แต่งตัวเปรี้ยวๆ เธอก็จะดีไซน์ทรงผมไว้คร่าวๆ ให้สอดคล้องหรือไปในโทนเดียวกับตัวตนของลูกค้า หากยังไม่ถูกใจก็ยินดีปรับแก้ หาตรงกลางระหว่างกัน เพื่อให้ทรงผมออกมาประทับใจมากที่สุด


ปลายมักจะเจอลูกค้าที่คุยถูกคอ จนหลายคนขยับมาเป็นเพื่อนกัน ทั้งชาวต่างชาติที่เป็นฝรั่งจ๋า หรือชาวเอเชีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี ที่พวกเขาตั้งใจมาเที่ยวเชียงใหม่ เพื่อตัดผมกับปลายโดยเฉพาะ


‘ใส่ใจรายละเอียด-ช่างสังเกต’ คุณสมบัติของคุณปลายที่เชื่อว่าทุกคนมองเห็นและสัมผัสได้



FB : https://www.facebook.com/shizen.chiangmai/

Tel : เบอร์โทร 091-858-0612

2. Enough For Life : เกสต์เฮาส์อบอุ่นที่มีแค่สองห้อง

เพราะพอเพียง...จึงมีความสุข


พื้นที่ไม่ใหญ่ก็แต่ไม่เล็กเกินที่จะแบ่งสัดส่วนให้ออกเป็นร้านกาแฟขนาดย่อม ร้านขายของ สระว่ายน้ำเล็กๆ และเกสต์เฮาส์สองห้อง ซึ่งทุกอย่างถูกกำหนดให้อยู่ในสไตล์ Viltage เป็นส่วนผสมระหว่างคำว่า  Villa+Vintage ตามคำบอกของ คุณนุจัง-ณัฐวุฒิ ปันสิน อดีตวิศวกรหนุ่มจากพนักงานบริษัทใหญ่ใจกลางเมือง ที่ผันตัวมาแปลงโฉมที่ดินแห่งนี้ร่วมกับภรรยาสาวชาวเกาหลีชื่อ คิมดาวูน

อาคารทรงจั่วสีขาวหลังนี้ ถูกออกแบบมาอย่างครบวงจร คุณนุจังใช้ความรู้ความสามารถที่ตัวเองได้สะสมมาดีไซน์พื้นที่ทั้งหมดให้ดูอบอุ่นและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ชั้นบนของอาคารเปิดเป็นห้องพักจำนวนแค่ 2 ห้อง และแยกบันไดขึ้นสองด้านอย่างชัดเจน เพราะต้องการให้ผู้ที่มาพักมีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด ส่วนชั้นล่างเป็นพื้นที่ของการจัดวางขายสินค้าน่ารักๆ เช่น ถ้วยชามจานเซรามิค งาน Craft ต่างๆ เช่น หมวกถัก เสื้อผ้าและกระเป๋า รวมไปถึงตกแต่งบ้านวินเทจ


แต่กว่าเกสท์เฮาส์แห่งนี้จะอบอุ่นได้ คุณนุจังเล่าให้ฟังว่า เขาและภรรยาเคยทะเลาะกันอย่างรุนแรง ถึงขั้นเกือบจะเลิกกัน เพราะอาชีพวิศวกรพรากเวลาระหว่างเขาและครอบครัวให้ออกจากกัน ในทุกๆ วันของ คือการออกจากบ้านไปทำงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า กลับเข้าบ้านอีกทีก็หลังห้าโมงเย็น เพราะคิดเพียงแค่ว่าจะต้องหาเงินได้เยอะๆ จนเขาและภรรยาเริ่มทะเลาะกันบ่อย จึงตัดสินใจเบนเข็มชีวิต ลาออกจากงาน แล้วมาสร้างชีวิตใหม่เรียบง่ายโดยมีผลผลิตเป็นสถานที่ชิคๆ ย่านวัดอุโมงค์แห่งนี้

คุณนุจังและภรรยาต่างพยายามอุดรอยร้าวให้สนิท โดยใช้พื้นที่ Enough For Life ทดแทนช่วงเวลาละเลยระหว่างกัน ค่อยๆ ปรับความเข้าใจกัน จนปัจจุบันสมาชิกครอบครัวเพิ่มเป็น ลูกชายทั้งสาม ชื่อว่า พอเพียง  เพียงพอ  และพอดี


“อยากทำอะไรเล็กๆ ที่พอจะมีเวลาอยู่กับภรรยาและลูก”


คุณนุจังบอกว่าสิ่งที่ทำให้ตัวเองเห็นว่า ‘เวลามีค่ากว่าเงิน’ คือการนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทุกคนคุ้นเคย มาปรับใช้จริงกับธุรกิจและชีวิตครอบครัว


เมื่อเราถามผู้ชายคนนี้ว่าจะมีโอกาสขยายห้องพักเพิ่มไหม


คุณนุจังตอบว่า “ไม่ครับ แค่นี้มันก็พอแล้ว เหมือนกับคำว่า Enough for Life”


เราไม่ต้องไปทำอะไรที่ใหญ่เกินตัว ไม่ต้องทำห้องพักหลายห้อง ไม่ต้องทำร้านกาแฟให้ใหญ่โต ทำเท่าที่ตัวเองจะดูแลไหว เน้นการบริการลูกค้าอย่างดี ทำให้เขาประทับใจ จนอยากกลับมาพักอีก แค่นี้ก็พอ เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตเราไม่ได้ต้องการเงินทองมากไปกว่าความสุขและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัว


ดังนั้น เขาจึงไม่เคยคิดเสียดายเลยที่เลือกทิ้งอาชีพวิศวกรในเมืองใหญ่ มาเริ่มชีวิตใหม่ที่นี่ เพราะคุณนุจังบอกว่า “แค่มีเวลาให้กับครอบครัว แค่นั้นก็พอแล้ว”



FB : https://www.facebook.com/enoughforlife

Tel : 084-504-5084

3. Slow Hands studio  : ปล่อยวางและค้นพบตัวเองจากงานปั้น

เวลาผ่านไปเข้าปีที่ 4 แล้ว จากที่ดินป่ากล้วยสู่สตูดิโองานปั้นย่านวัดอุโมงค์ ชื่อว่า Slow hands Studio ของ คุณถิง-ชลธิชา สุจริตพินิจ และเพื่อนซี้อย่าง คุณเจิน-กฤชนันท์ ศรีระกิจ

แรกเริ่มทั้งคู่ใช้พื้นที่นี้เป็นฐานทัพในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตัวเอง ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดสอนเป็นจริงเป็นจัง แต่ด้วยฝีมือที่โดดเด่นของ คุณถิง-คุณเจิน ทำให้วันนี้ที่นี่กลายเป็นพื้นที่ Workshop ด้านเครื่องปั้นดินเผาที่เจ๋งและขึ้นชื่อ จนได้รับความสนใจจากทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างมาก


“ช่วงแรกที่เปิดสตูฯ เราบ้าเห่อกับการปั้นมาก รู้สึกว่า โอ้ งานปั้นนี่มันสุดยอด!”คุณถิง เป็นทั้งนักวาดภาพประกอบ นักแปล และผู้สอนปั้นงานเซรามิกประจำสตูดิโอ


“การปั้นมันมีมิติไม่เหมือนการวาดรูป เวลาปั้นด้านนี้ พอหมุนหันไปอีกด้านหนึ่ง มันเกิดมิติใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึงและทำให้ต้องยอมศิโรราบกับมัน” คุณถิงใช้คำว่า ‘มหัศจรรย์’ มายืนยันพลังของงานปั้นที่เหนือการควบคุม


จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติจริงจัง ถึงขั้นจองตั๋วข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนที่นี่ นอกจากค่าเรียนจะย่อมเยาว์เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเขาแล้ว  อีกเหตุผลหนึ่งคือ Slow Hands Studio มอบประสบการณ์ที่ดีจนติดใจ

คุณถิงบอกว่างานแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ในตัว ผลงานทุกชิ้นถูกสร้างขึ้นจากสองมือมนุษย์  แต่ละคนสร้างงานไม่เหมือนกัน งานชิ้นนั้นจึงมีแค่ชิ้นเดียวในโลก


“เพราะงานปั้น รีบไม่ได้ อยากให้รู้สึกซึมซับกับมัน”


เมื่องานปั้นเร่งไม่ได้ ทุกกระบวนการตั้งอยู่บนความเสี่ยง ตั้งแต่การปั้นดินขึ้นรูป เกลี่ยดินให้เนียน  รอแห้ง ถ้ามีรอยแตกก็ใช้ไม่ได้ ต้องเริ่มทำใหม่ หรือถ้าผ่าน ก็ต้องรอเผา พอเอาเข้าเตาเผาแล้วระเบิด ก็ต้องกลับไปเริ่มใหม่ตั้งแต่แรก แม้จะฟังดูยุ่งยาก แต่ทุกคนจะเรียนรู้ถึงสมาธิ การปล่อยวาง และการให้อภัยตัวเองจากงานปั้นได้


อยากมาเรียน ทำอย่างไร? คุณถิงบอกว่าควรจองล่วงหน้า มาแค่ตัว ความตั้งใจและไอเดีย


“ทุกคนปั้นงานที่มีคุณค่าได้หมด อย่าคาดหวังว่าจะต้องรีบทำ หรือทำให้สวย  แค่ปล่อยให้สองมือค่อยๆ ปั้นดินอย่างสโลว์ๆ ผสมกับความเพลินเพลินลงไป ให้รู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังปั้นอยู่มันช่างสวยงาม แล้วความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ”


หากคุณคิดว่าเป็นคนใจร้อน หรือศิลปะเป็นเรื่องยาก คุณอาจกำลังคิดผิด อยากให้ลองเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ๆ ปล่อยเวลาให้ไหลอย่างละเมียดละไมไปกับ Slow Hands Studio แล้วงานปั้นจะช่วยค้นพบตัวเองอีกมิติหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน



FB : https://www.facebook.com/slowhandsstudio/

Tel : 081-437-3611

4. กะเพรา 168 : เมนูสิ้นคิดที่คิดแล้วคิดอีกก่อนเสิร์ฟ



รสชาติจัดจ้านบวกกับกลิ่นหอมๆ ทำให้ผัดกะเพรากลายเป็นอาหารยอดฮิตถูกปากคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ไหน เมื่อไร คิดอะไรไม่ออกให้คิดถึงกะเพรา ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ทุกเนื้อสามารถนำไปรังสรรค์เป็นเมนูกะเพราได้หมด


เช่นเดียวกับ ร้านกะเพรา 168 ที่ตั้งอยู่ในโครงการ ‘ลานละมุน’ ใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ไกลจากย่านวัดอุโมงค์ ความพิเศษตามชื่อร้าน คือที่นี่จะขายแค่เมนูผัดกะเพราอย่างเดียวเท่านั้น โดยจะถูกจัดเสิร์ฟในจานสังกะสี คู่กับช้อนสแตนเลสสั้น


นี่เป็นความตั้งใจของ คุณออย- มิลิน วิรยะ เจ้าของร้านกะเพรา168 วัย 26 ปี เธอคิดมาแล้วว่าจะเสิร์ฟอาหารในจานสังกะสีธรรมดาๆ เพราะอยากให้ทุกคนที่มากินรู้สึกเรียบง่าย เป็นกันเอง เหมือนว่ากำลังกินข้าวอยู่บ้าน นอกจากนี้ทางร้านยังเอาใจคนไม่กินเผ็ด ด้วยการเพิ่มเมนูสารพัดกระเทียม ทั้งหมูกระเทียม ไก่กระเทียม เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น

สารพัดเมนูกะเพราหลากหลาย เริ่มต้นที่ 35 บาท ไปจนถึงหลักร้อย มีทั้งเมนูทั่วไปอย่าง กะเพราหมู กะเพราไก่หมู หรือเมนูแปลกใหม่ที่ทางร้านนำเสนอ เช่น กะเพราไส้หวาน กะเพราเนื้อเปื่อย กินคู่กับไข่ดาว ไข่เจียว หรือไข่ข้นฉ่ำๆ ที่เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของร้านและเป็นเมนูยอดฮิตที่มักถูกสั่งคู่กันเพื่อตัดความเผ็ดร้อนของผัดกะเพรา

นอกจากรสชาติของผัดกะเพราที่เข้มข้นกำลังดี แบบที่ไม่ต้องปรุงน้ำปลาเพิ่มก็อร่อย หน้าตาของการจัดจานก็ทำให้ลูกค้าประทับใจเช่นกัน เนื้อสัตว์ที่คัดสรรมาอย่างดี ถูกผัดให้สุก มีสีแดงของพริกและสีเขียวของแตงกวาวางเรียงที่ขอบจาน ตบท้ายด้วยใบกะเพรากรอบโรยหน้า


ร้านกะเพรา168 คือหนึ่งในร้านในดวงใจของนักศึกษามหาลัยเชียงใหม่ ด้วยราคาที่ย่อมเยาว์ ทำเลอยู่ไม่ไกล รสชาติอร่อยถูกปาก ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักเรียน-นักศึกษา ซึ่งตรงกับเป้าหมายที่คิดไว้


คุณออยเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอเริ่มทำร้านนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้วตอนที่ยังเป็นนักศึกษาการตลาดปีสุดท้าย ตอนนั้นออยแค่อยากลองทำธุรกิจตามคำชักชวนของแฟนที่เปิดร้านสเต็กอยู่ก่อน ซึ่งทางครอบครัวก็ไม่เห็นด้วย ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกถึงมาผัดกระเพราขาย-เหนื่อยสายตัวแทบขาด อยากให้ทำงานในบริษัทมากกว่า แต่ด้วยความดื้อเธอจึงตัดสินใจฟังเสียงตัวเอง โจทย์ของออยคือทำอะไรไม่ซ้ำใคร ตอนนั้นยังไม่มีร้านอาหารที่ขายเพียงเมนูเดียว หันซ้ายหันขวาก็เจอแต่ร้านตามสั่งทั่วๆ ไป ออยจึงไม่ลังเลที่จะลงมือทำ แต่ก็พบว่าการทำกะเพราซึ่งเป็นเมนูสิ้นคิดของใครหลายคน ไม่ใช่เรื่องง่าย


ในเมื่ออยากแตกต่างก็ต้องไปให้สุด เธอใช้เวลาอยู่นานในการทดลองคิดค้นสูตร หาแหล่งวัตถุดิบ ฝึกผัดให้รสชาติมีมาตรฐานเท่ากันทุกจาน ที่สำคัญผัดแบบแห้ง ใช้น้ำมันให้น้อยที่สุด ไม่มีถั่วฝักยาว พริกหยวก หรือผักอื่นๆ เจือปน เน้นกระเพราล้วน จนในที่สุดก็ตัดสินใจเปิดร้านเป็นเพิงเล็กๆ ขายอยู่ริมถนนบริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัย และใช้ชื่อว่า กะเพรา 168 ซึ่งตัวเลขนี้มาจากวัดเกิดแฟนและคุณออยรวมกัน และยังเป็นตัวเลขมงคลตามศาสตร์จีนอีกด้วย

จากร้านเล็กๆ คนไม่เยอะ สู่ร้านกะเพราที่โด่งดัง  กว่าจะมาถึงวันนี้นอกจากคุณภาพและความใส่ใจในทุกขั้นตอน คุณออยบอกคาถาเด็ดที่ท่องขึ้นใจคือ ลูกค้าที่มากินจะต้อง ‘อิ่ม คุ้ม อร่อย’ ถึงจะเหนื่อยมาก กำไรก็ไม่ได้เยอะเพราะขายถูก แต่เมื่อเลือกเส้นทางนี้แล้วก็ต้องอดทน เวลาเห็นลูกค้ากินอิ่ม-กินอร่อย ยิ่งเป็นน้องๆ นักศึกษา เธอก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจและคิดว่าตัวเองเลือกเส้นทางไม่ผิด


หากคุณป็นนักล่ากะเพรา อย่าพลาดที่จะมาลิ้มลองกะเพราล้วนๆ ไม่มีถั่วฝักยาวผสม อาหารจานด่วนที่เกิดจากความกล้าที่จะคิด-กล้าที่จะลอง-กล้าที่เริ่ม แล้วคุณล่ะ กล้าลองเมนูแสบปากร้านนี้หรือเปล่า?



FB : https://www.facebook.com/Kaprao168/

Tel : 097-095-0168

5. อิ่มหมีพีณา : แวะมานั่งกินคัสตาร์ดคาราเมลที่บ้านเพื่อน



ร้านนี้มีแค่โต๊ะเดียว และเป็นโต๊ะตัวเดียวกับที่ใช้ชงกาแฟด้วย แต่ถ้าคุณรีบร้อนหรืออยากมีพาเหรดขนมมารอให้เลือกอยู่ตรงหน้า ขอแนะนำว่าให้ไปร้านอื่น เพราะที่นี่วันธรรมดาจะมีขนมประจำร้านแค่ 1-2 ชนิด สูงสุดเสาร์อาทิตย์ไม่เกิน 5 ชนิด


ส่วนกาแฟ - บาริสต้าที่นี่ จะยังไม่ชงให้ทันทีแต่จะชวนคุยก่อนเพื่อให้รู้หรือเดาทางออกว่าลูกค้าน่าจะชอบกาแฟแบบไหน ที่นี่จึงเรียกตัวเองว่าสโลว์บาร์ (Slow bar)


เชฟทำขนมคือหญิงสาว คุณพีณา พิภพภิญโญ เปิดร้านร่วมกับคู่ชีวิตบาริสต้าชื่อ ‘เขียน’ คุณธาตรี แสงอาณุภาพ ร้านนี้จึงมีชื่อเต็มว่า อิ่มหมีพีณา&สโลว์บาร์ธาตรี

นอกจากไม่รีบแล้ว ลูกค้าหลายคนยังออเดอร์มาจองขนมล่วงหน้า ก่อนจะพาตัวเองมานั่งในร้านในอีก 2 ชั่วโมงถัดไป

“ทั้งหมดนี้ก็เพื่อคัสตาร์ดถ้วยเล็กๆ ถ้วยเดียว” ที่บางคนถึงกับเบิ้ลสองเลยด้วยซ้ำ

นอกจากหอมคาราเมลไหม้อ่อนๆ แล้ว ความเนียน ความนุ่ม และ Texture ของคัสตาร์ดคำแรก ทำเอาเราถึงกับอึ้ง ก่อนจะพูดพร้อมๆ กันว่า “มีคัสตาร์ดแบบนี้อยู่ในโลกด้วยเหรอ”  จึงไม่แปลกใจที่คาราเมลคัสตาร์ดจะกลายมาเป็นเมนู Best Seller ของร้าน ขาประจำที่รู้กันดีจะโทรมาสั่งจองทุกครั้ง และควรจะกินให้หมดที่ร้านหรือซื้อกลับไปกินที่บ้านและกินให้หมดในวันนั้นเท่านั้น

ติดอันดับไม่แพ้กัน แต่เก็บได้นานหน่อยคือ ชีสทาร์ตสับปะรดไต้หวัน  ที่คุณพีณาไปเรียนมาจากต้นตำรับอาจารย์เบเกอรี่สไตล์จีน

“เริ่มหัดทำขนมเปี๊ยะ เริ่มจากที่เราชอบกินเป็นหลัก หาสูตรไปเรื่อยๆ ไปเรียนทำขนมไหว้พระจันทร์ ชอบครูมาก เลยอยากเรียนขนมตัวอื่นกับครูอีก จนเป็นชีสทาร์ตสับปะรด เน้นขนมชิ้นเล็กๆ สไตล์จีน เรารู้สึกว่ามันวิเศษ ไม่เหมือนทั่วๆ ไป”

ส่วนที่รับออเดอร์มือระวิงทุกปีคือขนมไหว้พระจันทร์โฮมเมด ที่คุณพีณาทุ่มสุดตัวทั้งวัตถุดิบและฝีมือ

“เวลาทำต้องใส่ใจและเนี้ยบมากๆ ตั้งใจเลือกของทุกอย่าง ทุกขั้นตอน เลยเป็นเจ้าแรกๆ ที่ขายขนมไหว้พระจันทร์ราคาสูง ตอนแรกก็กลัวเหมือนกันแต่ได้ลูกค้าแบบปากต่อปาก เลยทำติดกันมา 4 ปีแล้ว”


เมนูที่เวียนเปลี่ยนมาเรื่อยๆ จะตั้งโจทย์ตามฤดูกาล เช่น เค้กทุเรียน เค้กแครอท เค้กเผือก เค้กส้มสดชื่น ส่วนหน้าหนาวจะมีโรลชาเขียวถั่วแดง สตอร์เบอร์รี่ชอร์ตเค้ก หรือ กับ flawless chocolate เค้กชอกโกแลตไร้แป้ง ที่ลูกค้าบอกกันว่า “กินแล้วไม่รู้สึกอ้วนและไม่รู้สึกผิด”


“วัตถุดิบที่เราใช้อาจจะเบาๆ เราเลือกของดีทุกอย่าง แต่ของอร่อยทุกอย่าง มันก็ต้องออกกำลังกายนะคะ” คุณพีณาแอบเตือน


ขนมชิ้นน้อยใหญ่นี้มักจะถูกสั่งมาเคียงกับกาแฟ ซึ่งบาริสต้าธาตรีภูมิใจเสนอ ‘รื่นฤดี’กาแฟสกัดเย็น (cold brew coffee) เติมความหวานด้วยน้ำผึ้งดอกกาแฟ ที่ให้กลิ่้นไซเดอร์นิดๆ และรสหวานกลมกล่อมไม่แหลม


“ลึกๆ เราแค่อยากทำร้านให้คนเข้ามารู้สึกว่า เครื่องดื่มไม่ต้องเข้าใจยาก แต่ทุกคนควรมีเครื่องดื่มของตัวเอง เด็กจะดื่มนมก็ได้ ทุกคนมีสิทธิเลือกดื่มที่ตัวเองชอบ รสนิยมไม่มีถูกผิด ลูกค้ามาเลยคุยกันนานถ้าเป็นไปได้” ความตั้งใจของคุณธาตรี


แอบกระซิบนิดนึงว่า หน้าร้านอิ่มหมีพีณาไม่ได้เป็นคาเฟ่เบเกอรี่เต็มรูปแบบ ใครอยากแวะต้องเปิดประตูเข้ามา จังหวะนั้นอาจเจอพีณายืนนวดแป้งอยู่มือระวิง


“เราอยากให้รู้สึกเหมือนมานั่งบ้านเพื่อน เดินมาดูตอนทำขนมได้ บางทีเขามาช่วยทำด้วย(ยิ้ม)” คุณพีณายอมรับว่าที่นี่ยังดูไม่เป็นร้าน หลายคนบอกให้เอาตู้ขนมไปวางข้างนอกร้านแต่คุณพีณาไม่ยอมเพราะกลัวโดนฝุ่น ที่สำคัญ ขนมแต่ละชิ้นไม่อยากทำเก็บไว้นานๆ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เอาไปวางไว้ในตู้


“เราไม่ได้อยากอินดี้ แต่เรามีกำลังเท่านี้ ดูแลได้เท่านี้ และอยากให้ลูกค้ากินของที่อร่อยและดีที่สุด บางคนเดินเข้ามา เราบอกว่าอีก 15 นาทีขนมถึงจะเสร็จ เขาก็รอ ไม่ได้รีบร้อน”


นี่แหละอิ่มหมีพีณา&สโลบาร์ธาตรี

https://www.facebook.com/immeepeena/

Tel : 085-161-2952

6. Sanim Thoon : คาเฟ่บ้านดินที่คุณได้ดริปกาแฟเอง

บ้านดินดิบๆ มืดๆ มองจากภายนอกอาจทำให้เรากล้าๆ กลัวๆ ที่จะเดินเข้าไปในร้านกาแฟชื่อเท่อย่าง ‘สนิมทุน’


แต่ถ้าคุณได้เข้าไปดื่มด่ำในรสชาติกาแฟ หรือได้นั่งพูดคุยกับ ‘คุณเอ็น-นันทชาติ หนูศรีแก้ว’ เจ้าของร้านภายใต้บรรยากาศสบายๆ รับรองเรื่องราวเบื้องหลังของร้าน ‘สนิมทุน’ จะเป็นพลังช่วยปลุกความรู้สึกรักสังคมในตัวคุณให้เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว

“ตั้งใจชื่อสนิมทุน เพราะอยากให้สนิมที่ไปเกาะกินระบบทุน ไม่เน้นธุรกิจมาก เน้นการพึ่งตัวเอง”


คุณเอ็น อาจจะไม่ใช่บุคคลที่เป็นรู้จักของคนทั่วไป แต่แวดวงนักเคลื่อนไหว โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักอย่างดี เพราะคุณเอ็นเป็นผู้ขับเคลื่อนประเด็นคนไร้บ้านมาโดยตลอด และตั้งใจเปิดร้านสนิมทุนเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนได้ตื่นรู้ในประเด็นสังคม ไปพร้อมกับการจิบกาแฟสบายๆ


ภายในบ้านดินตกแต่งด้วยต้นไม้ ดอกไม้ประดับ ให้ความรู้สึกสดชื่น  มีมุมเล็กๆ แบ่งปันพื้นที่ให้พี่น้องคนไร้บ้านเอาของมาขาย อาทิ เสื้อผ้ามือสอง กระเป๋า ของใช้ต่างๆ  เอ็นบอกว่า ในอนาคตอยากทำให้ร้านคาเฟ่แห่งนี้เป็นมากกว่าร้านกาแฟธรรมดา มีความฝันอยากจะแปลงโฉมให้กลายเป็น ‘ตลาดนัดของพี่น้องไร้บ้าน’ เพื่อให้กลุ่มเครือข่ายมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเปิดร้านให้นักกิจกรรมต่างๆ เข้ามาพบปะ นั่งพูดคุยหารือกัน หรือจะใช้พื้นที่นี้จัดกิจกรรมเสวนาก็ได้อีกด้วย


ยิ่งไปกว่านั้นรายได้จากการขายเครื่องดื่มทุกแก้ว ทางร้านจะหักออกแก้วละ 5 บาท เพื่อสนับสนุนให้กับการจัดกิจกรรมที่เกิดขึ้น

ร้านสนิมทุนไม่ได้มีแค่นักเคลื่อนไหวด้านสังคมไปใช้บริการเท่านั้น ลูกค้าขาจรจำนวนมากก็เลือกที่จะเข้ามานั่งทำงานหรือแวะมาทานกาแฟที่นี่ หรือถ้าอยากกินกาแฟฝีมือตัวเอง ที่นี่ก็มีชุดดริปไว้คอยบริการ และไม่ต้องกลัวว่าจะทำแล้วเสียของหรือกินไม่ได้ เพราะจะมีบาริสต้าหนุ่มผมยาวคอยบอกขั้นตอนและแนะนำตั้งแต่บดเมล็ดกาแฟไปจนถึงค่อยเทๆ ลงมาใส่ถ้วย


นี่เป็นกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไป ซึ่งเมล็ดกาแฟที่ร้านสนิมทุนนำมาจำหน่าย ก็ได้มาจากกลุ่มชาวบ้านและชุมชนที่ปลูกกันเอง


แม้ลูกค้าที่เข้ามาอาจไม่รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของร้านสนิมทุนทุกคน เพราะร้านไม่ได้ตั้งใจป่าวประกาศจุดยืนของตัวเอง แต่ด้วยเอกลักษณ์ที่ดูลุยๆ ทำให้ลูกค้ารู้สึกเอื้อมถึงและผ่อนคลาย สไตล์บ้านดินจริงๆ


เส้นทางมาร้านก็หาไม่ยาก ตั้งอยู่ซอยเดียวกับวัดอุโมงค์ หากคุณมีเวลาว่าง พกหนังสือสักเล่มมาอ่าน หรือจะนั่งทำงานก็ได้อารมณ์ co-working space ที่ปรับอากาศด้วยลมธรรมชาติเย็นๆ


สนิมทุนถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งถ้าคุณอยากนั่งพัก ชาร์จแบทด้วยกาแฟดริปหอมๆ แล้วตะลุยย่านวัดอุโมงค์ต่อ


FB : https://www.facebook.com/sanimthooncafe/

Tel : 086-626-2475