ทำอย่างไร เมื่อเราหลงกลให้ข้อมูลส่วนตัวกับมิจฉาชีพไป (Phishing)

การหลอกลวงเพื่อโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว หรือที่เรียกกันว่า ฟิชชิ่ง (Phishing) ในปัจจุบันมีเทคนิคและรูปแบบในการหลอกลวงที่แนบเนียนมากขึ้น ทั้งเว็บไซต์ปลอมหลอกให้ลงทะเบียนเพื่อกรอกข้อมูลส่วนตัว, SMS ปลอม โดยหลอกให้กลัว หลอกให้ดีใจ หลอกให้สงสัย หรือใช้กลเม็ดต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เหยื่อคลิกลิงก์อันตราย เป็นต้น ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดี รู้ตัวอีกที เราก็อาจจะเผลอกรอกข้อมูล หรือรหัสเข้าใช้งานต่างๆ ให้กับมิจฉาชีพไปหมดแล้วก็เป็นได้ คำถามต่อไปที่จะผุดขึ้นในใจของเราก็คือ “แล้วเราจะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง?” และ “แล้วเราต้องแก้ไขอย่างไร?”  ไปดูกันเลย

ผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

1.  เงินหายไปจากบัญชี
เมื่อเราถูกหลอกให้เข้าใจผิดว่ากำลังล็อกอินเข้าใช้งานในบัญชีของธนาคาร หรือองค์กรที่เราคุ้นเคย หมายความว่า เราได้ให้รหัสผ่านกับมิจฉาชีพไปแล้ว และมิจฉาชีพก็จะไม่รีรอในการนำข้อมูลที่ได้ไปทำธุรกรรมต่าง ๆ แทนเรา เช่น โอนเงินออกจากบัญชีของเราไปยังบัญชีม้า หรือบัญชีที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นเพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบไปถึงผู้กระทำผิดที่แท้จริง
 

2. ถูกนำข้อมูลบัตรไปลงทะเบียนซื้อของออนไลน์
เมื่อเราถูกฟิชชิ่งข้อมูลบัตรเครดิต/เดบิต ทั้งหมายเลขหน้าบัตร วันที่บัตรหมดอายุ (Exp.) และเลข CVV หลังบัตร มิจฉาชีพจะนำบัตรเราไปลงทะเบียนซื้อของออนไลน์ หรืออาจซื้อของผิดกฎหมาย ทำให้เหยื่อเป็นหนี้หรือมีความผิดโดยไม่รู้ตัว
 

3.  สร้างบัญชีปลอม ไปทำธุรกรรมอื่น ๆ
เมื่อเราถูกฟิชชิ่งข้อมูลส่วนบุคคลไป มิจฉาชีพอาจนำข้อมูลเราไปสร้างบัญชีปลอม ทำธุรกรรมหรือสมัครสินเชื่อต่าง ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว

ข้อควรปฏิบัติเมื่อรู้ตัวว่าให้ข้อมูลกับมิจฉาชีพไปแล้ว

1.  เปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ ทั้งหมด

หากมีการใช้ชื่อผู้ใช้ (User) หรือ รหัสผ่าน (Password) เดียวกันในระบบอื่น ๆ ก็ควรเปลี่ยน รหัสผ่าน (Password) ให้ครบทุกระบบ เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยมีเทคนิคการตั้งรหัสผ่านใหม่ง่ายๆ 2 ข้อดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ ชื่อภาษาอังกฤษ, เลขบัตรประชาชน, วัน/เดือน/ปี เกิด, เลขเรียง และ เลขซ้ำกันเกิน 3 ตัว (เลขตอง) เป็นส่วนประกอบในการตั้งรหัส

  • ตั้งรหัสผ่านใหม่ให้แตกต่างกันในแต่ละระบบ


2. ระงับการใช้บัตรเดบิต/บัตรเครดิต (กรณีให้ข้อมูลบัตรไป)  

กรณีลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถอายัดบัตรชั่วคราวได้ด้วยตัวเองผ่านแอป SCB EASY หรือผ่านทาง SCB Call Center โทร. 02-777-7777


3. ติดต่อศูนย์ดูแลลูกค้าจากภัยออนไลน์ 

ลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ที่ต้องการแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ สามารถติดต่อ SCB Hotline ได้ที่ โทร. 02 -777-7575 ตลอด 24 ชั่วโมง


4. รวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความ

นอกเหนือจากการแจ้งอายัดบัญชีชั่วคราวแล้ว ให้รวบรวมหลักฐานแจ้งความที่สถานีตำรวจ ตามคำแนะนำของ Call Center ธนาคารให้เร็วที่สุด โดยมีเทคนิคการแจ้งความดังต่อไปนี้

  • แจ้งความที่สถานีตำรวจในบริเวณใกล้เคียง โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า ขอแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกรณีหลอกลวง... (ตามหัวข้อที่โดนทุจริต) และ ขอแจ้งความเพื่อขอออกหมายเรียกพยานเอกสาร” 

  • ให้เจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกพยานเอกสาร ให้ครอบคลุมความเสียหายให้ได้มากที่สุด โดยต้องมีคำว่า “ให้ดำเนินอายัดบัญชีเงินฝากดังกล่าวทั้งหมด และหากตรวจสอบพบว่าเงินที่ผู้เสียหายแจ้งถูกโอนออกไปยังบัญชีอื่นของธนาคาร ขอให้ทำการอายัดบัญชีที่รับโอนเงินดังกล่าวทุกบัญชี ” อยู่ในหมายเรียกพยานเอกสารด้วย

  • ให้เจ้าหน้าที่ระบุข้อมูลที่ต้องการนำไปประกอบการพิจารณาคดี เช่น ขอรายการเคลื่อนไหวทางบัญชี,ข้อมูลบัญชีที่รับโอนเงิน,ช่องทางการโอนเงิน,ขอเอกสารคำขอเปิดบัญชี,ขอภาพถ่ายกล้องวงจรปิดหน้าตู้เอทีเอ็ม,สาขา/สถานที่ตั้งตู้,หมายเลขตู้เอทีเอ็ม เป็นต้น

5.  ส่งเอกสารหมายเรียกพยานเอกสารให้ธนาคาร
เมื่อได้รับหมายเรียกพยานเอกสารเรียบร้อยแล้ว ขอให้รีบส่งเอกสารโดยเร็วที่สุด

  • เริ่มจากส่งสำเนาหมายเรียกพยานเอกสารให้ Call Center ก่อน กรณีเป็นบัญชี SCB ส่งมาได้ที่ Email : dcu@scb.co.th

  • จากนั้นติดต่อสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ได้แจ้งประสานงานกับเจ้าหน้าที่เอาไว้ เพื่อส่งหมายเรียกพยานเอกสารฉบับจริงให้กับธนาคารดำเนินการต่อไป