ลงทุนยังไง? ทำไมถึงผิดซ้ำซาก

เรามักจะคิดว่าเราตัดสินใจด้วยเหตุผล แต่อันที่จริงแล้วการตัดสินใจทางการเงินของนักลงทุนมักมีอคติและเอนเอียงจากอารมณ์และจิตวิทยาอยู่บ่อยครั้ง Behavioral Finance หรือการเงินเชิงพฤติกรรม จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นทางเลือกในการอธิบายผลการศึกษาเหล่านี้ โดยใช้จิตวิทยาของนักลงทุนเข้ามาช่วยอธิบายการตัดสินใจและพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จากงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่าพฤติกรรมการตัดสินใจที่ผิดพลาดของนักลงทุนมีสาเหตุสําคัญมาจากอคติ หรือ Bias ซึ่งอคติที่น่าสนใจ ดังนี้


Loss Aversion หรือ  ความเกลียดชังความสูญเสีย
หลายๆ งานวิจัยพบว่า  การสูญเสียมีอำนาจมากกว่าการได้มาประมาณสองเท่า ความโน้มเอียงนี้จะนำไปสู่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Aversion) ในสถานการณ์ที่การได้ - การเสียมีโอกาสเท่าๆ กัน เพราะเราชอบที่จะหลีกเลี่ยงการเสียมากกว่าที่จะได้ นอกจากนี้การเกลียดชังความสูญเสียนี้ จะทำให้เรารู้สึกเสียใจที่เสียเงิน 100 บาทมากกว่าดีใจที่เราได้เงิน 100 บาท


อคตินี้จะส่งผลต่อนักลงทุนโดยนักลงทุนจะเลือกถือหุ้นที่ขาดทุนไว้นานเกินไป (แทนที่จะขายออก หากเห็นว่าเป็นหุ้นที่ไม่มีอนาคตแล้ว) และขายหุ้นที่มีกำไรเร็วเกินไป เพราะเราจะไม่อยากรับรู้ผลขาดทุน เนื่องจากสมองของเราตีความว่า การขาดทุนคือความสูญเสียนั่นเอง

Sunk-Cost Fallacy หรือต้นทุนจม คือ ต้นทุนที่เราจ่ายไปแล้วในอดีต และไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคตเหตุการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ไม่สามารถเรียกต้นทุนในส่วนนี้คืนมาได้ เป็นอคติที่มักพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เช่น หากเราซื้อตั๋วดูคอนเสิร์ตราคา 3,000 บาทไปแล้ว เมื่อถึงวันแสดงคอนเสิร์ต เราเกิดไม่สบายขึ้นมา เราต้องตัดสินใจว่าจะไปดูคอนเสิร์ตนี้ดีหรือไม่ สิ่งที่เราต้องตัดสินใจคือ เราไปไหวมั้ย และถ้าหากไป จะทำให้อาการไม่สบายของเราเป็นมากขึ้นหรือไม่ เทียบกับความสนุกสนานที่ได้ไปดูคอนเสิร์ต แต่หลายคนกลับเลือกที่จะไปดูคอนเสิร์ตเพียงเพราะเสียดายเงิน และอาจทำให้อาการเจ็บป่วยของเราแย่ลงไปอีกก็เป็นได้ หากเราตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล เงินค่าตั๋วเป็นต้นทุนจมไปแล้ว จึงไม่ควรนำมาพิจารณา แต่อย่างที่บอก เรามักจะตัดสินใจด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล


อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเราซื้อหุ้นไปแล้ว ราคาหุ้นที่เราซื้อมาถือว่าเป็นต้นทุนจม สิ่งที่เราต้องพิจารณาว่าจะถือหุ้นตัวนี้ต่อไปดีหรือไม่คือ พื้นฐานของกิจการ การเจริญเติบโต และความสามารถในการทำกำไรของกิจการในอนาคตต่างหาก ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่าหุ้นตัวนี้ไม่มีอนาคตอีกต่อไป เราก็ต้องขายหุ้นนี้ออกไป แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ตัดใจขายเพราะเสียดายต้นทุนที่ตัวเองซื้อมา (ซึ่งเป็นต้นทุนจมไปแล้ว) จึงทำให้ตัดสินใจผิดพลาดในการลงทุน และเสียโอกาสที่จะลงทุนในหุ้นที่ดีกว่าด้วย

Choice-Supportive Bias หรือการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากๆ เลย ที่เราจะเข้าข้างตัวเองและมีแนวโน้มที่จะไม่สนใจความคิดอื่นๆ หรือไม่เราก็จะพยายามหาเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อที่จะสนับสนุนและปกป้องการตัดสินใจแรกที่ได้ตัดสินใจไปแล้ว เพราะโดยธรรมชาติเรามักจะไม่ยอมรับว่าตัวเองตัดสินใจผิดพลาด เช่น คนส่วนใหญ่ไม่สามารถตัดใจขายหุ้นที่ขาดทุนไปได้ เพราะไม่อยากยอมรับว่าตัวเองตัดสินใจผิดพลาด จึงพยายามหาเหตุผลต่างๆ มาเข้าข้างตัวเองว่า ราคาหุ้นที่ตกลงมานั้นเป็นแค่เพียงชั่วคราว เดี๋ยวราคาก็กลับมา หรือเดี๋ยวก็กลับมามีกำไรได้ เป็นต้น ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดผลขาดทุนมากกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นได้


เหตุผลสำคัญที่เราต้องมาเรียนรู้ถึงอคติทางการเงินต่างๆ เพราะคนโดยส่วนใหญ่คิดด้วยเหตุผล แต่มักจะตัดสินใจด้วยอารมณ์ (ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว) การยอมรับว่าเรามักใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ทำให้เรารู้ตัวว่า เมื่อมีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง อาจทำให้การตัดสินใจของเราเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการตัดสินใจลงทุน ซึ่งเราต้องหมั่นตรวจสอบการตัดสินใจลงทุนของตัวเองดูว่า มีแนวโน้มที่จะมีอคติทางการเงินต่างๆ ที่ได้เล่าให้ฟังในบทความนี้กันบ้างหรือไม่ เพราะอคติเหล่านี้อาจส่งผลให้การตัดสินใจลงทุนของเราไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังได้


นอกจากนี้เมื่อเราทราบว่า เราทุกคนต่างมีอคติในการลงทุนอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย เราจะได้หาวิธีบริหารจัดการการลงทุนของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อลดอคติหรืออารมณ์ในการลงทุนลง โดยการใช้ระบบมาช่วยในการลงทุน เช่น การทำ Dollar Cost Average (DCA) หรือการลงทุนตามกำหนดเวลาอย่างสม่ำเสมอ เช่น ลงทุนซื้อกองทุนเป็นรายเดือน โดยการตัดบัญชีอัตโนมัติ เพราะการลงทุนแบบนี้จะช่วยให้เรามีวินัยในการลงทุน และสามารถขจัดอารมณ์ในการลงทุนได้ด้วย


บทความโดย: นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร