ทำความรู้จักบันไดในบ้าน และตรวจสอบความปลอดภัยในการใช้งาน

บันไดทำหน้าที่เชื่อมต่อทางเดินระหว่างแต่ละชั้นภายในบ้าน ด้วยความที่เป็นทางเชื่อมที่ใช้เดินขึ้นลง ความปลอดภัยในการใช้งานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา นอกเหนือจากความสวยงาม

หลายๆ ท่านอาจไม่ทราบว่าบ้านเรามีกฎหมายเรื่องบันไดบัญญัติไว้ด้วย

กฎหมายเรื่องบันไดสำหรับบ้านพักอาศัย มีกำหนดไว้ใน กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 23 ซึ่งกำหนดบันไดสำหรับอาคารอยู่อาศัยไว้ดังนี้


“บันไดของอาคารอยู่อาศัยถ้ามี ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันไดที่มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ช่วงหนึ่งสูงไม่เกิน 3 เมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วเหลือความกว้างไม่ น้อยกว่า 22 เซนติเมตร และต้องมีพื้นหน้าบันไดมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได

บันไดที่สูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น และชานพักบันไดต้องมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได ระยะดิ่งจากขั้นบันไดหรือชานพักบันไดถึงส่วนต่ำสุดของอาคารที่อยู่เหนือขึ้นไปต้องสูงไม่ น้อยกว่า 1.90 เมตร “

จะเห็นว่าระยะต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด มีไว้เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้ใช้บันไดเดินขึ้นลง ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งสามารถขยายความได้ดังนี้

  1. บันไดต้องมีความกว้างให้เดินขึ้นลงได้อย่างสะดวกไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร คือไม่แคบจนเกินไป ความกว้างสุทธิหมายถึงความกว้างที่ไม่รวมสิ่งกีดขวางที่อยู่กับบันไดเช่น ราวกันตก  ถ้าบ้านไหนมีคนตัวใหญ่มากกว่า 1 คน แล้วเดินสวนกันโดยไม่ต้องรอให้อีกคนหนึ่งไปให้เสร็จก่อน ก็ควรจะมีบันไดกว้างกว่านี้    ความกว้างของบันไดยังส่งผลต่อความเป็นไปได้ในการขนของใหญ่ขึ้นลงอีกด้วย ดังนั้นก่อนจะซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ที่ถอดประกอบไม่ได้มาใช้ที่ชั้นบน ก็อย่าลืมตรวจเช็กขนาดของบันไดก่อนซื้อ


  2. บันไดช่วงหนึ่งต้องสูงไม่เกิน 3 เมตร ในที่นี้หมายถึง ความสูงจากระดับพื้นก่อนบันไดขั้นแรก ไปยังระดับพื้นบ้านของชั้นถัดไป เพื่อไม่ต้องเดินขึ้นลงอย่างต่อเนื่องมากเกินไป ซึ่งในที่นี้กำหนดไว้ที่ความสูง 3 เมตร ลองนึกถึงเวลาไปเที่ยวเขาที่มีบันไดให้เดินขึ้นเป็นร้อยๆ ขั้น ก็ย่อมต้องมีชานพัก หรือศาลาพัก เพื่อไม่ให้ต้องเดินขึ้นต่อเนื่องยาวเกินไปเช่นเดียวกัน

  3. ลูกตั้ง ซึ่งก็คือ ระยะความสูงระหว่างขั้นบันได ซึ่งต้องสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร เพื่อให้การก้าวขาขึ้นไม่ยากลำบากจนเกินไป และการเดินลงไม่รู้สึกชันจนเป็นอันตราย ทั้งนี้เพราะผู้อยู่อาศัยในบ้านอาจจะมี ผู้สูงอายุ หรือผู้มีปัญหาทางร่างกายรวมอยู่ด้วย

  4. ลูกนอน หรือขั้นบันได เมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วต้องเหลือระยะไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร ก็เพื่อให้มีระยะวางเท้าได้มากพอและปลอดภัยเวลาเหยียบลงไปแต่ละขั้น และเดินขึ้นลงได้อย่างไม่ลำบากนั่นเอง

  5. พื้นหน้าบันไดต้องมีความกว้างและความยาว ไม่น้อยกว่าความกว้างบันได เพื่อให้ผู้ที่เดินขึ้นลงได้มีที่พักที่ปลายทาง และก่อนการเดินลงมีพื้นที่พอสำหรับการเตรียมตัวก้าวขาลงได้อย่างถนัด

  6. หากแต่ละชั้นในบ้านมีความสูงต่างกันเกิน 3 เมตร จะต้องมีชานพักเพื่อไม่ให้ช่วงบันไดมีความสูงเกิน 1 เมตร และชานพักต้องมีความกว้างและความยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได

  7. ผู้ใช้บันไดต้องสามารถเดินขึ้นลงได้โดยแต่ละขั้นที่เดินอยู่หัวต้องไม่ชนกับส่วนหนึ่งส่วนใดของบ้านด้านบน โดยกฎหมายกำหนดความสูงบริเวณนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร แต่ถ้าบ้านไหนมีคนสูงเกินมาตรฐานไปเยอะๆ ก็อาจต้องพิจารณาประเด็นนี้ด้วยตัวเองเป็นพิเศษ

นอกจากนี้แล้ว ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับการใช้งานบันได

1.  ราวกันตก : เป็นสิ่งสำคัญสำหรับบันได ราวกันตกควรมีรูปร่างและขนาดที่จับง่าย ยึดอยู่กับโครงสร้างอย่างแข็งแรง และอยู่ในระดับความสูงที่จับสะดวกในขณะขึ้นลง บันไดที่มีราวกันตกแค่ฝั่งเดียว และมีราวมือจับที่ไม่ต่อเนื่อง ย่อมทำให้การเดินขึ้นลงลำบาก โดยเฉพาะผู้ใช้งานที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการ

2. จมูกบันได : คือส่วนที่ยื่นออกมาจากปลายของลูกนอน โดยมักจะยื่นออกมาประมาณ 1 นิ้ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่วางเท้า และโดยทั่วไปจะมีการหุ้มด้วยวัสดุกันลื่น หรือเซาะร่อง ซึ่งจะช่วยกันลื่น และช่วยให้ผู้ใช้บันไดสังเกตเห็นบันไดแต่ละขั้นได้ง่ายขึ้น

4. ลูกตั้ง : โดยปกติแล้ว ผู้ที่เดินขึ้นลงบันได มักจะเดินด้วยความรู้สึกคุ้ยเคย ก้าวขึ้นหรือลงอย่างเท่าๆ กันไปทุกขั้น มากกว่าที่จะมองที่ขั้นบันไดตลอดเวลา ดังนั้นการมีลูกตั้งที่สูงเท่ากันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในเรื่องความปลอดภัย ลูกตั้งที่ไม่เท่ากันอาจจะเกิดจาก ปัญหาเรื่องงานฝีมือช่างก่อสร้าง หรือการปรับแต่ง ต่อเติมโดยผู้ที่ไม่มีความรู้

5. ลูกนอน : เช่นเดียวกับลูกตั้ง ลูกนอนของบันไดก็ควรมีความกว้างที่เท่ากัน เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมการเดินขึ้นลงของผู้ใช้บันได

6. แสงสว่างที่เพียงพอ : บันไดสามารถอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของบ้านได้อย่างหลากหลาย ตามแต่แนวทางการจัดวางและออกแบบ แต่ก็ต้องคำนึงถึงแสงสว่างที่ใช้อำนวยความสะดวกในการเดินขึ้นลงบันไดด้วย โดยสามารถเป็นได้ทั้งแสงจากโคมไฟ หรือแสงธรรมชาติที่ได้รับมาจากหน้าต่างกระจกที่มักจะมีอยู่ใกล้ๆ กับบันได บันไดที่มีผนังทึบปิดทั้ง 2 ข้าง อาจต้องใช้ลูกตั้งแบบโปร่งซึ่งก็คือ บันไดที่มีแต่ลูกนอนส่วนลูกตั้งปล่อยโล่ง เพื่อรับแสงจากบริเวณข้างเคียง ซึ่งก็แล้วแต่แนวทางการออกแบบ


ประเด็นต่างๆ ทั้งหมดนี้ ทั้งที่กำหนดโดยกฎหมาย และไม่ได้กำหนด เป็นเหมือน check list สำหรับเจ้าของบ้านที่สามารถนำไปตรวจสอบบันไดที่บ้าน เพื่อให้ทุกๆ คนในบ้านได้ใช้บันไดอย่างปลอดภัย ส่วนเจ้าของบ้านท่านใดที่กำลังออกแบบบ้านใหม่ หรือซื้อบ้านใหม่จากโครงการต่างๆ ก็อาจไม่ต้องกังวลเท่าไหร่ เพราะบ้านที่ออกแบบโดยสถาปนิกก็จะมีการออกแบบบันไดให้ปลอดภัย และเป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว