การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการเงิน

ธนาคารไทยพาณิชย์ตระหนักถึงบทบาทการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการบรรเทาความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มประชากรในสังคมอันเนื่องมาจากการเข้าถึงบริการทางการเงิน จึงพยายามอย่างเต็มกำลังในการสนับสนุนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ผ่านการลงทุนและพัฒนาทางเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการภายใต้กรอบ “3Ps” (Product and Services, Partnership และ People Financial Literacy) เพื่อผลักดันการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลสู่การเป็นดิจิทัลแบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม และเติมเต็มช่องว่างการให้บริการสำหรับผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินและผู้ที่ยังไม่พร้อมใช้งานบนระบบดิจิทัล บนพื้นฐานความรู้และทักษะด้านการเงิน  

นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงผ่านแพลตฟอร์มและอุปกรณ์ดิจิทัล
นำเสนอผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม
ผนึกความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในการสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างทางการเงินและอำนวยความสะดวกในการให้บริการทางการเงินได้อย่างครอบคลุม
เสริมสร้างทักษะทางการเงินทั้งด้านการออม การบริหารหนี้ การลงทุน และการวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพให้กับลูกค้า คนในสังคม รวมถึงพนักงาน

ส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นด้านการส่งเสริมความรู้และสุขภาพทางการเงิน

ไทยพาณิชย์ ภารกิจพิชิตออม

การบริหารจัดการการเงินเป็นทักษะที่ควรได้รับการพัฒนาตั้งแต่วันเยาว์ เพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาในระดับบุคคลที่มั่นคงสู่สังคมและประเทศที่ยั่งยืน ธนาคารจึงได้ประสานความร่วมมือกับครูและโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเครือข่าย จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเงิน โดยมุ่งหวังให้ครูนำชุดกิจกรรมไปขยายผลในการจัดกระบวนการเรียนรู้ และสร้างวินัยทางการเงินให้กับนักเรียนผ่านสื่อและกิจกรรมผสมผสาน ได้แก่ เกม บอร์ดเกม และคลิปวิดีโอ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้รับความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ทั้งการแยกแยะ และการคิดวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น การตั้งเป้าหมายและการวางแผนการออม โดยมีการจดบันทึกรายรับ รายจ่ายในรูปแบบบัญชีแก้มลิง โดยในปี 2562-2566 มีคุณครูเข้าร่วมโครงการและนำไปขยายผลในโรงเรียนจำนวน 15,546 คน

โครงการ Smart University 

ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ธนาคารไทยพาณิชย์สนับสนุนโครงการ Smart University ด้วยเงินทุนกว่า 1,300 ล้านบาทในโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 10 แห่งในประเทศ เพื่อร่วมกันบูรณาการและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางด้านดิจิทัล เชื่อมโยงแพลตฟอร์มการบริหารจัดการ การเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐาน และการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลในมหาวิทยาลัยผ่านประสบการณ์จริง โดยให้นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ด้วยนวัตกรรมการเงินอันทันสมัย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเรียนอีกด้วย นับเป็นการนำเอาดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาสร้างประสบการณ์ที่ดีด้านการเงิน การเรียนและการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างเป็นรูปธรรม

ปี 2566 ธนาคารไทยพาณิชย์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฉลองความสำเร็จโครงการ “Digital Society @KU” ผลักดันระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลในรั้วมหาวิทยาลัย ภายใต้แนวคิด Smart University ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่างปี 2560-2565 โดยธนาคารไทยพาณิชย์ได้ร่วมพัฒนาระบบงานดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่งานภายในมหาวิทยาลัย อาทิ การพัฒนา KU Application, Access Control, Smart Locker และ Smart Car Park โครงการส่งเสริมสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจากการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดปัญหา PM 2.5 และ Global Warming เช่น การสนับสนุนรถ EV และแท่นชาร์จไฟฟ้าภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาระบบบุคคลากรต่างๆ ทั้ง HR System ระบบการจัดการเงินเดือน (KU Smart P), Student Solution, Employee Solution เพื่อรองรับการให้บริการด้านการเงิน ผลักดันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก้าวสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างเต็มตัว

ปี 2566 ธนาคารไทยพาณิชย์ผนึกมหาวิทยาลัยมหิดล สานต่อ Mahidol DCU สู่ต้นแบบมหาวิทยาลัยดิจิทัลชั้นนำโลก โดยสานต่อความร่วมมือผ่านการลงนามบันทึกความร่วมมือ (มีนาคม 2566 - มีนาคม 2571) เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลของธนาคารมาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มและโซลูชั่นด้านการศึกษาให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปี (2561-2566) ที่ธนาคารไทยพาณิชย์และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มความร่วมมือในการสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ตลอดจนพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การเป็น “Smart University” ผ่านโครงการหลักๆ ประกอบด้วย โครงการ Intelligence Library โครงการ Financial Literacy โครงการ Cross Campus โครงการ Higher Education Technical & Development และ MU Application & Big Data และ Financial Services ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยสร้างศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถรับความท้าทายในยุควิถีปกติใหม่ได้เป็นอย่างดี

ปี 2564 ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบบหลักสูตรออนไลน์ ‘SCB University Project’ อัพสกิลการเป็นผู้ประกอบการ ระดมกูรูเจ้าของธุรกิจตัวจริงถ่ายทอดประสบการณ์และยุทธวิธีทำธุรกิจในยุคนิวนอร์มอลให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย หวังสร้างสตาร์ทอัพและเจ้าของธุรกิจในยุคดิจิทัล

ปี 2563 ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัว “Rama App” รามาธิบดีแอปพลิเคชัน โฉมใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ นัดหมาย-จ่ายเงิน-รับยา-ง่ายครบ-จบในแอปเดียว ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถตอบโจทย์การทำธุรกรรมทางการเงินและธุรกรรมทางการแพทย์ ในแอปเดียว นับเป็นนวัตกรรมครั้งสำคัญในโรงพยาบาลที่สามารถทำธุรกรรมทางการแพทย์ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งทำให้ชีวิตง่ายขึ้นตลอดการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล

ปี 2563 ธนาคารไทยพาณิชย์ จับมือ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เปิดตัว “ม.อ. แคร์พลัส” แอปพลิเคชันโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) นำเทคโนโลยีผสานนวัตกรรมทางการเงินมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้มารับบริการด้านสุขภาพ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถติดต่อกับโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบสิทธิการรักษา แจ้งเตือนการนัดหมายล่วงหน้า มีการบันทึกข้อมูลสุขภาพ มีปฏิทินตารางการนัด และชำระเงินค่ารักษาได้บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ยกระดับคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลเทียบเท่าสากล

ปี 2562 ธนาคารไทยพาณิชย์ จับมือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดตัวโครงการ UBU Smart University ต้นแบบสังคมไร้เงินสดของภาคอีสาน ภายใต้โครงการ Smart University

ปี 2562 ธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง คว้ารางวัลระดับโลก Efma-Accenture Distribution & Marketing Innovation Awards 2018 โดยเป็นธนาคารไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้าย จากผลงานอันโดดเด่นภายใต้โครงการ “Smart University” ที่ได้บูรณาการและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางด้านดิจิทัล เชื่อมโยงแพลตฟอร์มการบริหารจัดการการเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐาน และการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลในรั้วมหาวิทยาลัยผ่านประสบการณ์จริง

ปี 2562 ธนาคารไทยพาณิชย์ จับมือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เดินหน้าสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัล ผลักดันโครงการ “Siriraj Smart Hospital” เพื่อประชาชน มุ่งเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสุขภาพ เข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0 ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการมารับบริการและการบริหารจัดการตนเองให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมเปิดตัวสองเครื่องมือสำคัญที่จะมาเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสุขภาพเพื่อประชาชน ได้แก่ แอปพลิเคชัน “Siriraj Connect” และ “Self-Payment Kiosk” ตู้จ่ายเงินอัจฉริยะ ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้ว ยังเป็นการขานรับนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 และร่วมสร้างระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

ปี 2561 ธนาคารไทยพาณิชย์ จับมือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สร้างสังคมไร้เงินสดขานรับยุคดิจิทัล 4.0 ภายใต้แนวคิด “Smart University” เพื่อผลักดันและสร้างต้นแบบของสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society พร้อมทั้งสร้างองค์ความรู้ร่วมกันพัฒนา Ecosystem ทางด้านดิจิทัลภายในสถาบันการศึกษา ด้วยการให้บริการจัดทำบัตร SCB Smart ID Card และบริการจัดการทางการเงินสำหรับนิสิต และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ตลอดจนพัฒนาพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้ง Too Fast To Sleep, SCB Business Center, Trading Lab & Investment Center เพื่อเป็นสังคมต้นแบบของเมืองไทย ที่พร้อมรับการเข้ามาของกระแสดิจิทัลเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ตัวอย่าง Application ที่ธนาคารไทยพาณิชย์จัดทำให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ