คิดให้รอบครอบ เปรียบเทียบให้ดีก่อนรีไฟแนนซ์

มีคำกล่าวว่าถ้าจะผ่อนบ้านให้คุ้ม ให้หมดไวต้องรีไฟแนนซ์ 3 ครั้ง  ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น...คนส่วนใหญ่ที่ซื้อบ้านต้องใช้บริการสินเชื่อบ้านกับธนาคารผ่อนกันยาวๆ 15 ปี 20 ปี 30 ปี กันแทบทั้งนั้น คนที่ทำสัญญาเงินกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคารจะรู้ว่าธนาคารส่วนใหญ่จะแข่งกันให้อัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงสามปีแรก เช่นดอกเบี้ยคงที่ 2.5 % ต่อปีสามปีแรก หรือปีแรก 1.72  ปีที่สอง 2.2 ปีที่สามเป็นต้นไป MRR – 2 เป็นต้นซึ่งแปลว่าในปีที่สามเป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยจะลอยตัวซึ่งอาจอยู่ระหว่าง 4 % กว่า ถึง 6-7% ก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย ณ ช่วงเวลานั้น และห้ามปิดบัญชีหรือรีไฟแนนซ์ก่อนครบอายุสัญญา 3 ปี ถ้าออกก่อนหรือปิดสัญญาก่อนจะต้องเสียค่าปรับให้กับธนาคาร ดังนั้นเมื่อครบสามปีผู้กู้จึงรีไฟแนนซ์เพื่อหนีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ดอกเบี้ยสูง เช่น วงเงินกู้ 4.6 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4.2% ผ่อนชำระที่เดือนละ 30,000 บาทจะเป็นเงินต้นเพียง 12,000 บาท ที่เหลือ 18,000 เป็นดอกเบี้ยทั้งหมด ผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องการเงินและวางแผนการเงินจึง
รีไฟแนนซ์เมื่อสัญญากับธนาคารเดิมครบ 3 ปี

ปัจจุบันธนาคารต่างๆ มีโปรโมชั่นรีไฟแนนซ์ออกมาแข่งขันกันมากมาย ทั้งแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี เช่น  2.5 ตลอดสามปี หรือดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได เช่นปีแรก 1.72 ปีที่สอง 2.22 ปีที่สาม ขึ้นไป MRR -1.75 เป็นต้น บางธนาคารจะมีโปรโมชั่นเพิ่มเติมเช่นฟรีค่าจดจำนองกับกรมที่ดิน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากอยู่คือ 1% ของวงเงินกู้ เช่นถ้ากู้ 4.5 ล้านบาทก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กรมที่ดินถึง 45,000 บาท แต่ในกรณีที่ธนาคารออกค่าธรรมเนียมในการจดจำนองให้มักจะให้ผู้กู้อยู่กับธนาคารอย่างน้อย 5 ปีจึงจะรีไฟแนนซ์หรือปิดสัญญาได้ และมักให้ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ ผู้กู้จึงต้องพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่ที่จะให้ธนาคารจ่ายค่าจดจำนองกับกรมที่ดินให้

นอกจากค่าจดจำนองยังมีค่าประเมินราคาบ้านซึ่งค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 5,000 บาท บางธนาคารก็มีโปรโมชั่นฟรีค่าประเมินให้ นอกจากค่าประเมินยังมีค่าอากรแสตมป์อีก 0.05 ของวงเงินกู้ และค่าประกันอัคคีภัยอีก เช่น กรณีวงเงินกู้ 4.5 ล้านบาท ค่าประกันอัคคีภัยจะอยู่ที่ประมาณ 2 พันบาทต่อปี ธนาคารจะให้ผู้กู้ทำประกันอัคคีภัยอย่างน้อยสามปีเพื่อครอบคลุมระยะเวลาในสัญญา แต่ในกรณีที่กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยกับธนาคารเดิมมีอายุครอบคลุมสัญญาใหม่ (ธนาคารมักให้ทำประกันอัคคีภัยในระยะยาวเพราะยิ่งยาวค่าเบี้ยประกันยิ่งต่ำ เช่น ทำไว้ 6 ปีเป็นต้น) และมีวงเงินคุ้มครองไม่ต่ำกว่าราคาประเมินบ้านใหม่ก็สามารถใช้กรมธรรม์เดิมได้ โดยให้ธนาคารต้นทางต้องเซ็นสลักหลังให้ธนาคารใหม่ที่จะไปรีไฟแนนซ์เป็นผู้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์ บางกรณีถึงแม้กรมธรรม์เดิมจะครอบคุลมอายุสัญญาใหม่แต่วงเงินต่ำกว่าราคาประเมินหลักทรัพย์ของธนาคารใหม่ก็ต้องทำประกันอัคคีภัยใหม่อยู่ดี

ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจรีไฟแนนซ์หรือไม่รีไฟแนนซ์และอยู่กับธนาคารเดิมต่อไป หรือจะเลือกรีไฟแนนซ์กับธนาคารไหนดีนั้น ต้องพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ให้รอบคอบ ว่าดอกเบี้ยที่ลดลงคุ้มกับค่าใช้จ่ายๆ ต่างๆ ที่ต้องเสียในการรีไฟแนนซ์หรือไม่ โดยพิจารณาจากดอกเบี้ยเดิมที่เสียอยู่เปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยใหม่บวกกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าโอน ค่าอากรแสตมป์ ค่าประกันอัคคีภัย รวมทั้งค่าประเมิน ถ้าคำนวณแล้วคุ้มก็ลุยต่อไปเพราะนั่นแปลว่าเราจะประหยัดค่าดอกเบี้ยลงมาและปิดสัญญาได้เร็วขึ้น แนะนำว่าถ้าดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได เช่น ปีแรกอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดให้รีบโปะเพราะเงินที่โปะไปจะเป็นเงินต้นมากกว่าดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยให้เราปลดหนี้ได้เร็วขึ้น

ถ้าตัดสินใจแล้วว่าจะ รีไฟแนนซ์ แนะนำให้ติดต่อธนาคารปลายทางประมาณหนึ่งเดือนก่อนวันที่จะครบกำหนด 3 ปีกับธนาคารเดิมเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเดือนสุดท้ายกับธนาคารเดิม ย้ายมาที่ใหม่เมื่อครบสัญญาได้ทันที  สนใจ รีไฟแนนซ์ SCB มีข้อเสนอที่ถูกใจให้คุณประหยัดดอกเบี้ยและปลดภาระหนี้ได้เร็วขึ้น สนใจติดต่อ https://www.scb.co.th/th/personal-banking/loans/home-loans/refinance-loan/apply-form.html