ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
21-05-2568
ก้าวสำคัญของนครโฮจิมินห์
วันที่ 22 ธันวาคม 2567 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของนครโฮจิมินห์ เมื่อรถไฟฟ้าสายแรกเปิดให้บริการหลังจากได้รับการอนุมัติเมื่อ 17 ปีก่อน โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 12 ปี และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบขนส่งในเมือง ไม่เพียงช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง แต่ยังเป็นโอกาสใหม่สำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการขยายธุรกิจสู่เวียดนาม
โครงสร้างและเส้นทางของรถไฟฟ้าสายแรก
เส้นทางรถไฟฟ้านี้มีระยะทาง 19.7 กิโลเมตร ประกอบด้วย 14 สถานี เริ่มต้นที่สถานีเบนถั่นใจกลางเมืองซึ่งอยู่ใกล้ตลาดชื่อดัง ไปจนถึงเขตชานเมืองถูดึ๊ก โดยแบ่งเป็น 3 สถานีใต้ดินและ 11 สถานีลอยฟ้า ทำให้การเดินทางจากตัวเมืองสู่พื้นที่ชานเมืองสะดวกขึ้น
ราคาค่าโดยสารอยู่ระหว่าง 7,000 – 20,000 ดอง (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 9-27 บาท) ขึ้นอยู่กับระยะทาง ขณะที่ผู้สูงอายุและผู้พิการสามารถใช้บริการได้ฟรี นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมต่อกับรถบัสไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ 05.00 น. ถึง 22.00 น.
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
โครงการรถไฟฟ้าสายนี้ไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงศักยภาพของเวียดนามในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 43.7 ล้านล้านดอง ในขณะที่จีนมีบทบาทสำคัญในโครงการรถไฟใต้ดินของกรุงฮานอย
การเปิดตัวรถไฟฟ้าสายแรกยังส่งสัญญาณถึงการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจ ญี่ปุ่นและจีน ที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนาม นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีแผนสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเพิ่มเติมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ รวมถึงโครงการเชื่อมระหว่างกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์
โอกาสทางธุรกิจสำหรับนักลงทุนไทย
การเปิดใช้ระบบขนส่งมวลชนใหม่นี้เปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยในหลากหลายอุตสาหกรรม
อสังหาริมทรัพย์: พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้ามีศักยภาพสูงสำหรับโครงการที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน
ค้าปลีกและการท่องเที่ยว: การเดินทางที่สะดวกขึ้นช่วยกระตุ้นธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม และสถานบันเทิง นักลงทุนไทยสามารถใช้โอกาสนี้ขยายธุรกิจในภาคบริการ
โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี: บริษัทไทยที่เชี่ยวชาญด้านก่อสร้างและสมาร์ทซิตี้ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาเมืองเพิ่มเติม
การค้าและโลจิสติกส์: ระบบขนส่งที่พัฒนาแล้วช่วยให้การนำเข้า-ส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุปโภคบริโภค
การเปิดตัวรถไฟฟ้าสายแรกของนครโฮจิมินห์จึงเป็นมากกว่าการพัฒนาระบบขนส่ง แต่เป็นก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนไทยที่ต้องการขยายธุรกิจสู่เวียดนาม ในขณะที่เวียดนามกำลังก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการสร้างความร่วมมือและขยายธุรกิจเพื่อการเติบโตร่วมกันในอนาคต
ลูกค้าที่สนใจประกอบธุรกิจใน CLMV หรือประเทศเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาต่างประเทศที่พร้อมจะดูแลและให้บริการ สนใจติดต่อ https://www.scb.co.th/en/corporate-banking/international-network.html
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโฮจิมินท์ซิตี้ เวียดนาม https://www.scb.co.th/vn/corporate-banking.html
ข้อมูลอ้างอิง