การบริหารประสิทธิภาพเชิงนิเวศ

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษา สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนการดำเนินงาน 

ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่ได้รับมาตรฐานสากล 
 สำหรับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001: 2015 

ในปี 2564 ธนาคารไทยพาณิชย์ประสบความสำเร็จเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001:2015 จากการปฏิบัติที่สอดคล้องตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม โดย

  • กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความชัดเจน
  • มีแผนงานและเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบาย
  • ส่งเสริมการปฏิบัติตามแผนงาน โดยมีโครงสร้างการกำกับดูแลและหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ พร้อมจัดฝึกอบรมและสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร
  • ติดตาม ตรวจสอบ และวัดผลการดำเนินงานเปรียบเทียบกับแผนงาน
  • ทบทวนและปรับปรุงการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง

เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการดำเนินงานของบริษัทจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและบุคลากรรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ ธนาคารไทยพาณิชย์จึงไม่เพียงปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด หากยังส่งเสริมการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมด้วย 

แนวทางการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการองค์กรตามหลักประสิทธิภาพเชิงนิเวศ โดยส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า และการจัดการของเสียให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลัก 3Rs ได้แก่ ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ซํ้า (Reuse) และแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) นอกจากนี้ จากการดำเนินนโยบาย Work from Anywhere ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์สามารถลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Scope 1) และทางอ้อม (Scope 2) ลดการใช้น้ำ และลดปริมาณของเสียได้อย่างต่อเนื่อง 

การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจผ่านการบริหารประสิทธิภาพการใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ

  • การใช้หลอดไฟประหยัดพลังงานในอาคารสำนักงาน
  • การปรับระบบการทำงานของลิฟท์และระบบปรับอากาศแบบ Heating Ventilation and Air Conditioning (HVAC)
  • การเปลี่ยนระบบคูลลิ่งทาวเวอร์ ซึ่งช่วยลดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ

ลดปริมาณขยะฝังกลบ

ธนาคารไทยพาณิชย์ส่งเสริม ‘การลดและการคัดแยกขยะ’ เพราะทราบดีว่าเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน จากการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่นำไปจำกัดโดยวิธีการฝังกลบ และเพิ่มการนำขยะไปใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle)

  •  รักษ์ต้องเลิก  รณรงค์ให้พนักงานงดใช้ภาชนะพลาสติก 5 ประเภทหลัก  สามารถลดปริมาณขยะขวดพลาสติกได้ถึง 80% 
  •  Zero Food Waste  หนึ่งในสาเหตุของภาวะโลกร้อน คือ อาหารที่เหลือทิ้งหรือขยะอาหารที่ส่วนใหญ่ถูกกำจัดโดยวิธีการฝังกลบ ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซมีเทน ธนาคารไทยพาณิชย์จึงนำเครื่องย่อยสลายเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยมาใช้มาใช้จัดการเศษอาหารทั้งหมดที่เกิดขึ้นในศูนย์อาหารแต่ละวัน และนำปุ๋ยที่ได้ไปบำรุงต้นไม้รอบสำนักงานและมอบให้พนักงานหรือบุคคลที่สนใจ นับตั้งแต่เริ่มโครงการ  สามารถนำขยะอาหารมากกว่า 44,900 กิโลกรัม เปลี่ยนเป็นปุ๋ยได้แล้วกว่า 11,125 กิโลกรัม 
  •  แยกก่อนทิ้ง  ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ ด้วยการติดตั้งชุดถังแยกประเภทขยะ ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะติดเชื้อ ซึ่งรวมถึงขยะผ้าอนามัยและหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว พร้อมรณรงค์ให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน ตลอดจนหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ส่งเสริมยานยนต์พลังงานสะอาด

ธนาคารไทยพาณิชย์สนับสนุนนโยบายของประเทศในการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยได้นำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV SHUTTLE BUS) มาใช้ในการรับ-ส่งพนักงานระหว่างสำนักงานใหญ่และสถานีรถไฟฟ้า BTS/ MRT นอกจากนี้ ยังได้ปรับเปลี่ยนรถผู้บริหารเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนช่วยลดการใช้น้ำมันได้ราว 400,000 ลิตร ในระยะเวลา 5 ปี คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้มากกว่า 500 ตันคาร์บอนไดอกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 18 ไร่

สนับสนุนห่วงโซ่อุปทานสีเขียว

ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกับคู่ค้าธุรกิจในการบริหารผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งกำหนดให้คู่ค้าธุรกิจทุกรายลงนามรับทราบจรรยาบรรณคู่ธุรกิจธนาคารฯ  (SCB Supplier Code of Conduct) ซึ่งระบุแนวปฏิบัติที่ดีตามข้อกำหนดกฎหมาย คำนึงถึงการบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน

การจัดงานพิเศษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ธนาคารไทยพาณิชย์ยังกำหนดให้ผู้รับเหมาจัดงานพิเศษที่เข้ามาจัดกิจกรรมหรือจำหน่ายสินค้าภายในพื้นที่อาคารสำนักงานจะต้องเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ผู้รับเหมาจัดงานพิเศษจะต้องทำการคัดแยกขยะตามประเภทขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอินทรีย์ ก่อนนำทิ้งในจุดที่กำหนดไว้ หากฝ่าฝืนจะมีการลงโทษตามที่ระเบียบ

งดใช้ภาชนะพลาสติก 5 ประเภทหลัก