คิดจะลงทุน ต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง

เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘ รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ’ มากันบ้าง ซึ่งผู้ที่กล่าวคำกล่าวนี้ ก็คือซุนวู ซึ่งเป็นนักการทหารและนักปกครองชั้นเลิศสมัยชุนชิว ประเทศจีน ซึ่งหมายความว่า ‘ไม่ว่าการจะทำการใดก็ตาม เราต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักทั้งตนเองและฝ่ายตรงข้ามให้เป็นอย่างดี นั่นย่อมจะทำให้ ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใด เราก็จะไม่มีทางเสียท่าต่ออีกฝ่าย’


ซึ่งเราสามารถประยุกต์ใช้คำกล่าวนี้ในการลงทุนได้ด้วย โดย ‘รู้เรา’ คือ การรู้จักตัวเอง รู้ว่าเป้าหมายการลงทุนของเราคืออะไร เรามีระยะเวลาการลงทุนนานแค่ไหน และเรามีความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด ส่วน ‘รู้เขา’ คือ การรู้จักสินทรัพย์การลงทุนประเภทต่างๆ ว่ามีความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นเช่นไร ตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนของเราหรือไม่ รวมไปถึงมีความรู้ ความเข้าใจในภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเราได้ นั่นหมายความว่า ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุน เราต้องมีความรู้ในเรื่องต่างๆ ดังนี้

  • เป้าหมายการลงทุน เราต้องรู้ว่า เป้าหมายในการลงทุนของเราคืออะไร เช่น รักษาเงินต้นให้ปลอดภัย เพิ่มมูลค่าของเงินอย่างน้อยให้ชนะเงินเฟ้อ เพื่อรักษาอำนาจซื้อ หรือเพื่อให้เงินงอกเงยเติบโต เพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เพื่อการศึกษาของบุตร เพื่อการเกษียณอายุ เป็นต้น


  • อัตราผลตอบแทนคาดหวังที่ต้องการ ในการบรรลุเป้าหมายการลงทุนนั้นๆ เป็นเท่าไร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า เรามีเงินลงทุนเบื้องต้นอยู่เท่าใด มีระยะเวลาการลงทุนนานหรือไม่ และเรามีเงินที่จะสามารถออมเพิ่มเพื่อนำมาลงทุนเพิ่มได้หรือไม่


  • ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง (ability to take risk) และความยินดีในการรับความเสี่ยง (willingness to take risk) ซึ่งสองสิ่งนี้มีความแตกต่างกัน โดยปัจจัยที่กำหนดความสามารถในการรับความเสี่ยง เช่น อายุ  รายได้ และระยะเวลาการลงทุน ในขณะที่ความเต็มใจในการรับความเสี่ยง คือ ทัศนคติ ความชอบหรือความสนใจในสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภท


โดยความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงจะบอกว่า เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดได้บ้าง ขณะที่ความเต็มใจในการรับความเสี่ยงจะบอกว่า เราเหมาะกับสินทรัพย์ประเภทนั้นๆ หรือไม่ เช่น คนวัยหนุ่มสาวเป็นวัยที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างหุ้น กองทุนรวมหุ้น อย่างไรก็ตาม หากไม่ยินดีที่จะรับความเสี่ยงที่มากไปนัก ก็จะเหมาะกับการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้ ดังนั้น ทำความรู้จักตัวเองก่อนลงทุนสักหน่อย ยอมรับและเต็มใจรับความเสี่ยงหรือการขาดทุนได้แค่ไหน จะได้เลือกสินทรัพย์ลงทุนได้เหมาะสมกับตัวเราให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

  • รู้จักและเข้าใจในสินทรัพย์ที่จะลงทุน เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองสนใจในสินทรัพย์ลงทุนประเภทใด ควรถามตัวเองก่อนลงทุนว่า มีความเข้าใจในสินทรัพย์นั้นมากน้อยเพียงใด ทั้งผลตอบแทน ความเสี่ยง วิธีการซื้อขาย หากยังไม่รู้หรือไม่แน่ใจ ควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ลงทุนประเภทนั้นๆ ให้ดีเสียก่อน เช่น หากสนใจลงทุนในกองทุนรวม ก็ควรอ่านหนังสือชี้ชวนเพื่อศึกษาว่า กองทุนรวมที่เราสนใจนั้นมีนโยบายการลงทุนอย่างไร ลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง มีนโยบายจ่ายเงินปันผลหรือไม่ มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ตรงกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของเราหรือไม่การศึกษาทำความเข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแม้ว่าตัวเราจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่หากลงทุนด้วยความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์มากเท่าใด ยิ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญ ห้ามลงทุนในสิ่งที่เราไม่มีความรู้หรือความเข้าใจโดยเด็ดขาด


  • การลงทุนประเภทใดบ้างที่ต้องเสียภาษี & ไม่ต้องเสียภาษี

    • การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินทุกประเภทที่ให้ผลตอบแทนที่อยู่ในรูปของดอกเบี้ย เช่น เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ โดยดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%


    • การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินทุกประเภทที่ให้ผลตอบแทนที่อยู่ในรูปของเงินปันผล เช่น หุ้นสามัญ และกองทุนรวมที่จ่ายเงินปันผล โดยเงินปันผลที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%


    • Capital Gain หรือ ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ คือ รูปแบบของกำไรที่ได้มาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่า เกิดเป็นกำไรส่วนเกินของทุน กำไรที่ได้จาก Capital Gain ถูกเรียกเก็บภาษีในบางประเทศ (Capital Gains Tax) ส่วนในประเทศไทยนั้น เงินได้จากการขาย หรือโอนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีการเรียกเก็บภาษี ส่วนในกรณีที่เป็นการขายหรือโอนหลักทรัพย์นอกตลาด ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีจะต้องเสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีก้าวหน้า และต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณตอนสิ้นปีด้วย ส่วน Capital Gain จากการลงทุนในกองทุนรวม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี


นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนควรมี คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจ การที่เราจะประสบความสำเร็จในเรื่องใดๆ ก็ตาม ตัวเราเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด แม้ว่าแผนการลงทุนที่ได้วางไว้จะดีเพียงใดก็ตาม แต่หากขาดความมุ่งมั่นตั้งใจ ขาดวินัย และขาดความอดทนในการออมการลงทุนแล้ว การไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเมื่อตั้งเป้าหมายการเงินของตัวเองได้แล้ว ขอให้รีบลงมือทำตามแผน อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะจะทำให้เราอาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้


เมื่อเริ่มลงทุนแล้ว ควรมีการประเมินและทบทวนแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วย เช่น ทุก 6 เดือน หรือ 12 เดือน หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของการลงทุน เช่น ภาวะตลาดหุ้นผันผวน หรือการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย เพื่อปรับปรุงแผนการลงทุนของเราให้สอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบัน กล่าวโดยสรุปหากเรามีการวางแผนการลงทุน มีวินัยในการลงมือทำตามแผน และมีการทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จทางการเงินตามที่ตั้งใจไว้ ก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม


บทความโดย   นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®   นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร