MISSION X: รู้โลก รู้เขา รู้เรา ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด
รู้ทันโลก เท่าทันเพื่อนบ้าน เข้าใจจุดอ่อน-จุดแข็งของประเทศไทย สิ่งที่นักธุรกิจต้องรู้ให้ไว เพื่อปรับตัวได้ทันท่วงทีในโลก Business 4.0 คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการ กรรมการเทคโนโลยี และกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มาให้ความรู้และมุมมองในพิธีเปิดหลักสูตร Mission X รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ทั้งภาพรวมของธุรกิจระดับโลก ระดับภูมิภาค จุดแข็ง จุดอ่อนของประเทศไทย และการพัฒนาศักยภาพให้ภาคธุรกิจไทยอยู่รอดในโลกที่ต้องเปลี่ยนองค์กรให้เป็น Exponential Organization โดยในการบรรยายสามารถแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
“Mindset เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการจะทำอะไรทั้งหมด ถ้า Mindset ไม่เปลี่ยน Top management ไม่เปลี่ยน การจะนำองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลง สู่การใช้เทคโนโลยี เป็นนักรบเทคโนโลยีก็จะยากมาก” คุณจรีพรกล่าวเปิดการบรรยาย
ส่วนที่ 1 – The Global and Regional Outlook
Global Key Challenges in Year 2020
Trade War
ในช่วงแรก หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า Trade war อาจจบในระยะเวลาอันสั้น แต่จากการวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีหมูสามชั้นซึ่งประกอบไปด้วย Trade War, Tech War, Security War แล้วจึงพบว่าสงครามการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นประเด็นการต่อสู้เชิงกลยุทธ์ระยะยาว ดังเช่นประเด็นที่สหรัฐอเมริกา แบน Huawei ที่หากมองผิวเผินจะเป็นเรื่องราวของวงการสมาร์ทโฟนแต่ที่จริงแล้วกลับแฝงนัยยะมากไปกว่านั้น และเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงจึงเป็นสมรภูมิที่ไม่มีใครยอมใคร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างหลีกหนีไม่ได้ ดังนั้นการปรับตัวเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามผลกระทบก็ต่างกันไปในแต่ละภาคธุรกิจ เช่น ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากการย้าย/ กระจายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังประเทศปลายทางที่ใกล้กับแหล่งผลิต/ ตลาดผู้บริโภค หรือกลับมาอยู่ภายในภูมิภาคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจจากจีนเองหรือบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศจีน เนื่องจากเริ่มมองเห็นภาพที่ไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ทางการเมือง ทั้งนี้ Trade war ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้นักลงทุนวางแผนกระจายการผลิตแต่เป็นเพียงตัวเร่งที่ทำให้เกิดเร็วขึ้นเท่านั้น ดังเห็นได้จากการเปรียบเทียบในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนที่จีนจำนวนมากเพราะกำลังซื้อมีมหาศาล ต้นทุนแรงงานถูก กฎระเบียบไม่เคร่งครัด แต่เมื่อหลายปีที่ผ่านมาพบว่าจีนมีการศึกษาเรื่องหุ่นยนต์อย่างจริงจังทั้งๆ ที่จีนมีประชากรจำนวนมหาศาลเพราะเขามองภาพออกว่าแรงงานนั้นไม่ใช่ข้อได้เปรียบของประเทศจีนอีกต่อไป เนื่องจากภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันค่าแรงและค่าครองชีพในเมืองอุตสาหกรรมของประเทศจีนมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเผชิญกับกฎระเบียบและมาตรการควบคุมของภาครัฐที่ค่อนข้างเข้มงวดจึงทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศใกล้โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีประเทศไทยและประเทศเวียดนามเป็นหลัก
The Future is Asian
สืบเนื่องจากการโยกย้ายการลงทุนจากประเทศแถบตะวันตกมายังประเทศแถบตะวันออก หากพิจารณาถึงสาเหตุของการโยกย้ายดังกล่าวจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พบว่าในปัจจุบันประเทศที่มีมูลค่าของ GDP สูงสุด ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่ Purchasing Power Parity (PPP) ซึ่งแสดงถึงกำลังซื้อของประชากรในประเทศ จะพบว่าประเทศที่มีมูลค่า PPP สูงสุดคือประเทศจีน ตามมาด้วย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศรัสเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ตามลำดับ จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าปัจจุบันประเทศที่มีกำลังซื้อสูงลำดับต้นๆ ล้วนเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังได้เปลี่ยนแนวความคิดในอดีตจากที่เคยเชื่อว่าประเทศที่มีประชากรมากเป็นภาระของโลกเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูงมากนั่นเอง
ในขณะที่ประเทศในแถบตะวันตกเองต่างต้องเผชิญกับปัญหามากมาย รวมถึงปัญหาประชากรวัยแรงงานไม่มีแรงขับในการทำงานหนักเนื่องจากภาครัฐให้สวัสดิการที่ดีเสมอมา นอกจากนี้รัฐบาลยังมีกฎหมายปกป้องธุรกิจในประเทศส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่อยากเข้าลงทุนในกลุ่มประเทศดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ประเทศในแถบตะวันตกจึงมีความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำ หากมองย้อนกลับไปในอดีตประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถควบคุมประเทศญี่ปุ่นและนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีความพยายามที่จะควบคุมประเทศจีนในแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวนั้นสำเร็จได้ยาก เนื่องจากประเทศจีนใหญ่กว่าประเทศญี่ปุ่นมากทั้งในแง่ของจำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันประเทศฝั่งตะวันตกก็มีปัญหาเรื้อรัง ส่งผลให้ตลาดเอเชียยิ่งจะมีบทบาทในเวทีการค้าโลกและเป็นตลาดที่นักธุรกิจ/ นักลงทุนต่างต้องให้ความสำคัญหากต้องการขยายธุรกิจในอนาคตอีกด้วย
Belt and Road Initiative (BRI)
อนาคตคือเอเชีย โดยมีประเทศจีนเป็นตัวขับเคลื่อน ประเทศจีนได้พัฒนาโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการเชื่อมต่อประเทศจีนกับอีก 70 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากประเทศจีนนั้นมีกำลังการผลิตมหาศาลและต้องการขยายกำลังการผลิตออกไปยังต่างประเทศ โครงการดังกล่าวก็ได้สร้างความกังวลให้กับหลายประเทศว่าหากโครงการนี้สามารถพัฒนาได้สำเร็จประเทศจีนก็จะสามารถนำสินค้าเข้ามาขายแข่งกับสินค้าในประเทศตนเอง อย่างไรก็ตาม คุณจรีพรก็ได้ย้ำให้ผู้ประกอบการไทยคิดในมุมกลับและส่งเสริมให้ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากระบบการขนส่งที่ประเทศจีนพัฒนาขึ้นมาด้วยเงินลงทุนมหาศาลนี้ อาทิ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยก็จะสามารถใช้เส้นทางตรงนี้ในการส่งสินค้าไปขายได้ทั่วโลกได้เช่นกัน
สำหรับโครงการ BRI นี้ประเทศจีนวางแผนพัฒนาเมืองคุณหมิงเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยที่จะสามารถส่งสินค้าจะออกไปทางด้านจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนองได้ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อด้านการขนส่งได้ทั้งทางอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันอีกด้วย การเชื่อมโยงดังกล่าวส่งผลให้สามารถประหยัดเวลาการเดินทางได้ถึง 3-4 วัน ช่วยลดต้นทุนทาง Logistics ลงได้อีกด้วย สำหรับภาพการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามแผนการเดินรถของโครงการ BRI ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อและกระจายสินค้าของภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศที่อยู่กลางภูมิภาคนี้นั่นเอง แม้ประเทศไทยจะมีข้อเสียเปรียบอยู่บ้าง อาทิ ต้นทุนค่าแรงที่แพงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และจำนวนแรงงานที่ไม่มากและกำลังพัฒนาไปสู่ Aging Society เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยนั้นถือว่ามีความพร้อมกว่าหลายๆ ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ประเทศไทยให้กับนักลงทุนต่างชาตินั่นก็ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงถือเป็น Logistics Hub ที่มีความสำคัญและนับเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดประเทศหนึ่งของภูมิภาคนี้นั่นเอง การที่บริษัท e-Commerce รายใหญ่ ตัวอย่างเช่น Alibaba, JD.com, Shopee ยังต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานด้าน Logistics ของภูมิภาคนี้ ไม่เพียงแต่ตอกย้ำความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย อีกทั้งยังแสดงถึงความพร้อมด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่สูงมากด้วยเช่นกัน
คุณจรีพรยังได้เล่าต่อว่า เมื่อสองสามปีก่อนที่ Jack Ma นักธุรกิจชาวจีนผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา กำลังพิจารณาการเข้าลงทุนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย โดย Jack Ma เองก็ได้เจรจาขอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนกับทั้งสองประเทศเช่นเดียวกัน สำหรับประเทศไทยเองก็ต้องให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจำนวนมากเพื่อดึงดูดการลงทุนของกลุ่มอาลีบาบาให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย หากเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียแล้ว ประเทศไทยเองก็ถือว่ามีความได้เปรียบในหลายด้าน อาทิ ยุทธศาสตร์ที่ตั้ง และคุณภาพของสินค้า/ บริการ เป็นต้น แม้หลายฝ่ายอาจมองว่าประเทศมาเลเซียมีมูลค่า GDP ที่สูงกว่าและมีการพัฒนาของประเทศที่ก้าวหน้ากว่าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากตัดเรื่องน้ำมันและปาล์มซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสำคัญออกไป ประเทศมาเลเซียเองก็ไม่มีสินค้า/ บริการอื่นใดที่มีความโดดเด่น อีกทั้งเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียเองก็ต้องเผชิญกับความผันผวน โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาน้ำมันและราคาปาล์มตกอีกด้วย คุณจรีพรก็ได้ย้ำว่า ประเทศไทยมีสินค้าที่มีคุณภาพอยู่มากมาย อาทิ สินค้าเกษตร ตลอดจนมีความแข็งแกร่งในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นประเทศจีนเองจึงเลือกใช้ประเทศไทยเป็นฐานในเส้นทางของโครงการ BRI นั่นเอง
ถ้าไม่ได้เกิดปัญหาการเมืองที่ฮ่องกง ประเทศจีนก็มีแผนให้ประเทศไทยเป็นเสมือนคลังสินค้าก่อนส่งไปที่สนามบินที่ฮ่องกง นอกจากนี้ ประเทศจีนยังมีแผนจะเช่าพื้นที่ในประเทศไทยเกือบ 2 แสนตารางเมตร และพื้นที่คลังสินค้าที่ฮ่องกงอีกประมาณ 4 แสนตารางเมตร โดยประเทศจีนจะใช้ประเทศไทยเป็นประตูเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้เมื่อฮ่องกงเกิดปัญหา แผนการใช้ฮ่องกงเป็นคลังสินค้าจึงย่อมต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน
เพื่อให้สอดคล้องกับแผนเส้นทางการขนส่งของโครงการ BRI รัฐบาลไทยเองก็ต้องเร่งพัฒนาหลายด้าน อาทิเช่น รถไฟ ท่าเรือ และสนามบิน โดยรัฐบาลกำลังพัฒนารถไฟรางคู่จากระยะ 300-400 กิโลเมตรเป็นระยะ 4,000 กิโลเมตร โครงการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนทาง Logistics ของประเทศไทยจากร้อยละ 13.4 ให้เหลือร้อยละ 11 ของ GDP ประเทศซึ่งก็ยังถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงหากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีต้นทุนทางด้าน Logistics อยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 การลดต้นทุนดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องพัฒนาต่อไป
Greater Bay Area (GBA)
The Greater Bay Area หรือ GBA ที่ครอบคลุมพื้นที่ของเกาะฮ่องกง มาเก๊า และอีก 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ถือเป็นแนวความคิดของประเทศจีนที่ต้องการพัฒนาเขตการค้า (Trade Zone) ที่ใหญ่ที่สุดของโลกซึ่งครอบคลุมหลายอุตสาหกรรมตั้งแต่ ยานยนต์ ดิจิทัล สิ่งทอ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ICT และพลังงานสะอาด เป็นต้น โดยในเขตการค้า GBA นี้จะมุ่งเน้นในเรื่องของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เป็นอย่างมาก หลายฝ่ายได้คาดการณ์ว่ามูลค่า GDP รวมของเขตการค้านี้จะสูงถึง 4.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2030 เลยทีเดียว สืบเนื่องจากการที่ประเทศจีนได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีการสร้างเขตการค้า GBA ขึ้นมาให้สำเร็จ ตลอดจนวางแผนสร้างสำนักงานใหญ่ของ GBA แห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยจะเชื่อมโยงการค้า/ การลงทุนกับโครงการ EEC (The Eastern Economic Corridor) ของประเทศไทย โดยนักลงทุนของฮ่องกงเองก็สนใจในแนวความคิดนี้เป็นอย่างมาก ในปี 2019 Carrie Lam ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเองก็ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยก่อนที่จะเกิดปัญหาด้านการเมืองที่ฮ่องกงด้วยเช่นกัน
ปัญหาความขัดแย้งที่ฮ่องกง กอปรกับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็ส่งผลให้นักลงทุนมีความต้องการโยกย้ายการลงทุน ทั้งกลุ่มนักลงทุนจีนเอง กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มนักลงทุนไต้หวันที่ลงทุนในประเทศจีนเป็นหลักก็ได้หันมาให้ความสนใจกับการโยกย้ายการลงทุนออกจากประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ คุณจรีพรย้ำว่า หากเขตการค้า GBA นี้ถูกพัฒนาได้สำเร็จ เขตการค้าดังกล่าวก็จะมีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าโลกซึ่งจะสร้างความกังวลและแรงกดดันต่อประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศในแถบยุโรปเป็นอย่างมาก
สำหรับปัญหาความขัดแย้งที่ฮ่องกง ประเทศจีนเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักเนื่องจากฮ่องกงนั้นมีมูลค่า GDP ไม่สูงมาก โดยมูลค่า GDP ของเมืองเชินเจิ้นเพียงเมืองเดียวก็มีมูลค่ามากกว่ามูลค่า GDP ของฮ่องกงทั้งประเทศ ดังนั้นการที่ฮ่องกงเกิดปัญหาด้านการเมืองนั้นย่อมจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจีน แต่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อโดยตรงต่อฮ่องกงนั่นเอง
Regional Comprehensive Economic Partnership (RECP)
ในปี 2019 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ได้รวมผู้นำจาก 15+1 ประเทศ หากพิจารณาจำนวนประชากรพบว่ากลุ่มประเทศ RCEP นั้นมีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ทั้งนี้ RCEP นับเป็นข้อตกลงที่มีความทันสมัยและครอบคลุมหลากหลายมิติ ทั้งด้านสินค้าและบริการ การลงทุน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างกัน ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดว่าท้ายสุดแล้วกลุ่มประเทศ RCEP จะเหลือเพียง 15 ประเทศเท่านั้น โดยประเทศอินเดียน่าจะไม่เข้าร่วมความร่วมมือดังกล่าวอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาความมั่นคงทางการเมือง รวมถึงความกังวลว่าจะมีสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนปริมาณมากเข้ามาขายในประเทศของตนเอง สำหรับความร่วมมือ RCEP หากสามารถจัดตั้งได้สำเร็จก็ย่อมส่งผลต่อระบบการค้าขายของโลกเนื่องจากเป็นการรวมตัวของกลุ่มภาคีที่ใหญ่ โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกของโลกเลยทีเดียว การรวมตัวดังกล่าวจึงนับเป็นการตอกย้ำบทบาทด้านการค้า/ การลงทุนของภูมิภาคเอเชียที่จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ในส่วนของความร่วมมือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) แม้ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบไม่มากจากการไม่เข้าร่วม CPTPP อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ย่อมจะเสียเปรียบประเทศเวียดนามที่ได้เข้าร่วมความร่วมมือดังกล่าว นอกจากนี้การไม่เข้าร่วม CPTPP ยังส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสให้หลายๆ ด้าน ดังจะเห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไม่มาเยือนประเทศไทยแต่ไปเยือนประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซียนั้นก็อาจมีสาเหตุหลักมาจากการที่ประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือ CPTPP ซึ่งประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นแกนนำสำคัญนั่นเอง
China Plus One
การระบาดของ COVID-19 ได้ทำให้ยุทธศาสตร์ China Plus One ถูกกลับนำมาพูดถึงอีกครั้ง ผู้ประกอบการต่างชาติ รวมถึงผู้ประกอบการชาวจีนเองต่างปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจครั้งใหญ่ตั้งแต่การย้ายฐานการผลิตทั้งหมดออกจากจีนหรือย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อเป็นฐานการผลิตสำรองหรือเพื่อประกอบสินค้าขั้นสุดท้ายและส่งออกแทนที่ประเทศจีนนั่นเอง
ในอดีตสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยทำให้การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต้องหยุดชะงักและได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลกเนื่องจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญๆ ส่วนใหญ่ผลิตอยู่ในประเทศไทย เหตุการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดแนวความคิด Thailand Plus One ที่นักลงทุนต่างชาติที่มีความต้องการมาลงทุนในประเทศไทยที่เป็นฐานในการผลิตของภูมิภาคนี้ จะมองหาประเทศเพื่อนบ้านอื่นที่สามารถเข้าไปลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้ด้วย
เช่นเดียวกันกับประเทศจีนเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาทั้งเรื่อง Trade War และ COVID-19 เหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นการเน้นย้ำ และแสดงให้เห็นว่าการลงทุนที่ใดที่หนึ่งนั้นมีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงสูง เนื่องจากประเทศจีนเองก็เป็นประเทศหลักในด้านการลงทุนที่นักลงทุนทั่วโลกยังต้องลงทุนอยู่ จึงเกิดเป็นแนวความคิด China Plus One คือประเทศจีนบวกกับประเทศอื่นที่มีความพร้อม อาทิ ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว หรือประเทศกัมพูชา เป็นต้น แล้วแต่ว่าประเทศใดมีความพร้อมต่อการผลิต/ ลงทุนนั่นเอง หากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามที่มีขีดความแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยก็ยังมีความได้เปรียบอยู่ในหลายๆด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมและแรงงานคุณภาพ เป็นต้น
Investment Relocation
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นถึงการโยกย้ายการลงทุนจากประเทศจีนมายังประเทศที่มีความพร้อมอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย หลายฝ่ายมองว่าเป็นการย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเวียดนามนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานราคาถูกและใช้เทคโนโลยีในการผลิตไม่มากนัก ซึ่งประเทศไทยเองก็ไม่ได้เน้นดึงดูดนักลงทุนกลุ่มนี้ ส่งผลให้ BOI เองก็ไม่ได้มีสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นใช้แรงงานราคาถูกด้วยเช่นกัน เนื่องจากทาง BOI มุ่งเน้นให้สิทธิพิเศษแก่การลงทุนที่ต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติที่จะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเป็นนักลงทุนที่ต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นที่มีแผนย้ายฐานการลงทุนออกจากประเทศจีนกลับไปที่ประเทศตนเองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งย้ายมาลงทุนในประเทศแถบอาเซียน เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตในประเทศญี่ปุ่นนั้นสูงมาก ดังนั้นบริษัทกลุ่มไฮเทคส่วนมากจะกลับญี่ปุ่น แต่ธุรกิจที่เน้นใช้แรงงานคุณภาพก็จะย้ายการลงทุนมาในกลุ่มประเทศอาเซียนนั่นเอง โดยมีรายงานว่ามีบริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตออกมาจากประเทศจีนถึง 15 บริษัท โดย 10 บริษัทย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีขนาดไม่ใหญ่ ในขณะที่ 5 บริษัทที่เหลือนั้นเลือกย้ายการผลิตมายังประเทศไทย ดังนั้นหากพิจารณาถึงมูลค่า Capital Investment แล้วประเทศไทยเองก็ไม่ได้เสียเปรียบประเทศเวียดนามเท่าไหร่นัก
Thailand Investment Situation
ช่วงปี 2016-2017 ก่อนที่จะเกิดแผนการลงทุนของโครงการ EEC ประเทศไทยขาดการวางแผนลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจังมาเป็นระยะเวลานาน รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนเองก็มีไม่มากนัก ส่งผลทำให้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีไม่มากเช่นกัน แต่หลังจากเกิดแผนการลงทุน Mega Project โครงการ EEC ขึ้นทำให้ FDI ของไทยเพิ่มขึ้นจาก 584 ล้านบาทในปี 2016 และ 613 ล้านบาทในปี 2017 เป็น 880 ล้านบาทในปี 2018 สำหรับประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ณ ไตรมาส 2 ปี 2020 คือญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และไต้หวันตามลำดับ ซึ่งในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอเองประเทศที่มาแรงมากๆ คือจีน ตามด้วยไต้หวัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
Chinese in the Lead
ข้อมูลจาก BOI ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดโครงการของบริษัทจีนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมากเนื่องจากหลายโครงการอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและตรงกับ 10+2 อุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการ EEC อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น SAIC หรือ Great Wall Motor โดยอาจมีหลายคนมองว่าไทยจะไม่ได้เป็นฮับในการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคแล้วเพราะบริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ความเป็นจริงแล้วการที่กลุ่มยานยนต์ไปลงทุนที่อินโดนีเซียนั้นเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศเป็นหลัก โดยในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 อินโดนีเซียผลิตรถยนต์ประมาณ 1 ล้านคันต่อปีซึ่ง 9 แสนคันเป็นการขายในประเทศ ในขณะที่ไทยผลิตประมาณ 2 ล้านคันต่อปี แบ่งเป็นการขายในประเทศ 1 ล้านคันและส่งออก 1 ล้านคัน ซึ่งในช่วงปี 2019 นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ก็มีกลุ่มยานยนต์จากจีนมาเปิดโรงงานผลิตจำนวนมากเช่นกันและเมื่อกลุ่มนี้มาลงทุนซัพพลายเชนต่างๆ ก็จะตามมาด้วย นอกจากนั้นยังมี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น Midea, Haier อุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น Huawei อุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น บริษัท BGI
ส่วนที่ 2 – The New Normal
การแพร่ระบาดของ COVID-19 กลายเป็นปรากฏการณ์ Disruption ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม Disruption นั้นก็ไม่ได้ส่งผลทางลบเพียงอย่างเดียวแต่ยังทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบในเชิงบวก ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ E-Commerce ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยขยายตัวจากปีก่อนเกือบร้อยละ 7 ทำให้ปี 2019 ธุรกิจมีมูลค่ารวมกว่า 4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP หรือ ธุรกิจ Food Delivery ของไทยก็มีการเติบโตขึ้นมาก โดยรายได้ของธุรกิจ ณ สิ้นปี 2020 มีมูลค่าถึง 8.78 พันล้านบาท และคาดว่าในช่วงปี 2020-2024 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 13.5 หรือธุรกิจ Digital Health Care ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีอนาคตสดใสและน่าสนใจมาก เพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านทรัพยากร ระบบโครงสร้างพื้นฐานและการบริการด้านการแพทย์ ที่สามารถนำมาต่อยอดโดยการเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสมทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังเช่น Ping An Good Doctor ที่ใช้ AI ในการคำปรึกษาเบื้องต้นทำให้คุณหมอสามารถตรวจคนไข้ได้เพิ่มขึ้นจาก 50 คนเป็น 500 คนต่อวัน โดยที่คนไข้แทบไม่รู้เลยว่าคุยกับหมอจริงหรือคุยกับ AI อยู่ โดยในปี 2020 Ping An Good Doctor มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 900 หรือ ธุรกิจเกี่ยวกับ Workplace Communication แอพพลิเคชั่นการประชุมออนไลน์ อาทิ Microsoft Teams หรือ Zoom ที่เติบโตขึ้นอย่างมากและกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทุกองค์กรขาดไม่ได้ในช่วงวิกฤต COVID-19 จนหลายๆ คนมองว่าในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศอีกต่อไป แต่ในความจริงบางกลุ่มธุรกิจก็ยังคงต้องการออฟฟิศอยู่เพียงแต่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกเท่านั้น หรือ Contactless Payment จากพฤติกรรมใหม่ตามกระแสลดการสัมผัสทำให้การใช้ e-wallet หรือ Digital Payment ต่างๆ ไม่เพื่อแค่ความสะดวกสบายแต่เป็น A Must หรือสิ่งที่ต้องมีของในยุค New Normal เลยทีเดียว
Food and Beverage Industry ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยมีการเติบโตอย่างน้อยร้อยละ 1 ต่อปี แต่หลังเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นปัจจัยกระตุ้นความสนใจในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ใน Food Supply Chain อีกด้วย โดยสิ่งที่ได้รับความสนใจมากขึ้นคือ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับและความปลอดภัยของอาหาร (Food Traceability and Food Safety) โดยเริ่มตั้งแต่การนำ loT และ Big Data มาใช้ในการเกษตร การนำ Automation เข้ามาใช้ในการจัดเก็บสินค้าและการขนส่ง การแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์ใน Human less Factory and Warehouse เช่น ในจีนและญี่ปุ่นที่เริ่มใช้ระบบหุ่นยนต์มากขึ้นแล้ว ไปจนถึงการส่งมอบถึงมือลูกค้าด้วย Food Delivery Robot หรือ Room Service Robot
ส่วนที่ 3 – The Exponential Organization
Global Megatrends
A VUCA WORLD
ปัจจุบันโลกเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงจนถูกเรียกว่าเป็นยุคแห่ง VUCA ที่ประกอบไปด้วย
เมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นความท้าทายที่ถึงแม้นักธุรกิจไม่ชอบแต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญ โดยผู้นำองค์กรต้องเป็นคนแรกที่พร้อมปรับตัว เข้าใจสถานการณ์ เพื่อวางกลยุทธ์และบริหารองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยหากมองในมุมมองใหม่ VUCA จะเป็นแนวทางที่ทำให้เราสามารถปรับกลยุทธ์และอยู่รอดได้ ดังนี้
Accelerating Change in Technology
โลกมีวิวัฒนาการเร็วขึ้นอย่างก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งเกิดเร็วขึ้นเรื่อยๆ จากสมัยก่อนการเปลี่ยนจากยุคเกษตรกรรมมาสู่ยุคอุตสาหกรรมต้องใช้เวลายาวนานถึง 8,000 ปี จากยุคอุตสาหกรรมใช้เวลาอีก 120 ปี จึงเข้าสู่ยุคที่มีแสงสว่างจากหลอดไฟ และต่อจากนั้นใช้เวลา 90 ปี จึงมาถึงยุคที่มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ และใช้เวลา 22 ปี จึงเข้าสู่ยุค World Wide Web หลังจากนั้นใช้เวลาเพียง 9 ปี ในการเข้าสู่ยุค Human Genomy Sequenced จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่งเกิดขึ้นเร็วมากขึ้น
โดยมีการมองภาพต่อว่าปีค.ศ. 2045 จะเข้าสู่โลกของ Singularity คือสมองของคอมพิวเตอร์จะฉลาดเท่ากับสมองของมนุษย์ทั้งโลกมารวมกัน หากเปรียบเทียบย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 ความฉลาดของคอมพิวเตอร์เท่ากับสมองหนู ปี 2023 เท่ากับสมองคน แต่ในปี 2045 สมองกลจะฉลาดเท่ากับคนทั้งโลกรวมกัน ทำให้ในอนาคตงานบางประเภทอาจถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์และ AI
Digital Disruption and Challenges to Business
Digital Transformation เป็นประเด็นที่เหล่าผู้นำธุรกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ โดยการจะทำ Digital Transformation ให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องเป็นกลยุทธ์แบบ Top Down
Exponential Organization (ExO)
นอกจากเหนือจากการติดตามเทรนด์ของโลก เทรนด์ของภูมิภาค รวมทั้งสถานการณ์ของประเทศไทยที่มีความสำคัญในการวางกลยุทธ์และในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังมีอีกสิ่งที่เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดคือ องค์กรของเรานั่นเอง แนวทางการขับเคลื่อนองค์กร การสื่อสารให้คนในองค์กรเข้าใจตรงกัน เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
Exponential Organization คือองค์กรที่สามารถสร้างผลกระทบอย่างน้อย 10 เท่าเมื่อเทียบกับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันเนื่องจากมีการใช้เทคนิคการจัดการองค์กรแบบใหม่ที่อาศัยประโยชน์จากการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารทรัพยากร เช่น ข้อมูล ทุน สินทรัพย์ แรงงาน จึงทำให้องค์กรสามารถขยายธุรกิจและสร้างมูลค่าได้อย่างรวดเร็ว อาทิ Amazon, Apple, TED, Google, Airbnb, UBER ฯลฯ โดยคุณจรีพรได้แนะนำหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าอ่านมากเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ Exponential Organizations เขียนโดย Salim Ismail, Michael S. Malone, และ Yuri van Geest แห่ง Singularity University ซึ่งผู้เขียนได้สรุปคุณลักษณะสำคัญของ ExO ไว้ 3 ประการคือ
ประการที่ 1 The Massive Transformative Purpose (MTP)
การตั้งเป้าหมายที่ท้าทายโดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ซึ่งองค์กรปรารถนาจะทำให้สำเร็จเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบอย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่น Google: “Organize the world's information” หรือ Apple: “Think Different” หรือ TED: “Ideas worth spreading” เป็นต้น
นอกเหนือจากการมีวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ “MTP” แล้ว ExO ยังประกอบไปด้วยปัจจัยภายนอก (S-C-A-L-E) และภายใน (I-D-E-A-S) อีกอย่างละ 5 ข้อ
ประการที่ 2 ปัจจัยภายนอก S-C-A-L-E ประกอบด้วย
โดยผู้แต่งเปรียบเทียบปัจจัยดังกล่าวกับสมองซีกขวาที่เป็นต้นกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์และความคล่องตัวจนทำให้ ExO สามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยในการบริหารจัดการกับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ประการที่ 3 ปัจจัยภายใน (I-D-E-A-S) อันเปรียบเหมือนสมองซีกซ้ายที่ช่วยควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประสานการทำงานของหน่วยงานต่างๆ และการบริหารจัดการเพื่อสร้างความมีเสถียรภาพขององค์กร
ซึ่งการมี MTP ที่ดีร่วมกับ 3-4 ปัจจัยภายนอกและภายในที่ถูกต้องเหมาะสมกับลักษณะขององค์กรนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้ ExO ประสบความสำเร็จแล้ว
นอกจากนี้ผู้แต่งยังได้สรุปกลยุทธ์เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะภายในองค์กรขนาดใหญ่ไว้ 4 ประการ คือ (1) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยผู้บริหารระดับสูง (2) การเป็นพันธมิตร ลงทุน หรือ ซื้อบริษัท ExO (3) การ Disrupt โดยหน่วยงานภายในองค์กรเอง และ (4) การปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มคุณลักษณะต่างๆ ของ ExO ตลอดจนผู้แต่งยังได้ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารระดับสูงสำหรับแต่ละสายงาน (C-Level) ที่จำเป็นจะต้อง Transform กลายเป็น Exponential Executives เพื่อให้สามารถมองเห็นโอกาสและกำหนดแนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก Accelerating Technologies ในยุคปัจจุบัน
The Future Workforce
การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติที่หลากหลาย รวมทั้งเข้าใจจุดอ่อน จุดแข็งของประเทศและธุรกิจของเราเองจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้เดินเกมธุรกิจได้อย่างถูกต้องในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตผู้คนและธุรกิจอย่างมาก หนทางเดียวที่องค์กรจะอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนคือการ Transform องค์กรให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับองค์กรให้เป็น Exponential Organization อย่างไรก็ตามการผลักดัน Transformation ให้สำเร็จลุล่วงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากผู้นำองค์กรไม่มี Mindset ที่ถูกต้องและสามารถสื่อสารให้คนในองค์กรมี Mindset เดียวกัน
ข้อมูลจากหลักสูตร MISSION X :The Boost Camp of Advanced Corporate Transformation รุ่นที่ 1
วันที่ 29 ตุลาคม 2563 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
โดย คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการ กรรมการเทคโนโลยี และกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)