SCB CIO Wealth Insight Ep.29

"ความเหมือนที่แตกต่าง ของนโยบายการเงิน ผลประกอบการ และนัยต่อการลงทุน"

share 27 กุมภาพันธ์ 2567

SCB Chief Investment Office (CIO) วิเคราะห์ประเด็นหลักที่มีผลต่อแนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก (Global Asset Allocation) ประกอบด้วย

  • ตลาดปรับความคาดหวังการลดดอกเบี้ยเข้าใกล้สัญญาณจาก Fed มากขึ้น ขณะที่เราคงมุมมองว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 3 และลดทั้งหมด 3 ครั้งในปี 2024 ด้านรัฐบาลจีนออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดทุนระลอกใหม่ ซึ่งเราคาดว่า จะมีมาตรการกระตุ้นทางการเงิน การคลัง และด้านอสังหาฯ เพิ่มในช่วงที่เหลือของปี ในส่วนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียราบรื่น นาย Prabowo Subianto มีแนวโน้มชนะจบในรอบแรก คาดว่าจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน โดยหลังประกาศผลเลือกตั้ง Fund Flow ไหลเข้าหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ของอินโดนีเซียอย่างมีนัย
  • S&P500 ส่งสัญญาณปรับฐานในช่วงสั้น ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้น ช่วงครึ่งหลังของเดือนก.พ. หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ ของเดือนม.ค. ออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์ แต่เรามองว่า เงินเฟ้อจะยังลดลงในปีนี้ แม้อาจไม่สม่ำเสมอ ขณะที่ตลาดแรงงานเริ่มเข้าสู่จุดสมดุล จะช่วยลดแรงกดดันการเพิ่มขึ้นของค่าแรงและเงินเฟ้อภาคบริการลง
  • ตลาดมองโลกในแง่ดี สะท้อนผ่านราคาดัชนีฯ ของตลาด DM สำคัญ อย่าง MSCI AC World, S&P 500, FTSE, NIKKEI 225 และ STOXX 600 ล้วนแตะหรือใกล้เคียงจุดสูงสุดตลอดกาล ขณะที่ MSCI Emerging Market ตัวแทนตลาด EM ยังถูกกว่าจุดสูงสุดกว่า 30% เรามองว่า ตลาด DM กำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาท้าทาย จากคาดการณ์รายได้ที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขัดแย้งกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ขณะที่ การเติบโตของต้นทุนแรงงานยังอยู่สูงกว่าการเติบโตของราคาผลผลิต อาจกดดันอัตรากำไรระยะถัดไป ซึ่งดัชนีฯ ยังไม่ได้ปรับราคาสะท้อนความเสี่ยงนี้
  • การประกาศกำไรกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ออกมาแข็งแกร่ง นำโดยหุ้น Nvidia หนุนมุมมองบวกของเราต่อภาพอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เราคาดว่า ยอดขายชิปเซมิคอนดักเตอร์จะเติบโตเร่งตัวขึ้นในปี 2024 ด้วยแรงขับเคลื่อนจาก 1) ความต้องการหน่วยความจำ (memory) ฟื้นตัว 2) ความต้องการชิปสำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังคงสูงต่อเนื่อง และ 3) สินค้า End-Consumer Product อย่างมือถือ PC Laptop เริ่มกลับมาเติบโตหลังผ่านช่วงการหดตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
  • เราปรับมุมมองหุ้นญี่ปุ่นเป็น Slightly Negative เนื่องจากมีโอกาสที่ตลาดฯ จะพักฐาน หรือ เสี่ยงถูกขายทำกำไรออกมา ปรับมุมมองหุ้นเวียดนามเป็น Slightly Positive โดยแนะนำการลงทุนกองทุนที่มีกลยุทธ์ Bottom-Up และรักษาสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตภายใต้เงื่อนไขตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น frontier market ที่ผันผวนได้สูง ส่วนหุ้นอินเดียและหุ้นไทย เรายังคงมุมมอง Slightly Positive รวมทั้งคงมุมมองหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป จีน และอินโดนีเซีย เป็น Neutral

 

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ในรายงาน Economics and Portfolio Strategy (EPS) ประจำเดือน ก.พ. 2024 ของ SCB CIO

#SCB #SCBCIO #INVESTMENT #WEALTH

 

สามารถฟังพอดแคสต์ช่องทางอื่นๆ ได้ที่นี่


ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง

ต่อยอดความมั่งคั่ง

เรื่องน่ารู้ก่อนการลงทุน

Read more