GDP คืออะไร? ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่นักลงทุนทุกคนควรรู้จัก

หากเราได้ฟังหรืออ่านข่าวเศรษฐกิจ เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘GDP’ กันมาบ้าง แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่า GDP มีความสำคัญอย่างไร และทำไมเราต้องมารู้จักกับเจ้า GDP กันด้วย บทความนี้มีคำตอบ

 
GDP (Gross Domestic Product) หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ คือ มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะเป็นผลผลิตที่ได้จากทรัพยากรภายในหรือภายนอกประเทศ ซึ่งคิดค้นโดย Simon Kuznets นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซีย ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงมาตรฐานการครองชีพของประชากรในประเทศนั้นๆ ได้ด้วย สูตรคำนวณค่า GDP ดังนี้

                                                       
GDP = C + I + G + (X – M)


C หรือ Consumption คือ มูลค่าการบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป (Private Consumption) ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลแทบทั้งหมดเช่น อาหาร ค่าเช่า ค่ายา รวมมูลค่ารถยนต์คันใหม่ แต่ไม่รวมมูลค่ารถยนต์มือสอง และไม่รวมการซื้อที่อยู่อาศัยหลังใหม่


I หรือ Investment คือ มูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชนในสินค้าทุน เช่น การก่อสร้างเหมืองแร่ใหม่ การซื้อซอฟต์แวร์ การซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรสำหรับโรงงาน เป็นต้น การใช้จ่ายโดยครัวเรือนเพื่อซื้อบ้านหลังใหม่รวมไว้ในการลงทุนเช่นกัน แต่ การซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น การซื้อหุ้นสามัญหรือหุ้นกู้ ไม่จัดว่าเป็นการลงทุนแต่เป็นการออม (Saving) จึงไม่รวมใน GDP เพราะเป็นเพียงการสับเปลี่ยนเอกสารทางกฎหมายเท่านั้น ซึ่งเงินนั้นไม่ได้ถูกแปลงให้เป็นสินค้าหรือบริการ จึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่แท้จริง และจัดให้เป็นรายจ่ายประเภทเงินโอน (Transfer Payment)


G หรือ Government Spending คือ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย ซึ่งรวมถึงเงินเดือนของข้าราชการ การซื้ออาวุธทางทหาร และค่าใช้จ่ายลงทุนของรัฐ แต่ไม่รวมรายจ่ายประเภทเงินโอนอย่างเช่น สวัสดิการสังคมหรือผลประโยชน์จากการว่างงาน


X หรือ Export คือ มูลค่าการส่งออก


M หรือ Import คือ มูลค่าการนำเข้า

 
GDP มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ ในระบบเศรษฐกิจต้องมีการหมุนเวียนของรายได้และรายจ่ายของภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาครัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ นั่นแปลว่า ประชาชนมีงานทำ และมีรายได้เพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอยสำหรับซื้อสินค้าและบริการ จ่ายภาษีให้รัฐบาล และหากมีเงินเหลือ (ซึ่งก็คือเงินออม) ก็สามารถนำเงินไปออมในสถาบันการเงินหรือลงทุนในธุรกิจ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมต่างๆ 

 


ภาคธุรกิจก็จะมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ โดยการนำเงินลงทุน (เงินกู้) จากสถาบันการเงินมาผลิตสินค้าและบริการ จ่ายดอกเบี้ย จ่ายค่าแรง จ่ายค่าปัจจัยการผลิตต่างๆ อีกทั้งจ่ายภาษีรายได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาครัฐ


ส่วนภาครัฐจะมีรายได้จากภาษีต่างๆ โดยที่รัฐจะนำรายได้จากภาษีมาใช้จ่ายในการสร้างสาธารณูปโภค การสนับสนุนส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และให้ภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายและการออมเงินอย่างเหมาะสม และวัดผลได้เป็น “ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ” หรือ GDP นั่นเอง


หาก GDP เป็นบวก หมายความว่า เศรษฐกิจภาพรวมมีการเติบโตขึ้นจากปีก่อน คนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ภาครัฐ ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และมูลค่าการส่งออกสูงกว่าการนำเข้า ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี เช่น ประมาณการ GDP ปี 2561 อยู่ที่ 4.4% แปลว่าเศรษฐกิจโดยรวมของปี 2561 โตขึ้นจากปี 2560 อยู่ที่ 4.4%


ในทางตรงกันข้าม หาก GDP ติดลบ เป็นการบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นหยุดชะงัก ชะลอตัว หรือไม่เป็นไปตามที่ธนาคารกลางของประเทศประมาณการ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการจ้างงานอาจจะต่ำกว่าคาด การลงทุนภาคอุตสาหกรรมลดลง การใช้จ่ายของภาครัฐน้อยกว่าที่คาด แม้กระทั่งการบริโภคของประชาชนก็ลดลงด้วย ตัวเลข GDP ที่ติดลบนี้ จะทำให้นักลงทุนเกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินไปลงทุนในตลาดหรือระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและมีการเติบโตที่มากกว่า

 
GDP เป็นดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ที่สามารถบอกได้ถึงการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศในแต่ละปีว่ามีการเติบโตขึ้น หรือลดลงเท่าใด แต่ไม่สามารถชี้วัดคุณภาพชีวิตที่แท้จริงได้ เพราะบางครั้งที่สินค้าหรือบริการจะจำหน่ายได้ ก็มาจากการที่เรามีคุณภาพชีวิตแย่ๆ หรือส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การจับจ่ายใช้สอยที่เกิดจากการกู้หนี้ยืมสินมาจนเกินตัวทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนในระดับสูง หรือการเร่งขยายธุรกิจจนละเลยผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จึงมีความพยายามที่จะใช้ตัววัดในรูปแบบอื่นที่เน้นวัดความก้าวหน้าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) โดยองค์การสหประชาชาติ ดัชนีโลกมีสุข (Happy Planet Index) โดย New Economics Foundation ในขณะที่บางประเทศก็เลือกที่จะพัฒนาดัชนีชี้วัดของตนเองขึ้นมา เช่น ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ของประเทศภูฏาน และดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีส่วนบุคคลของออสเตรเลีย (Wellbeing Index – Australian Unity) เป็นต้น

 
อย่างไรก็ตาม เมื่อ GDP คือ ค่าที่ใช้วัดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ มันจึงยังมีความสำคัญต่อนักลงทุนและการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน (Fund Flow) เพราะนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ ย่อมอยากจะลงทุนในประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ดี มีเสถียรภาพ และมีการเติบโตที่มากกว่า ดังนั้น GDP จึงยังเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญที่นักลงทุนควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน และไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป


บทความโดย   นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®   นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร