อายุ 40 เริ่มวางแผนเกษียณสายไปหรือไม่

การเตรียมตัวเพื่อเกษียณเป็นเรื่องไม่ยาก ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ แต่อาจเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้นถ้าเข้าสู่วัย 40 ปี เพราะอุปสรรคหลักของคนที่เพิ่งเริ่มวางแผนเกษียณในช่วงวัยนี้ คือ ระยะเวลาในการเตรียมเงินให้พร้อมเพื่อการเกษียณ เหลือไม่มากนัก


GoBear Financial Health Index ผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงิน ทำการสำรวจพฤติกรรมการวางแผนเก็บเงินเกษียณอายุของคนไทยประจำปี 2562 พบว่าคนไทยเริ่มสนใจหาข้อมูลเกี่ยวกับการวางแผนเกษียณตอนอายุ 32 ปี (แต่ยังไม่เริ่มลงมือวางแผน) และจะเริ่มลงมือวางแผนเก็บเงินเกษียณจริงจังเมื่ออายุประมาณ 41 ปี


ถึงแม้ว่าการเริ่มต้นวางแผนเกษียณในวัย 40 ปีจะถือว่าค่อนข้างช้าและมีโอกาสสูงที่จะเกษียณพร้อมเงินก้อนไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีการเริ่มต้นเลย อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการเริ่มวางแผนเกษียณในวัยนี้ คือ มีเป้าหมายชัดเจนในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ เช่น สามารถประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณใกล้เคียงความจริง


อีกทั้ง ข้อได้เปรียบของคนวัยนี้ คือ ความมั่นคงในหน้าที่การงานและการเงิน มีรายได้สูง ที่สำคัญค่าใช้จ่ายบางประเภทเริ่มลดลง หนี้สินที่ต้องผ่อนชำระก็เริ่มลดลง จึงสามารถแบ่งเงินมาวางแผนการเงินเพื่อเกษียณได้ในสัดส่วนที่สูง


การใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข จำเป็นต้องมีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสร้างสุขโดยไม่เป็นภาระของลูกหลาน 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตั้งใจที่จะเก็บเงินให้ครบ 4 ล้านบาท สำหรับไว้ใช้หลังเกษียณ และสมมติว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยปีละ 5% ถ้าเริ่มลงทุนตอนอายุ 40 ปี จะต้องออมถึงเดือนละ 9,002 บาท (ปีละ 108,024 บาท) ถึงอายุ 60 ปี จะมีเงินออม 4 ล้านบาท


สมมติว่า หลังวัยเกษียณ (อายุ 60 ปี) คาดว่าจะมีชีวิตไปจนถึงอายุ 85 ปี เมื่อคำนวณคร่าวๆ เงิน 4 ล้านบาท จะใช้จ่ายได้เฉลี่ยเดือนละ 12,820 บาท หรือ 427 บาทต่อวัน   


พอร์ตลงทุนที่ใช่ สำหรับวัย 40

เนื่องจากวัย 40 ซึ่งรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ไม่ต่ำและไม่สูงจนเกินไป ขณะเดียวกันเป็นวัยที่มีสถานะทางการเงินมั่นคงและเริ่มให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ดังนั้น พอร์ตลงทุนที่เหมาะสม คือ พอร์ตแบบกลางๆ (Moderate Portfolio) โดยเน้นการลงทุนในกองทุนรวม เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญการลงทุนคอยดูแลเงินลงทุนตลอดเวลา สามารถเลือกระดับความเสี่ยงได้ตามความเหมาะสม และกองทุนรวมบางประเภทได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี


โดยการจัดพอร์ตเพื่อวัยเกษียณควรให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนและผลตอบแทนที่เติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น พอร์ตการลงทุนควรประกอบด้วยสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้บ้าง เพื่อให้ผลตอบแทนที่ได้สูงกว่าเงินเฟ้อ


สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของพอร์ตกองทุนรวมแบบกลางๆ คือ เน้นลงทุนในระยะปานกลางถึงระยะยาว หมายความว่าลงทุนแล้วให้ถือ ไม่ปรับพอร์ตการลงทุนบ่อยจนเกินไป และเน้นดูผลตอบแทนภาพรวม (Total Return) และลงทุนตามสัดส่วนการลงทุนที่วางเอาไว้อย่างมีวินัย โดย 45 – 50% ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ , 30 – 35% ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ที่เหลือ 10 – 20% ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน


สำหรับการลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ เน้นลงกองทุนรวมตราสารหนี้ RMF ให้เต็มจำนวนก่อน เนื่องจากวัย 40 ปีมีฐานภาษีที่สูง เพราะรายได้เพิ่มสูงขึ้น จากนั้นจึงแบ่งเงินไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป


ส่วนการลงทุนในหุ้น เน้นกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นก่อน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระดับประมาณ 6 – 8% ต่อปี จากนั้นให้ลงทุนกองทุนรวม SSF และกองทุนรวมหุ้นทั่วไป ตามลำดับ


ถึงแม้ว่าช่วงนี้ตลาดหุ้นมีความผันผวน แต่ด้วยระยะเวลาการลงทุนประมาณ 20 ปีก่อนถึงวัยเกษียณ ตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวขึ้น ดังนั้น คนวัย 40 ปีควรลงทุนหุ้นตลอดเวลา ผ่านกองทุนรวมหุ้น เช่นเดียวกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กอง REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพราะมีความปลอดภัย ที่สำคัญให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม คนวัย 40 ปีอาจมีทั้งคนโสด แต่งงานแต่ยังไม่มีลูก แต่งงานและมีลูกแล้ว หรือต้องดูแลพ่อแม่ ดังนั้น พอร์ตการลงทุนอาจมีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย โดยผู้ที่มีภาระหน้าที่ต้องดูแลคนรอบข้าง ควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอและปลอดภัย นั่นคือ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กอง REITs และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองทุนรวมทั่วไปที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เพื่อนำผลตอบแทนที่ได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละงวด โดยลดน้ำหนักการลงทุนในกองทุนรวม RMF ลง เนื่องจากเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่ไม่มีการจ่ายเงินปันผล


ไม่ว่าจะมีพอร์ตลงทุนแบบไหน สิ่งสำคัญคือ การตรวจสอบพอร์ตลงทุนว่ายังสอดคล้องกับสไตล์การลงทุนและผลตอบแทนเป็นอย่างไร อาจตรวจสอบเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส แต่หากต้องการปรับพอร์ตลงทุนควรปรับตอนสิ้นปี เช่น กองทุนรวมที่มีผลตอบแทนขาดทุน และไม่มีเงื่อนไขทางภาษีที่ต้องเก็บไว้ให้ครบตามระยะเวลา ก็ควรขายออกไป แล้วหากองทุนรวมใหม่ประเภทเดิมเข้ามาทดแทน


หมายความว่า การปรับพอร์ตในแต่ละครั้งจะต้องให้น้ำหนักพอร์ตลงทุนเหมือนเดิม หรือเรียกว่าปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน (Portfolio Rebalancing) เช่น ผลตอบแทนจากกองทุนรวมหุ้นดีมาก หากไม่ทำอะไรก็ทำให้น้ำหนักพอร์ตการลงทุนฝั่งหุ้นเพิ่มขึ้น การปรับพอร์ต คือ ขายทำกำไรในส่วนของหุ้น เพื่อให้น้ำหนักของพอร์ตลงทุนเท่าเดิม


ยกตัวอย่าง พอร์ตลงทุนแบ่งเป็นกองทุนรวมหุ้น 50% กองทุนรวมตราสารหนี้ 50% และอีก 3 เดือนต่อมา ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 60% และกองทุนรวมตราสารหนี้ลดลงเหลือ 40% ก็ต้องขายทำกำไรกองทุนรวมหุ้น 10% แล้วนำกำไรดังกล่าวไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ จะทำให้สัดส่วนพอร์ตกองทุนลดลงเป็น 50% และกองทุนรวมตราสารหนี้กลับมาอยู่ที่ 50% เหมือนเดิม


สำหรับในช่วงตลาดขาลงหรือช่วงวิกฤต อาจทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมมีผลขาดทุน เช่น ช่วงวิกฤต COVID-19 ทำให้สัดส่วนการลงทุนกองทุนรวมหุ้นและกองทุนรวมตราสารหนี้ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม หากมั่นใจกับการลงทุนในระยะยาว ก็ควรลงทุนในกองทุนรวมหุ้นและกองทุนรวมตราสารหนี้เพิ่ม ด้วยวิธีการทยอยลงทุนแบบสม่ำเสมอ (DCA)


การวางแผนการเงินเมื่อใกล้เกษียณ นอกจากจะลำบากและกดดันตัวเองมากกว่าการเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว ยังอาจไม่ทันการณ์อีกด้วย แต่ก็ไม่คำว่าสายเกินไป หากเริ่มต้นลงมือวางแผน ยิ่งหากมีวินัยก็ทำให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางเอาไว้อย่างแน่นอน