ทำธุรกิจส่งออกแบบไหนให้เหนือกว่าคู่แข่งในยุคดิจิทัล

การส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศได้นับเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ของบรรดาผู้ประกอบการหลายต่อหลายคน บางคนก็ฝ่าฟันจนประสบผลสำเร็จแต่บางคนก็ต้องดับความฝันของตัวเองลง ลองคิดดูเล่น ๆ ว่าตลาดที่อยู่นอกประเทศของเรานั้นมีกำลังซื้อมากมายมหาศาลเพียงใด เป็นกี่เท่าตัวเมื่อเทียบกับของที่เราเคยขายแต่ภายในประเทศ


แต่การจะนำสินค้าส่งออกไปนอกประเทศจะว่ายากก็ไม่ยาก จะว่าง่ายก็ไม่ง่ายนัก เพราะมีขั้นตอนอยู่หลายขั้นตอนทั้งในเรื่องของชนิดสินค้า ตลาดที่เราจะไป การโปรโมตสินค้า รวมไปถึงเรื่องของเอกสารและพิธีการทางศุลกากรต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องทำการศึกษาลงลึกในรายละเอียด หรือขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความชำนาญโดยตรงจะดีที่สุด อาจลองเข้าไปศึกษาข้อมูลและขอคำปรึกษาได้ที่นี่ บริการการค้าต่างประเทศ


สำหรับผู้ที่ต้องการส่งสินค้าออกไปขายนอกประเทศแต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากที่ใดก่อนดี อาจพิจารณาในเรื่องใหญ่ ๆ ต่อไปนี้ก่อนคือ ต้องรู้ว่าจะส่งไปที่ไหน ดีมานด์ในแต่ละที่มีเท่าใด สินค้าของเราคืออะไร วิธีการส่งออกก็จะใช้แบบไหน วิธีการชำระเงินเป็นอย่างไร ฯลฯ ผู้ประกอบการอาจต้องตอบคำถามต่อไปนี้ให้ได้เสียก่อน

  • สินค้าของเราตอบโจทย์ตลาดเป้าหมายหรือไม่

  • ขนาดของตลาดในประเทศเป้าหมายคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่

  • กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีมากพอหรือไม่

  • เสถียรภาพและปัจจัยความเสี่ยงภายนอกของประเทศนั้น ๆ

  • ความเหมาะสมของสินค้าที่ส่งออกกับวัฒนธรรมของประเทศเป้าหมาย

  • พฤติกรรมพื้นฐานของผู้บริโภคต่อสินค้า

  • ความยากง่ายในการส่งออกทั้งเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าหรือมาตรฐานของสินค้า

  • รวมถึงระยะทางการขนส่งสินค้าก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน

วิธีการส่งออกแบบเมื่อก่อนที่ต้องเดินทางไปนำเสนอสินค้าด้วยตัวเองตามงานแสดงสินค้าตามประเทศต่าง ๆ นำสินค้าไปขายตรงหรือหาตัวแทนในประเทศนั้น อาจต้องใช้เวลามาก แต่ในวันนี้ได้มีการส่งออกในรูปแบบใหม่ที่สะดวกกว่านั่นคือการส่งออกด้วยช่องทางออนไลน์ วิธีง่ายที่สุดก็คือการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองซึ่งโลกออนไลน์ในปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั่วโลก


หากเราปรับแต่งเว็บไซต์ให้ง่ายต่อการค้นหาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การทำ SEO, Classified Marketing, Email Marketing, Facebook Marketing หรือ Twitter ก็จะช่วยให้ลูกค้าหาเราเจอได้ง่ายขึ้น หรือเราเองอาจหาลูกค้าได้โดยการโปรโมตสินค้าด้วยการฝากเว็บไซต์ของเราไว้ตามเว็บไซต์ดัง ๆ ที่อาจให้บริการแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นับว่าเป็นวิธีการประหยัดต้นทุนได้ทางหนึ่ง


แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ถือว่าเป็นช่องทางออนไลน์ที่น่าสนใจและค่อนข้างจะเป็นทางตรงนั่นคือการเข้าไปอยู่ในเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสของประเทศต่าง ๆ ที่อนุญาตให้เรานำสินค้าไปวางขายได้ แต่เว็บไซต์เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังเป็นการขายแบบ B2B มาร์เก็ตเพลสของแต่ละประเทศมีทั้งที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและฟรี

มาร์เก็ตเพลสเหล่านี้แบ่งออกเป็นลักษณะ country base เช่น Amazon หรือ Alibaba หรือในระดับ Global Sources ที่เป็นมาร์เก็ตเพลสระดับโลกเลยก็มี การเอาสินค้าไปลิสต์ไว้ในมาร์เก็ตเพลสเหล่านี้เหมือนเป็นการไปทำแคตตาล็อกออนไลน์ไว้ที่ประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นนั่นเอง

ลักษณะที่สองคือ vertical base หรือ Industry base เป็นมาร์เก็ตเพลสตามประเภทของสินค้า เช่น สินค้าประเภทอาหารก็จะมี vertical base ที่รวบรวมผู้ประกอบการที่ขายอาหารอย่างเดียวหรือสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่ง vertical marketplace แบบ B2B นี้ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้าเข้าไปลิสต์ได้เอง ยิ่งไปอยู่ในมาร์เก็ตเพลสเหล่านี้ได้มากเท่าไหร่ก็เท่ากับเรามีสาขาของเรามากขึ้นเท่านั้น

ข้อแนะนำในตอนนี้ก็คือควรมีผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงที่ทำหน้าที่เป็น virtual sales สามารถเปิดสาขาบน vertical marketplace ได้เองทั่วโลก หากตัดสินใจจะใช้ช่องทางออนไลน์การจัดทำแคตตาล็อกสินค้าต้องทำให้น่าสนใจและดึงดูด คอนเทนต์ทางธุรกิจของเราและความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องมีข้อมูลสำคัญ ๆ ของธุรกิจ เช่น เราเป็นใคร เปิดนานเท่าใด ได้รับมาตรฐานอะไรบ้าง รายละเอียดต่าง ๆ ของสินค้าชัดเจน ฯลฯ


สำหรับผู้ที่สนใจอยากส่งออกออนไลน์อาจเริ่มต้นขอคำแนะนำจาก SCB ซึ่งเคยจัดงาน SCB ผนึกกำลัง Amazon DHL และ DITP ติดปีกอีคอมเมิร์ซไทยเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจต่อยอดอีคอมเมิร์ซไทยสู่ตลาดโลกหรือศึกษาได้ที่ Website Alibaba และ Global Sources วิธีการหามาร์เก็ตเพลสออนไลน์ง่าย ๆ คือในระดับ country base ลองค้นด้วยชื่อประเทศแล้วต่อด้วย B2B marketplace หรือแบบ vertical ค้นด้วยชื่ออุตสาหกรรมแล้วต่อด้วย B2B marketplace ได้เช่นเดียวกัน ข้อดีของ vertical คือมักเจอลูกค้าที่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกันโดยเฉพาะจริง ๆ

การจะเหนือกว่าคู่แข่งในตลาดทุกวันนี้ จะมาทำตลาดแบบเดิม ๆ คงไม่ได้ ต้องเปิดตลาดออกไปให้กว้างที่สุดด้วยวิธีการที่ง่าย ๆ เช่น ช่องทางออนไลน์ และในขั้นตอนต่อไปอาจเชื่อมโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกัน อย่าลืมให้ความสำคัญกับเรื่องของแบรนด์เพราะเป็นตัวกำหนดแวลูของสินค้าและต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิผลนั่นเอง