การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
จิตวิทยาหลอกลงทุน: กับดักที่ทำให้คนทั่วโลกสูญเงินมหาศาล
ลองนึกภาพว่าเรากำลังนั่งจิบกาแฟอยู่ริมหน้าต่างในวันที่อากาศดี พร้อมกับไถฟีดบนหน้าจอมือถือไปด้วย จู่ๆ ก็สะดุดกับโปรไฟล์ของดาราคนหนึ่งที่เราชอบ หรือโลโก้องค์กรใหญ่ที่คุ้นตามานาน มีข้อความชวนลงทุนในโอกาสดี ๆ ที่ไม่ควรพลาด ที่สำคัญ เริ่มต้นลงทุนก็ใช้เงินไม่มาก แต่ได้ผลตอบแทนค่อนข้างดีกลับมาในเวลาไม่นาน
ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราอาจสงสัยว่า “หลอกหรือเปล่า?” แต่เดี๋ยวนี้มิจฉาชีพมาพร้อมคลิปสัมภาษณ์คนดังในรายการจริงมีรีวิว มีหน้าม้า มีคนบอกว่าได้เงินจริง แถมยังใจดี มีเวลาคุย มีแชตกลุ่มให้ปรึกษาอีกต่างหาก พอตัดสินใจลอง ก็ได้เงินโอนเข้าบัญชีจริง ๆ นี่แหละ “ขั้นซื้อใจ”
มิจฉาชีพยุคใหม่ไม่เพียงแค่หลอก แต่วางแผนอย่างแยบยล มีจิตวิทยาในการเล่นกับความอยากมี อยากได้ หรือความต้องการสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อความมั่นคงทางการเงิน ผ่านการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น กองทุน หุ้น ทองคำ เงินดิจิทัล เงินตราต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าออนไลน์ หรือแม้แต่ “เงินกู้ที่ได้ง่ายกว่าปอกกล้วย” โดยเขายื่นข้อเสนอที่ช่วยให้ฝันเป็นจริงได้ง่ายขึ้น แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนมันเป็นฝันร้าย
จากที่เคยโอนให้เรา เขาเริ่มเร่งให้เราโอนคืน
“ขออีกนิด จะได้ถอนเงินแล้ว”
“ระบบขัดข้อง ต้องโอนเพิ่ม”
“ถ้าไม่รีบโอนตอนนี้ จะโดนภาษีย้อนหลังบ้าง จะไม่ได้เงินภายในวันนี้บ้าง”
จนเงินเริ่มหายไปทีละก้อน ทีละก้อน ความไว้ใจกลายเป็นความกลัว ความกลัวกลายเป็นความหวังเล็ก ๆ
ในการถอนทุนคืน ถ้าได้ลองอีกครั้ง นี่คือ “ขั้นเอาคืน”
จนมาถึง “ขั้นปิดงาน” ตอนนี้คนที่เคยอ้างว่าเป็นทีมงาน อาจารย์ หรือผู้รู้ จะทิ้งปัญหาทุกอย่างไว้ที่เรา แล้วหายไปพร้อมกับเงินของเรา ติดต่อไม่ได้ ไม่มีคำอธิบาย เหลือไว้เพียงบทเรียนที่เจ็บลึก และอาจจะไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง
ในโลกที่การ “ลงทุน” กลายเป็นเรื่องปกติ ความโลภไม่ใช่ศัตรูที่ร้ายที่สุด แต่คือ “ความเชื่อ” ที่ไร้การตรวจสอบต่างหาก ที่ทำให้ขาดการไตร่ตรองอย่างรอบด้าน
ทุกครั้งที่มีใครมาชวนลงทุน ลองถามตัวเองสักนิดว่า เราเชื่อเพราะคนที่มาชวนดูน่าเชื่อถือ หรือเพราะมันช่วยให้เรารวยได้เร็วขึ้นในเวลาไม่นาน?
ถ้าไม่แน่ใจ…หรือรู้สึกว่าเงินได้มาง่ายเกินไป ให้เอ๊ะ! ไว้ก่อน แล้วแวะเข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่หัวข้อผู้ลงทุน เลือกเมนู SEC Check First หรือ https://market.sec.or.th/LicenseCheck/Search จากนั้นลองค้นหาเบื้องต้นจาก ชื่อ-นามสกุล หรือ ชื่อบริษัท หรือ ชื่อผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจสอบดูก่อน แต่ถ้าอยากคุยสอบถามกับเจ้าหน้าโดยตรง ก็สามารถโทรไปสายด่วน ก.ล.ต. ได้ที่เบอร์ 1207 ได้เหมือนกัน
สำหรับลูกค้า SCB ที่ถูกหลอกโอนเงินไปแล้ว รีบแจ้งที่สายด่วน โทร 02-777-7575 ทันที จากนั้นค่อยเอาหมายเลขที่ธนาคารให้ไปแจ้งความต่อไป