ไม่อยากตกกระแส ต้องลงทุนใน Mega Trend

บทความโดย นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงิน

 

Mega Trend คือ แรงผลักดันการพัฒนาเศรษฐศาสตร์มหภาคในระดับโลก ที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของมนุษย์ ให้เป็นไปตามแรงขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะเกิดขึ้นในลักษณะที่ผันผวนและมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาที่สั้นลงเรื่อยๆ


เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง มักตามมาซึ่งโอกาสอยู่เสมอ ดังนั้นเราจะมาทำความรู้จักกับ Mega Trend เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ เช่น กำหนดทิศทางการดำเนินชีวิต กำหนดแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ การมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุน หรือการสร้างธุรกิจของตนเอง หากเป็นพนักงานประจำ ก็จะได้คาดการณ์ได้ว่าบริษัทหรือองค์กรที่ตนเองกำลังทำงานอยู่นั้น มีความมั่นคงมากน้อยเพียงใด โดย 5 Mega Trend ที่สำคัญมีดังนี้


Mega Trend ที่ 1: Urbanization หรือกระแสความเป็นเมืองขนาดใหญ่

การเติบโตของชนชั้นกลางส่งผลให้ชุมชนกลายเป็นเมืองและเกิดการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเติบโต นอกจากนี้ Urbanization ทำให้ผู้คนในต่างจังหวัดเริ่มหันมายกระดับการดำเนินชีวิตให้ทันสมัยและสะดวกสบายในวิถีแบบคนเมือง ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตได้ดี ได้แก่ ธุรกิจของตกแต่งบ้าน ธุรกิจบริการ 24 ชั่วโมง ธุรกิจแฟรนไชส์ในกลุ่มร้านอาหาร ความงามและสุขภาพ และธุรกิจแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ เป็นต้น


ในทางกลับกัน หากหัวเมืองต่างจังหวัดเติบโตไม่ทัน เราจะเห็นการหลั่งไหลของประชากรต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น รวมถึงขนาดครอบครัวในเขตเมืองเล็กลง ส่งผลให้ที่พักอาศัยในเขตเมืองที่มีพื้นที่จำกัด เช่น คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ และทาวน์เฮ้าส์ ขยายตัว และจะเกิดการเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองอีกด้วย

Mega Trend ที่ 2: Digital Lifestyle หรือวิถีชีวิตในยุคดิจิทัล

ในยุคแห่งเทคโนโลยีนี้ทำให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจ การเงินและการสื่อสาร เชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายไร้สายมากขึ้น เทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หรือรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน และเป็นช่องทางการทำตลาดใหม่ได้


ภายใต้วิถีชีวิตในยุคดิจิทัล เราใช้ชีวิตและใช้เวลาอยู่บนอุปกรณ์สื่อสาร (Mobile Device) กันมากขึ้น ทำให้เกิดการตลาดในรูปแบบใหม่ เช่น เกิดอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ผลจากการที่ผู้บริโภคใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น แสดงให้เห็นว่าสื่อดิจิทัล ได้เข้ามา Disrupt สื่อดั้งเดิมแล้ว เพราะฉะนั้นแบรนด์สินค้าและบริการ ควรหันมาให้ความสำคัญกับการใช้สื่อดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการสื่อสารการตลาด และเป็นช่องทางการขาย ควบคู่กับการเชื่อมโยงช่องทางหน้าร้าน เพื่อทำให้การขายและการให้บริการอยู่ในรูปแบบ Omni-channel


Mega Trend ที่ 3: Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ

กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้สูงอายุชาวไทย เพิ่มปีละ 5 แสนคน คาดปี 2568 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" โดยจะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน จากผลสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่อง Aging Society ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มประชากรอายุ 48-57 ปี ในปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดย 30% มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 30,000 – 60,000 บาท และอีก 30% มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 60,000 – 100,000 บาท ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้ที่ดี มีความสามารถในการใช้เงินและมีอัตราการออมและลงทุนสูงถึง 25% ของรายได้


แนวโน้มตลาดสินค้าและบริการที่จะมารองรับคนกลุ่มนี้จึงเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และเกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะตามมาอย่างมหาศาล ธุรกิจจึงควรวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ในเชิงลึก และวางกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม ทั้งด้านราคา คุณภาพที่เชื่อถือได้ และการออกแบบบริการที่ใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ


ธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดี เช่น ธุรกิจการดูแลสุขภาพ สถานรับดูแลผู้สูงอายุ หรือ community สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นแบบ premium หรือมีการให้บริการอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นแบบที่มาอยู่ที่ศูนย์ หรือส่งพนักงานไปดูแลถึงบ้าน การเดินทางเพื่อการแสวงบุญและหาความสงบทางจิตใจ นันทนาการเพื่อผู้สูงอายุ ธุรกิจการให้บริการทางการเงิน เช่น การวางแผนเกษียณอายุทั้งก่อนและหลังเกษียณ เป็นต้น


Mega Trend ที่ 4: She-Conomy หรือพลังของผู้หญิง

ทุกวันนี้ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมมากขึ้น เป็นผลมาจากการศึกษาที่สูงขึ้น หน้าที่การงานดีขึ้น โดยพบว่าองค์กรธุรกิจหลายแห่งมีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งระดับบริหาร อีกทั้งยังพบว่าผู้หญิงไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 13.7% เมื่อเทียบกับปี 2553


ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้หญิงยุคใหม่มีทั้งอำนาจในการตัดสินใจ และอำนาจซื้อที่สูงขึ้น จากผลสำรวจในปี 2558 พบว่าผู้หญิงไทย 33.6% มีส่วนในการรับผิดชอบและตัดสินใจเรื่องภายในบ้าน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนตลาดในปัจจุบัน


ดังนั้น แบรนด์สินค้าและบริการที่จะก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ไม่ควรมองข้ามกลุ่มผู้บริโภค “ผู้หญิง” โดยสินค้าที่พัฒนาขึ้นนั้น ควรคำนึงถึง “Product for HER” และกลยุทธ์การตลาด ต้องโฟกัสไปที่กลุ่มผู้หญิง หรือที่เรียกว่า “SHE Marketing”


ธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มสำคัญ เช่น กลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงกับความสุขของครอบครัว กลุ่มบริการทางการท่องเที่ยวเฉพาะ (Special Interest) และกลุ่มบริการเพื่อการดูแลความสวยความงาม เช่น บริการสปา และธุรกิจการจับคู่ Match Maker

 

Mega Trends ที่ 5: Growing Sustainability หรือการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

ผลกำไรไม่ได้แสดงถึงความสำเร็จของทุกองค์กรอีกต่อไป ความตื่นตัวในปัญหาด้านสังคมไม่ว่าจะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยและชีวอนามัย หรือสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ส่งผลให้ทุกองค์กรต้องคำนึงถึงแนวทางการจัดการอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น CSR, Carbon Footprint, Green Supply Chain


โดยผู้ประกอบการเริ่มเห็นความสำคัญของการพัฒนาสินค้าและบริการ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อธุรกิจและสังคม ในขณะที่ผู้บริโภคก็เริ่มมีการเรียนรู้มากขึ้นว่าตนเองก็มีส่วนสนับสนุนหรือช่วยโลกใบนี้ได้อีกทางหนึ่ง ด้วยการเลือกใช้สินค้าและบริการจากบริษัทที่ดำเนินกิจการอย่างถูกต้อง และมีความใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม