ทำงานอย่างไรให้ Productive

เมื่อมนุษย์งานถูกล้อมไว้ด้วยคำว่า Productive หรือเน้นเกิดประสิทธิผล หมุนวนในกระแสที่พัดให้ทุกคนมุ่งผลิตผลงานเพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเองไว้ไม่ให้สั่นคลอน แต่เท่านั้นยังไม่พอ ไหนยังจะต้องมาต่อสู้ในบริบทที่เปลี่ยนมาทำงานที่บ้านมากขึ้นอีก อาการอย่างนี้อาจส่งผลกระทบมาถึงคนร่วมชายคาเดียวกัน และแท้จริงแล้วน่าค้นหาคำตอบว่า ยิ่งอยู่บ้านยิ่งต้อง Productive จริงหรือ


1. แยกให้ออก Busy People กับ Productive People


ควรแยก 2 คำนี้ให้ชัดเจน เพราะ ‘Busy People’ ชอบทำทุกอย่างและไม่ปฏิเสธอะไรที่เข้ามาเพื่อรักษาเครือข่ายไว้ ข้อดีคือได้ทำหลายอย่างและได้ใจคน แต่ทำงานให้เสร็จทั้งหมดยาก และยิ่งคนนั้นบอกตัวเองว่ายุ่งมากทำใด ยิ่งเป็นการทำให้ลืมโฟกัสเป้าหมายในชีวิต ส่วน ‘Productive People’ จะรู้ข้อจำกัดของตัวเองและเปิดรับบางอย่าง เพื่อเลือกสิ่งที่คิดว่าทำได้จริงและออกมาดี เข้าทำนองช้าแต่ชัวร์ เพราะให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากที่สุด ชนิดที่ว่าหากสนใจเรื่องไหนแล้วก็จะศึกษาทะลุให้ถึงแก่น


2. หัวใจของ Productive คือการจัดสรรเวลา


จัดลำดับกิจกรรมในชีวิตได้ ย่อมช่วยบริหารเวลาไปในตัว เริ่มจากชีวิตประจำวัน สุขภาพ งาน ครอบครัว แต่หากไร้การจัดเรียง เรื่องราวยุ่งเหยิงพัวพันจะยิ่งทำให้คุณรู้สึกยุ่งยากขึ้นเมื่อต้องมาบริหารจัดการทุกเรื่องในเวลาเดียวกัน เพราะไม่รู้จักแยกแยะแต่แรก ด้วยเห็นทุกเรื่องสำคัญไปหมด สุดท้ายก็จะใช้เวลากับทุกเรื่องจนไม่มีเวลาคุณภาพให้กับตัวเอง ลองจัดลำดับความสำคัญของชีวิตใหม่ เริ่มจากกำหนดเรื่องและเวลาที่ต้องทำจากรายเดือน เป็นรายสัปดาห์ และเขยิบมามองเป็นรายวันดู อาจพบว่าประสิทธิผลของทุกเรื่องดีขึ้นทันตา

productive-working-banner

3. เมื่ออยู่บ้านอาจต้องมีสมาธิเพื่อ Productive มากขึ้น


การทำงานที่บ้านในช่วง 1 ปีแรก อาจเริ่มสร้างความคุ้นชินให้มนุษย์งานมากขึ้นแล้ว แต่กว่าจะทำให้เกิดประสิทธิผลที่แท้จริงอาจทำได้ยากกว่า เพราะการอยู่บ้านสำหรับหลายคนนั้นไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ทำให้คุณต้องใช้สรรพกำลังและตั้งสมาธิมากกว่าตอนอยู่ที่ทำงาน โดยเฉพาะหากมีสมาชิกตัวน้อยที่เขาไม่เข้าใจอารมณ์การทำงานทั้งหมด เราควรต้องตั้งสมาธิและจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีไปพร้อมกัน


4. อย่าสนใจโลกโซเชียลที่คลั่ง Productive เกินไป


เลิกสนใจคนที่บอกตัวเองตามสังคมออนไลน์ว่า ทำงานหนักและเพื่อให้ Productive มากขึ้น เพราะความจริงคนเราต่างมีบริบทและหน้าที่การงานไม่เหมือนกัน หากมัวเสพเรื่องราวเหล่านี้เกินควร อาจทำให้เกิดการบั่นทอนจิตใจตัวเองภายหลัง ทำให้สงสัยว่าตัวเองล้มเหลวในการทำงานหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ทุกเรื่องราวในชีวิตไม่จำเป็นต้องให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในทุกช่วงเวลาก็ได้ ประหนึ่งรถที่ควรมีจังหวะผ่อนคันเร่งเมื่อการจราจรภายนอกไม่เอื้อให้คุณไปได้ไว


5. Productive ได้ทุกเรื่อง แต่ระวังเรื่องความสัมพันธ์


การมีเป้าหมายมุ่งมั่นเรื่องงานหรือการใช้ชีวิตให้มีประสิทธิผลถือเป็นเรื่องดี แต่คงไม่สามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับครอบครัวหรือความรัก หากมัวคิดทุกอย่างให้เกิด Productive ก็จะกลายเป็นไปสร้างความกดดันให้ตัวเองไม่หยุด ยังอาจส่งผลให้กับคนใกล้ชิดได้อีก แท้ที่จริงสมาชิกที่อยู่รอบกาย เขาอาจไม่ได้เข้าใจหรือต้องการผลลัพธ์ที่สำเร็จขนาดนั้น ควรปล่อยให้เรื่องราวความสัมพันธ์เป็นเรื่องของความรู้สึกข้างในเป็นตัวตัดสินดีกว่า


สรุปแล้ว Productive คือการจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายได้ดีที่สุด ถ้าทำได้ก็คงทำให้ชีวิตและการทำงานได้ผลลัพธ์ที่ตรงใจ จนมีเวลาไปทำสิ่งอื่นได้มากขึ้น โดยไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไปว่าจะทำงานที่แห่งหนใด

ที่มา
https://wealthmeup.com/20-04-09_ignore_productive/
https://thestandard.co/5-steps-to-be-super-productive/
https://www.cigna.co.th/health-wellness/tip/jigsawforgoodlife-ep11
https://www.smethailandclub.com/trick-2644-id.html
https://www.blockdit.com/posts/5f3d335c4950300cb6741118