ผลการค้นหา "{{keyword}}" ไม่ปรากฎแต่อย่างใด
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
การใช้และการจัดการคุกกี้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
3 สไตล์การลงทุนเพื่อแผนการเกษียณ
หลังจากได้เตรียมวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ เช่น กำหนดอายุเกษียณและคาดการณ์อายุขัย ตรวจสอบเงินออมจากแหล่งต่างๆ คำนวณเงินออมที่ยังขาด ประเมินค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ ก็ถึงขั้นตอนการวางแผนการลงทุน ซึ่งนอกจากจะดูเรื่องจำนวนเงินแล้วยังต้องดูสไตล์การลงทุนของตัวเองด้วยว่าเหมาะกับผลิตภัณฑ์ทางเงินแบบไหน เพราะสินทรัพย์เพื่อการลงทุนแต่ละประเภทจะมีความเหมาะกับคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน
1.สไตล์ค่อยเป็นค่อยไป
หากเป็นผู้ที่มีสไตล์การลงทุนแบบง่ายๆ และเพิ่งเริ่มต้นทำงานควรเน้นวางแผนเกษียณผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะเป็นแหล่งสร้างเงินออมที่ดีของมนุษย์เงินเดือน สามารถเก็บออมได้อย่างสม่ำเสมอทุกเดือน และยังมีนายจ้างช่วยสมทบเงินให้อีกแรงด้วย
ข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่ส่งเสริมให้ลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ ดังนั้น หากคอยติดตามผลการดำเนินงาน ข้อมูลข่าวสารและประเมินสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้สถานการณ์การลงทุนเกิดเปลี่ยนแปลงและผันผวนจนต้องปรับพอร์ตการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ทำได้ไม่ยากเพราะมีระบบลูกจ้างเลือกลงทุน เรียกว่า Employee’s Choice ที่อำนวยความสะดวกให้เลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ ที่สำคัญหลังจากเกษียณไปแล้วก็สามารถคงเงินในกองทุนเอาไว้และทยอยรับเงินเป็นงวดๆ ได้ หรือสามารถโอนย้ายไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้
ข้อเสีย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเงื่อนไขเยอะพอสมควรและเงื่อนไขบางประการก็ขึ้นอยู่กับบริษัทแต่ละแห่งด้วย เช่น สามารถปรับพอร์ตลงทุนได้ 2 ครั้งต่อปี หรือหากต้องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางอย่างก็มีค่าธรรมเนียมและค่าบริการ เป็นต้น
นอกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ก็เหมาะกับผู้ที่มีสไตล์การลงทุนง่ายๆ เพราะเป็นกองทุนสนับสนุนให้ออมเงินเพื่อการเกษียณ โดยให้สิทธิในการนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้ แลกกับการลงทุนให้ได้ตามเงื่อนไข
ข้อดี ถ้ามีรายได้และต้องเสียภาษี ควรเริ่มต้นการลงทุนกับกองทุน RMF เพราะนอกจากมีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวแล้ว ยังได้ประโยชน์ทางภาษีตามฐานภาษี เช่น มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีฐาน 15% เมื่อลงทุนกองทุน RMF จำนวน 10,000 บาท จะได้รับเงินคืนภาษีประมาณ 1,500 บาท อีกทั้งมีนโยบายการลงทุนให้เลือกลงทุนหลากหลาย
ข้อเสีย กองทุน RMF เป็นการลงทุนที่มีกำหนดเวลาจึงไม่สามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไข ต้องคืนเงินภาษีที่ลดหย่อนไปและค่าปรับให้กรมสรรพากร ดังนั้น ต้องศึกษารายละเอียดข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
2.สไตล์กล้าได้กล้าเสีย
มีคำถามว่าแผนการลงทุนเพื่อวัยเกษียณไม่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจทำให้ผลตอบแทนขาดทุน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแผนการลงทุนเพื่อวัยเกษียณสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงๆ ได้
อย่างไรก็ตาม หากรับความเสี่ยงได้สูงก็ไม่ได้แปลว่าสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงได้ทั้งหมด จึงต้องพิจารณาถึงการกระจายความเสี่ยงและสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม เช่น หากสนใจลงทุนหุ้น อาจเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ รวมถึงการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นในประเทศและกองทุนรวมที่ไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ เช่นเดียวกันอาจแบ่งเงินไปซื้อทองคำแท่งและกองทุนรวมทองคำ
ข้อดี การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงและหากขายทำกำไรก็ได้รับการยกเว้นภาษี อีกทั้ง สินทรัพย์การลงทุน เช่น หุ้น ทองคำ มีให้เลือกลงทุนมากมายและมีสภาพคล่องสูง
ข้อเสีย การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงย่อมมีโอกาสขาดทุนสูงตามไปด้วย หากไม่ติดตามข้อมูลข่าวสารอาจทำให้พอร์ตลงทุนเสียหาย ขณะเดียวกันหากได้รับเงินปันผลก็ต้องเสียภาษี 10% หัก ณ ที่จ่าย
3.สไตล์ Passive Income
การลงทุน Passive Income หมายถึงการลงทุนเพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี โดยรายได้ดังกล่าวจึงมาในรูปแบบเงินปันผลและดอกเบี้ย ดังนั้น หากผู้ที่มีสไตล์การลงทุน Passive Income ต้องเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างเงินปันผลและดอกเบี้ยสม่ำเสมอ
หากสนใจหุ้นก็เน้นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ หากสนใจกองทุนรวมก็เน้นลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) รวมถึงกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับการลงทุน Passive Income ที่ได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ได้แก่ เงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ภาคเอกชน
ข้อดี มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรายได้เป็นรายงวดเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย
ข้อเสีย ต้องใช้เวลาในการสร้างรายได้อย่างมั่นคงในรูปแบบ Passive Income ขณะเดียวกันหากต้องการมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นก็ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งหากเป็นช่วงตลาดขาลง สินทรัพย์เพื่อการลงทุนอาจไม่สามารถสร้างรายได้แบบ Passive Income ได้
ไม่ว่าจะมีสไตล์การลงทุนแบบไหน สิ่งที่เหมือนกัน คือ การเริ่มต้นเป็นขั้นตอน เช่น การสำรวจตัวเอง ระดับความเสี่ยง เป้าหมายที่วางเอาไว้ รวมถึงวิธีการบริหารเงินให้เงินงอกเงยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง สินทรัพย์เพื่อการลงทุนแต่ละประเภทจะเหมาะกับแต่ละคน ถ้าเลือกให้เหมาะกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง ย่อมสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าประทับใจและบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางเอาไว้ได้ไม่ยาก