5 พลังจาก 5 หนังสือการเงิน

1 ‘ริเน็น’ สร้างธุรกิจ 100 ปีด้วยหลักคิด

ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ : เขียน     สำนักพิมพ์วีเลิร์น

เติบโตอย่างช้าๆ แต่ยืนยงกว่าเป็นร้อยปี


สร้างธุรกิจให้ยืนยาวด้วยปรัชญา ‘ต้นสน’

โลกธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีไหลเข้ากระแสอย่างบ้าคลั่ง หลายแบรนด์ทั่วโลกที่เคยยิ่งใหญ่ กลับหลงเหลือเพียงความสำเร็จในอดีต เพราะรักษาสมดุลทางกลยุทธ์ไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ ดร. กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือ เกตุวดี Marumura  ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดที่คลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจญี่ปุ่นมานาน และเป็นเจ้าของหนังสือ ‘ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น’ มองเห็นและวิเคราะห์ได้เมื่อกล่าวถึงบริษัทที่ประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่น นั่นคือ


“นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นมักจะไม่พูดถึงเพียงแค่ยอดขายเท่านั้น แต่กลับสนใจเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และให้ความสำคัญกับความสุขบนในหน้าลูกค้าควบคู่ไปด้วยเสมอ”


หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ชอบเข้าร้านอาหารสัญชาติญี่ปุ่น คุณจะได้ยินเสียงกล่าวต้อนรับดังอึกทึก บวกกับรอยยิ้มและการบริการที่จริงใจของพนักงาน นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้มีลูกค้าเนืองแน่น เพราะได้รับทั้งสินค้ามีคุณภาพสูงและความประทับใจ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการธุรกิจ แต่จะบริหารธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เติบโตมีอายุยืนยาว ฝ่าทุกมรสุมจนครองหัวใจลูกค้าเหมือนกับชาวญี่ปุ่นทำ หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมคำตอบไว้แล้ว

คุณจะเป็น ต้นสนหรือต้นไผ่

‘ริ’ แปลว่าเหตุผล ผสมกับคำว่า ‘เน็น’ ซึ่งเดิมแปลว่าสติ คำว่า ‘ริเน็น’ จึงหมายถึงเหตุผลที่เกิดจากสติหรือปรัชญา
“บริษัทต้นไผ่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่อาจมีชีวิตอยู่ได้แค่เพียงไม่นาน บริษัทต้นสนที่เติบโตอย่างช้าๆ แต่อยู่ได้ยั่งยืนเป็นร้อยปี”

ข้อดีการยึดริเน็นต้นสน คือ แม้บริษัทจะเดินไปอย่างช้าๆ แต่รากที่แข็งแรงของต้นสนจะช่วยสร้างผลลัพธ์ที่น่ามหัศจรรย์ กำไรหรือผลประกอบการไม่ได้ขึ้นสูงดิ่ง แต่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นกราฟชี้ตรงไม่มีรอยหยัก ลูกค้ามีความเชื่อมั่นและจงรักภัคดี พนักงานรักองค์กรไม่ย้ายงานหรือลาออก ต่างจากบริษัทต้นไผ่ที่เน้นเร่งผลกำไร ผู้บริหารละเลยพนักงาน สนใจเพียงแค่ยอดขายและการหาลูกค้า หากเกิดวิกฤตทุกอย่างก็ทลายลงได้ง่าย

การสร้างธุรกิจให้อายุยืนยาว ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจใหญ่ ร้านขนมเล็กๆ ของครอบครัวชนชั้นกลางครอบครัวหนึ่งในฮอกไกโด ใช้วิธีบริหารธุรกิจแบบต้นสน พวกเขาขายเค้ก 3 ก้อน สำหรับ พ่อ แม่ ลูก ในราคาย่อมเยาเพียง 500 เยน เพราะมองว่าขนมเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ของคนในครอบครัว พยายามรักษาระดับบริการให้ดีอยู่เสมอ ให้ลูกค้าอบอุ่นหัวใจและอยากกลับมาซื้อซ้ำอีก จนทำให้ร้านเล็กๆ แห่งนี้ มียอดขายและกำไรสูงขึ้นต่อเนื่อง 40 ปีและนั่นเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่า การทำธุรกิจที่ปราถนาดีต่อผู้อื่นจะทำให้องค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง


หากคุณเป็นหนึ่งคนที่หลงไหลในวิธีคิดแบบญี่ปุ่น หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมวิธีคิดในแวดวงธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ที่ต่างประสบความสำเร็จในระยะยาวไว้แล้ว เพื่อเป็นเครื่องมือให้คุณใช้ค้นหา ‘ริเน็น’ ของตัวเอง


หรือถ้าเป็นนักธุรกิจ และกำลังหาตัวช่วยอยู่ หนังสือเล่มนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยมที่ทำให้เจอวิธีสร้างตัวเองให้กลายเป็นบริษัทต้นสนที่แตกต่างและแข็งแรงกว่าต้นสนอื่นก็เป็นได้

2. Blue Chip Kids สอนลูกเป็นนักลงทุน

David W.Bianchi  : เขียน       ชัชวนันท์ สันธิเดช : แปล      สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊ค


ไม่ต้องสอนให้ลูกเป็นนักลงทุนก็ได้    แต่เขาจะไม่มีทักษะทางการเงิน-ไม่ได้


หนังสือเล่มหนาที่ตั้งชื่อไว้ว่า “สอนลูกเป็นนักลงทุน” เอาเข้าจริงแล้ว ผู้เขียนอย่าง เดวิด ดับเบิลยู.เบียงคี (David W.Bianchi) ตั้งใจจะให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงินมากกว่า โดยใช้ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษว่า Blue Chip Kids


แล้ว Blue chip คืออะไร?


Blue chip คือ ชนิดของชิพที่ใช้กันในคาสิโน ชิพแต่ละสีมีมูลค่าไม่เท่ากัน  โดยในยุคแรกๆ ชิพสีน้ำเงินในเกมโป้กเกอร์จะเป็นสีที่แพงที่สุด  จึงเป็นที่มาของคำว่า หุ้น Blue Chip  หมายถึงหุ้นที่มั่นคง เป็นที่รู้จัก มีสินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จัก มีมูลค่ากิจการตามราคาตลาดสูง สถานะการเงินมั่นคง สามารถทำกำไรได้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา มีอัตราผลตอบแทนไม่ผันผวน


ดังนั้น Blue Chip Kids คือเด็กที่โดดเด่น ในความหมายของหนังสือเล่มนี้คือ เด็กที่รู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน ลงรายละเอียดให้ยิ่งชัดเจนคือ เด็กที่มีทักษะทางการเงิน จัดการกับเงินที่หามาได้ ใช้จ่าย เก็บออมและลงทุนอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นความรู้ที่หาไม่(ค่อย)ได้ในโรงเรียนแต่ถือเป็นทักษะจำเป็น ที่ต้องใช้ให้เป็นในอนาคต


ที่สำคัญคุณพ่อเดวิด  เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อให้ลูกชายวัย 13 ได้อ่าน เดิมตั้งใจเขียนแค่ 10 หน้า ไปๆ มาๆ งอกงามเป็น 100 หัวข้อได้ไงก็ไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือภาษาที่ใช้จะ ‘ง่าย’ ตลอดเล่ม เพราะผู้เขียนแทนตัวเองด้วยคำว่าพ่อ

คุณพ่อเดวิด เริ่มต้นสอนด้วยการพาไปหาเหตุผลว่า “ทำไมเราต้องออมเงิน” ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กๆ ถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก แต่มักจะไม่เข้าใจว่าแล้วจะออมไปเพื่ออะไร


“นับตั้งแต่นาทีแรกที่เราลืมตาดูโลก จนถึงนาทีสุดท้ายก่อนเราจะตาย เราต้องใช้เงินกับทุกสิ่งทุกอย่าง อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าเทอม ฯลฯ เงินเป็นเหมือนออกซิเจน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม เราจำเป็นต้องมี”


มีได้ ต้องหาให้ได้ก่อน แต่ลูกยังเด็กเกินไป จึงต้องฝึกโดยการออมไปก่อน จากค่าขนมนั่นแหละ


ออมเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อเก็บเข้าธนาคารอย่างเดียวหรอกนะ แต่ยังออมเผื่อเวลามีเหตุฉุกเฉินต้องใช้ เช่น หลังเลิกเรียน เกิดเดินไปเจอขนมร้านหนึ่งเข้า แล้วเราอยากกินมากๆ แต่ค่าขนมดันหมดซะแล้ว เอ๊ะ! แต่เรายังมีเงินที่เก็บเอาไว้นี่นา เอาออกมาใช้ได้นี่ (ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ด้วย) แต่อย่าทำบ่อยนะ เดี๋ยวจะกลายเป็นการออมเพื่อขนมเสียหมด...


นอกจากนี้คุณพ่อเดวิดยังสอนเรื่องเงินสกุลต่างๆ ผ่านตัวอย่างง่ายๆ ว่าเวลาเราไปเดินทางต่างประเทศ เราต้องใช้เงินอย่างไร ทำไมต้องแลกเงิน


เปิดบัญชีธนาคารเพื่ออะไร เดี๋ยวนี้มีธนาคารออนไลน์แล้วนะ แล้ววิธีการใช้อย่างถูกต้องควรทำอย่างไร หรือสงสัยมั้ยว่าบัตรแข็งๆ ที่ผู้ใหญ่ชอบใช้แทนการจ่ายเงิน คืออะไร ทำไมดูง่ายดีจัง


ไล่ไปจนถึงเรื่องตลาดหุ้น ประวัติความเป็นมา และตลาดหุ้นมีไว้เพื่ออะไร ซื้อหายหุ้นกันทำไม เหมือนเงินมั้ย


แล้วกองทุนรวมที่พ่อๆ แม่ๆ ชอบซื้อคืออะไร ต่างกันพันธบัตรหรือเปล่า เอ...แล้วเด็กอย่างเราซื้อได้หรือไม่


ดอกเบี้ยมีไว้ทำไม หน้าที่ของภาษีคืออะไร ไล่ไปจนถึงจีดีพีประเทศ ว่ามันเกี่ยวของกับเราอย่างไร


ทั้งหมดนี้ คุณพ่อเดวิดเขียนไว้เพื่อให้เด็กๆ ฉลาดทางการเงิน  คือ ใช้เป็น ออมเป็น บริหารจัดการเป็น และมีเงินไว้ใช้จนบั้นปลายของชีวิตโดยไม่ต้องไปกู้ยืมให้คนอื่นเดือดร้อน


การจะลงทุนหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเลย

3. เหินห่าว BUSINESS อยากเก่งธุรกิจต้องคิดอย่างจีน

วรมน ดำรงศิลป์สกุล : เขียน   สำนักพิมพ์มติชน

เล่นใหญ่   เล่นจริง   แบบเมดอินไชน่า

หนังสือเล่มนี้เผยโมเดลธุรกิจในโลกดิจิทัลสไตล์ ‘เมดอินไชน่า’ ให้ผู้อ่านต้องตาโต แล้วคิดในใจว่า “ไปไกลขนาดนี้เลยเหรอ”


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนต่างจับตามอง เพราะทุกวันนี้ชาวจีนในเมืองใหญ่ใช้ชีวิตอย่างทันสมัย ยิ่งเมื่อนวัตกรรมทางด้านไอทีเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนการตลาดและการขาย ยิ่งเสริมให้ความก้าวหน้าของจีนรุกล้ำยากเกินกว่าจะตามทัน

ผู้เขียนคือ วรมน ดำรงศิลป์สกุล ผ่านประสบการณ์ทำงานด้านเทคโนโลยี เว็บไซต์และโทรศัพท์มือถือกว่า 15 ปี ปัจจุบัน นอกจากทำงานด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นที่ปรึกษาด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับภาคธุรกิจ นักเขียน เทคบล็อกเกอร์ และวิทยากร


วรมนได้เจาะลึก ชำแหละ กลั่นกรอง สิ่งที่เรียกว่า ‘หัวใจ’ ของความสำเร็จในธุรกิจจีนอย่างถึงแก่น เพราะการบริหารธุรกิจของบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางด้านไอทีมิได้มีเพียงการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมไปทุกกระบวนการ อย่างเช่นธุรกิจร้านทำผม ในฐานะผู้อ่านที่เป็นคนไทย เราต่างก็เข้าร้านประจำ แต่จีนได้สร้างแอพลิเคชั่นในการเปิดพื้นที่ที่รวบรวมร้านทำผมทั่วประเทศ ช่างสามารถโปรโมทตัวเองได้เต็มที่ ส่วนลูกค้าสามารถเลือกร้าน ดูประวัติ ดูฝีมือช่าง จองและจ่ายเงินผ่านแอพฯ ได้เลย

หนังสือเล่มนี้ยังพาเราไปเจาะลึกธุรกิจ e-commerce รายใหญ่อย่างอาลีบาบา ที่ก้าวหน้าไปไกลว่าไทยหลายเท่า เพราะจีนใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ เอไอ (AI) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงาน เช่น ประมวลผลการเข้าชมว่ารูปแบบกราฟิกแบบไหนที่คนจะเข้าชมมากที่สุด แล้วสร้างกราฟิกใหม่กว่า 8,000 ชิ้น เพื่อให้ลูกค้าไม่รู้สึกเบื่อ


นอกจากนี้ยังมี Tips สำคัญๆ สำหรับคนที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากจีน หรือแม้กระทั่งส่งออกสินค้าไปขายที่จีน ผู้เขียนนำตัวอย่างสตาร์ทอัพและธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากมายมาเป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพกันแบบชัดๆ เช่น ธุรกิจกล้อง ‘เหม่ยถู’ หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘กล้องฟรุ้งฟริ้ง’ กล้องหน้าที่มีความละเอียดสูงถึง 21 ล้านพิกเซล ซึ่งตอนนี้ผลิตออกมาแล้วถึง 7 รุ่น สร้างรายได้ให้กับบริษัทได้เป็นกอบเป็นกำ


อ่านจบแล้วจะรู้เลยพี่จีนเขาทั้งเล่นใหญ่ เล่นจริง หากใครต้องการสร้างธุรกิจให้ปังในยุคดิจิทัลแล้วล่ะก็ หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์ และเหินห่าว (แปลว่าดีมากๆ) ตามชื่อปกจริงๆ

4. A Book about Innocent: อินโนเซนต์ สมูทตี้บันลือโลก

แดน เจอร์เมน : เขียน   ภาวลิน ลิมธงชัย มาสะกี : แปล   สำนักพิมพ์ลีฟริชฟอร์เอฟเวอร์

“เริ่มแบบเล็กๆ แต่ต้องเริ่ม”

‘A Book about Innocent: อินโนเซนต์ สมูทตี้บันลือโลก’ ชื่อหนังสือแสนน่ารัก บวกกับการออกแบบปกหนังสือที่ดูเป็นมิตร ชวนให้หยิบจับขึ้นมาสำรวจเนื้อใน ครั้งแรกที่หลายคนเห็นหนังสือเล่มนี้ คงคิดไม่ต่างกันว่าเนื้อหาภายในต้องเกี่ยวกับการเข้าครัว อาจจะเป็นหนังสือที่รวบรวมและบอกขั้นตอนการทำน้ำผลไม้ให้อร่อย หรือไม่ก็แชร์สูตรลับสำหรับการทำน้ำผลไม้สุดเจ๋งแน่นอน


แต่คุณคิดผิด เพราะหนังสือเล่มนี้เจ๋งกว่าที่คิด  ‘A Book about Innocent: อินโนเซนต์ สมูทตี้บันลือโลก’ เป็นหนังสือธุรกิจเล่มหนึ่งที่อ่านเพลิน เขียนโดยแดน เจอร์เมน และถูกแปลด้วยภาษาสนุกๆ โดย ภาวลิน ลิมธงชัย มาสะกี


เนื้อหาบอกเล่าเรื่องราวการทำธุรกิจน้ำผลไม้แบรนด์ ‘Innocent’ ที่โด่งดังมากในประเทศอังกฤษ โดยที่แต่ละบทถูกเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย ร้อยเรียงตั้งแต่การสังเคราะห์ไอเดียที่ยิ่งใหญ่จนถึงการวางแผนและการลงมือทำจริง


ธุรกิจนี้เริ่มต้นจากเพื่อนรักสามคน ที่แยกย้ายกันไปทำงานหลังเรียนจบ แต่พวกเขามีความฝันและต่างเฝ้ารอที่จะลงมือทำมัน จนตัดสินใจเริ่มพัฒนาและทำผลิตภัณฑ์ออกมาขาย โดยมีไอเดียที่เรียบง่ายคืออยากจะแก้ปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนที่ทำงานหนักและไม่มีเวลากับการพิถีพิถันในการทำอาหารดีๆ จนลงเอยที่การทำน้ำผลไม้ปั่นขาย


ลำพังการทำน้ำผลไม้ปั่น มันก็ดูไม่น่ายากนัก แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่พวกเขาเริ่มคิดและทำเกิดขึ้นในยุคต้น 1998 ยุคที่โลกไม่รู้จักคำว่า Start Up  เทคโนโลยีก็ยังห่างมากจากปัจจุบัน

จากธุรกิจน้ำผลไม้ธรรมดาๆ ขายวันแรกได้เพียง 24 ขวด ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน จนเติบโตกลายเป็นธุรกิจเครื่องดื่มสุขภาพที่มีหลายสาขาทั่วทุกมุมโลก และยอดขายสูงถึง 2 ล้านขวดต่อสัปดาห์ เพราะการ ‘เริ่ม’


“เริ่มแบบเล็กๆ แต่ต้องเริ่ม” ริช อดัม และจอน ทั้งสามเพื่อนซี้บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจก็ตามแต่ การเดินไปสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่โชคช่วย เริ่มจากจับไอเดียง่ายๆ เพียรทดลองมันเรื่อยๆ ปรับปรุงและเตรียมพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเสมอ แค่นี้ก็จะทำให้ธุรกิจเข้าเส้นชัยได้อย่างสวยงาม


นอกจากจะเห็นการเติบโตของภาคธุรกิจแล้ว น้ำผลไม้ปั่นธรรมดาๆ กลับทำให้กลุ่มเด็กไฟแรงโตขึ้นไปพร้อมๆ กับธุรกิจ เห็นได้จากวิธีคิด หลักการ เหตุผล และการตัดสินใจ พวกเขาเข้าใจการบริหารและตลาดมากขึ้น ให้ความสำคัญกับลูกค้าและคิดเรื่องการตอบแทนสู่สังคม เพื่อทำให้ธุรกิจยั่งยืนอย่างครบวงจร


แต่ละบทในหนังสือเล่มนี้อุมดมไปด้วยแรงบันดาลใจ วิธีคิดและหนทางที่พาธุรกิจนี้ไปสู่ความสำเร็จ เหมาะกับคนที่กำลังจะสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือสนใจเรื่องราวของธุรกิจ ใช้เป็นคู่มือสร้างแรงบันดาลใจ และรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ ตั้งแต่ร่วมก่อตั้งจนถึงวันที่ประสบความสำเร็จ แถมยังขโมยความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในหนังสือไปปรับใช้กับธุรกิจตัวเองได้อีก


รับรองว่าถ้าได้อ่านแล้ว คุณจะสนุกไปกับน้ำปั่นธรรมดาที่ไม่ธรรมดาแน่นอน

5. The Launch Pad Inside Y Combinator ขโมยวิธีคิดสุดเจ๋ง จากสุดยอดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ

Randall Stross  : เขียน   กนกกาญจน์ เวชชวิศิษฎ์  : แปล   สำนักพิมพ์ บิงโก

ข้อมูลเบื้องลึกของแหล่งอนุบาลสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น

“ถ้าผมต้องเลือกอายุที่เหมาะสมสำหรับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ก็น่าจะเป็นราวๆ 24-26 ปี”


พอล เกรแฮม นักปั้นมือทองแห่ง YC เขียนเอาไว้ในบทความหนึ่ง มันมาจากคำปราศรัยของเขาเองที่กล่าวกับนักศึกษาปี 4 ของมหาวิทยาลัย MIT ซึ่งกำลังต้องตัดสินใจว่าจะเรียนต่อปริญญาโท หรือเริ่มเขี่ยลูกความคิดด้วยการก่อตั้งสตาร์ทอัพ


พอล เกรแฮม ให้เหตุผลสำคัญผผว่าทำไมช่วงอายุ 24-26 จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพว่า คนที่มีอายุมากกว่านี้จะเริ่มมีภาระผูกพันมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากไม่มีครอบครัว มีลูก ก็มีหนี้สิน แม้อายุมากขึ้นจะทำให้มีประสบการณ์มากกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงที่ต้องตัดสินใจเดิมพันมากขึ้นตามไปด้วย


คนในช่วงวัยที่พอลเห็นว่าเหมาะสม จึงมีข้อได้เปรียบคือ ความทรหด ความขัดสน การที่ยังไม่ลงหลักปักฐาน มีเพื่อนจากมหาวิทยาลัยที่พร้อมจะกลายเป็นเพื่อนร่วมงาน และความเขลา ซึ่งพอลเน้นย้ำข้อนี้ว่า “ความเขลา” จะทำให้คนหนุ่มสาวไม่ตระหนักถึงความยากลำบากในการก่อตั้งธุรกิจ มันจึงง่ายที่จะเดินหน้าเพราะไม่หวาดกลัวต่อสองข้างทางที่อาจมีทั้งกลีบกุหลาบและขวากหนาม แต่หากเป็นคนที่มีประสบการณ์ พวกเขาจะระมัดระวังตัวซึ่งอาจมีผลด้านลบคือการไม่พยายามที่จะลองเสี่ยง แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัว เพราะสตาร์ทอัพบางคนที่มีอายุเกิน 30 ปี ก็มีคุณสมบัติอย่างที่ว่ามาข้างต้น โดยเฉพาะยังเหลือความเขลาเต็มเปี่ยมเช่นกัน


YC หรือ Y Combinator เป็นโรงเรียนสอนสตาร์อัพที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดของโลก ที่นี่คือแหล่งอนุบาลสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นซึ่งหมายถึงบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น Dropbox, Airbnb, Coinbase, Stripe, Reddit, Instacart รวมทั้ง Twitch


ทุกๆ ปี YC จะเปิดรับสมัครให้คนหนุ่มสาวเสนอไอเดียเข้ามาเพื่อคัดเลือกความฝันมาบ่มเพาะในโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ


ใบสมัครกว่า 2,000 ทีมที่ถูกส่งเข้ามาจะถูกคัดเหลือเพียง 64 ทีม โดยผู้ถูกเลือกจะได้รับการสนับสนุนทุนจาก YC ตั้งแต่ 11,000-20,000 เหรียญสหรัฐ โดยมีข้อแม้ว่า YC จะต้องมีหุ้นในนั้น 7% และทีมเหล่านั้นจะต้องมาใช้ชีวิตในซิลิคอนวัลเลย์ 3 เดือนเพื่อปั้นความฝันนั้นให้เป็นจริง และช่วงเวลานั้นจะมีบรรดาโค้ชจาก YC คอยให้การส่งเสริมและพัฒนาโปรเจ็กต์อย่างใกล้ชิด

หากบริษัททั่วไปใช้ระยะเวลาหลายปีเพื่อก่อตั้ง ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อลงทุน เหล่าบรรดาสตาร์ทอัพจาก YC ทำในสิ่งตรงกันข้าม เพราะนอกจากไอเดียแล้วพวกเขาเริ่มต้นด้วยการไม่มีอะไรเลย แต่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือโครงการให้เสร็จได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ และเมื่อพ้น 3 เดือนของการใช้ชีวิตในซิลิคอนวัลเลย์ เหล่าสตาร์ทอัพจาก YC จะต้องนำเสนองานในวันที่เรียกว่า Demo Day เพื่อแสดงความเจ๋งของตัวเองให้นักลงทุนหลายร้อยรายที่จะเข้ามาซื้อไอเดียและร่วมลงขันกับว่าที่ยูนิคอร์นเหล่านั้น


โดยข้อเท็จจริงแล้วกระบวนการตั้งแต่สมัคร สัมภาษณ์ เรียน ปั้นโปรเจ็กต์ กระทั่งถึงวัน Demo Day ทุกอย่างจะถูกปิดเป็นความลับ นักลงทุนที่เข้ามาฟังไอเดียก็จะถูกขอไม่ให้เปิดเผยข้อมูลใดๆ กระทั่งต้องมีหมายเหตุว่า “ห้ามจดบันทึก” ด้วยซ้ำ แต่หนังสือเล่มนี้ก็ถูกเขียนขึ้นมาได้ เมื่อ Randall Stross ขออนุญาตไปยัง YC เพื่อติดตามสตาร์ทอัพหลายสิบทีม และกุนซือของ YC ทั้ง 6 คน ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบคอร์ส รวมถึงวันที่พวกเขากลับมาทักทายสตาร์ทอัพรุ่นต่อไป และที่มากกว่านั้นคือ Randall ขอเข้าถึงข้อมูลเบื้องลึก พร้อมทั้งได้สิทธิ์ในการเขียนถึงมันอย่างเต็มที่


หนังสือเล่มนี้จึงเต็มไปด้วยสีสันของนักฝันวัยหนุ่มที่พร้อมจะบ้าด้วยการทลายกำแพงแห่งเดียงสาแล้วปลุกปั้นมันด้วยกัน และที่สำคัญคือพวกเขามีกุนซือจาก YC ที่บ้าพอกันคอยประคับประคอง


แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกโครงการจะไปได้สวย และสตาร์ทอัพก็ไม่ได้จบที่ความร่ำรวยหรือประสบความสำเร็จเสมอไป แต่ถึงแม้มันจะล้มเหลวบ้าง แต่ใช่หรือไม่ว่าโลกนี้ขับเคลื่อนด้วยคนบ้าที่กล้าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง


“ขโมยวิธีคิดสุดเจ๋ง จากสุดยอดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ | The Launch Pad Inside Y Combinator” จึงเป็นหนังสือที่เหมาะอย่างยิ่งที่จะทำให้หัวใจเรากระชุ่มกระชวย ส่วนจะช่วยให้เราอยากเริ่มต้นลงมืออย่างจริงจังหรือไม่ มันอาจขึ้นอยู่กับว่าเราหลงเหลือความเขลาไว้มากน้อยเพียงใดด้วย