เราควรขายการลงทุนเมื่อไหร่ดี

อีกหนึ่งคำถามที่คนมักสงสัยว่า หากเราได้มีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ มาถึงระยะเวลาหนึ่ง เราควรขายการลงทุนเมื่อไหร่ดี เพราะมีนักลงทุนจำนวนมากที่หลังจากได้ลงทุนไปแล้ว ก็ถือไว้ยาว มีทั้งไม่ได้สนใจ ไม่ได้คิดจะขายและก็ไม่รู้ว่าจะขายตอนไหนดี บทความนี้มีคำตอบ


อันที่จริง เรื่องเมื่อไหร่ควรขายการลงทุนดี เป็นการตัดสินใจที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่มีสูตรสำเร็จหรือกฎเกณฑ์อะไรตายตัว เหตุผลคือไม่มีใครกำหนดหรือคาดการณ์อนาคตได้อย่างถูกต้อง ว่ามูลค่าการลงทุนที่ลงทุนอยู่จะมากขึ้นหรือลดลงอย่างไร นักลงทุนที่เจอกับสถานการณ์เดียวกันอาจตัดสินใจแตกต่างกันก็ได้


แม้ว่าจะไม่มีสูตรสำเร็จหรือกฎเกณฑ์ตายตัวว่าเราควรจะขายการลงทุนเมื่อไหร่ดี แต่ในบทความนี้จะนำเสนอเทคนิคสำหรับนักลงทุนเพื่อนำไปประกอบตัดสินใจ ว่าเมื่อไหร่เป็นเวลาที่เหมาะสมในการขายการลงทุน

sell

1. เมื่อได้กำไรตามเป้าหมาย

ก่อนลงทุน หากนักลงทุนมีการกำหนดเป้าหมายผลตอบแทนจากการลงทุนไว้ เช่น ถ้ามีการตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้ว่า หากมีกำไร 20% หรือ 30% แล้วจะขาย เมื่อผลตอบแทนถึงเป้าหมายแล้วก็ให้ขายทำกำไรออกไป มีนักลงทุนหลายคนใช้กลยุทธ์เลือกขายเฉพาะส่วนที่เป็นกำไร โดยเก็บเงินต้นเพื่อเป็นการลงทุนต่อไป ก็เป็นกลยุทธ์ที่ดีถ้าแนวโน้มของการลงทุนนั้นๆ ยังให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ แต่ถ้าเป้าหมายการลงทุน คือต้องการเงินปันผลหรือต้องการถือระยะยาว ก็ควรยึดเป้าหมายตามนั้น เพราะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ส่วนใหญ่แล้วจะต้องลงทุนในระยะยาว


2. เมื่อต้องการปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม (Portfolio Re-balancing)

หากนักลงทุนมีการทำ Asset Allocation หรือกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภทตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ เมื่อเวลาผ่านไป สัดส่วนการลงทุนอาจเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น หากนักลงทุนรับความเสี่ยงได้ปานกลาง และได้จัดพอร์ตกระจายการลงทุนไปยังหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% เมื่อเวลาผ่านไป หากตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น ราคาหุ้นย่อมขึ้นได้มากกว่าราคาตราสารหนี้ ส่งผลให้สัดส่วนของหุ้นในพอร์ตของเรามากกว่า 50% เราก็จะขายหุ้นออก และไปซื้อตราสารหนี้เพิ่มเพื่อปรับสัดส่วนให้กลับมาเป็น 50:50 เหมือนเดิม ซึ่งเราเรียกว่าการทำ Portfolio Re-balancing หรือการปรับพอร์ตสมดุลการลงทุน


การปรับพอร์ตสมดุลการลงทุน คือ การปรับสัดส่วนของสินทรัพย์หลักที่เราวางแผนลงทุนในระยะยาว ให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่เราตั้งใจลงทุนไว้ในตอนแรก ทำได้โดยการขายสินทรัพย์ที่มีน้ำหนักเกินสัดส่วนที่กำหนด และซื้อสินทรัพย์ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าที่เรากำหนด เพื่อทำให้พอร์ตกลับมามีความสมดุลเหมือนเดิมนั่นเอง

3.เมื่อการลงทุนนั้นไม่สามารถให้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง

หากเราพิจารณาแล้วว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการลงทุนได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่น หากลงทุนในหุ้นอยู่ แล้วปัจจัยพื้นฐานของหุ้นนั้นเปลี่ยนแปลงไป เช่น ยอดขายตก ความสามารถในการทำกำไรลดลง กระแสเงินสดต่ำกว่าที่เราประเมิน หรือเริ่มมีสัญญาณของการสูญเสีย Market Share ในตลาด แม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนผู้บริหารที่เราไม่รู้จัก สิ่งเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณที่บอกเราว่าควรขายหุ้นออกไป


หากนักลงทุนลงทุนในกองทุนรวม การดูสัญญาณทางเศรษฐกิจซึ่งแสดงถึงพื้นฐานของภูมิภาคที่เราไปลงทุน จะเป็นตัวตัดสินใจว่า เราควรขายหรือยัง เช่น GDP เริ่มชะลอตัว มีกระแสเงินทุนไหลออกมากผิดปกติ การชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งต้องพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ประกอบการตัดสินใจ ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องหมั่นทบทวนการลงทุนของตัวเองอยู่เสมอ


4.เมื่อเราหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

หลังจากที่นักลงทุนได้ลงทุนไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อ คือ ต้องพยายามเสาะแสวงหา เปรียบเทียบผลตอบแทน และโอกาสการที่อยู่รอบตัวเราเสมอๆ เพื่อขยายโอกาสในการลงทุนออกไป ถ้ามีช่องทางใหม่ๆ ที่สามารถทำกำไรได้ดีกว่าการลงทุนในปัจจุบัน โดยที่ต้องไม่ลืมพิจารณาเรื่องความเสี่ยงด้วย การเลือกขายการลงทุนที่มีอยู่ เพื่อนำเงินไปลงทุนในทางเลือกใหม่ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น เช่น นำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือทำธุรกิจที่น่าสนใจที่เรามีความถนัดและกำลังมาแรง เป็นต้น


5.เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และต้องการถือสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน

ในยามที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ การมีเงินสภาพคล่องที่เพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก ตามหลักการวางแผนการเงิน เราควรมีสภาพคล่องอย่างน้อย 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่ในยามที่เกิดวิกฤต อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่รุนแรง เช่น ถูกให้ออกจากงานกะทันหัน และตกงานนานกว่าที่คาด ทำให้ขาดรายได้ เราจึงต้องมีเงินเก็บที่มากพอให้เราผ่านวิกฤตไปได้ ทำให้จำเป็นต้องขายการลงทุนออกมา


นอกจากนี้หากเราประเมินไม่ได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงจะมีระยะเวลานานแค่ไหน การขายลดพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงออกมาเพื่อถือเงินสด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนลงได้ หรือในยามที่หุ้นตกหนักๆ อาจเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนก็ได้ เราควรจะมีเงินสดสำรองไว้เพื่อซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานไปมากๆ เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นกลับมา หากหุ้นนั้นเป็นหุ้นที่ดี หุ้นนั้นก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีกับเราได้


แม้ว่าคำแนะนำสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนที่ดี คือ การลงทุนระยะยาว แต่ในระหว่างที่ลงทุน นักลงทุนก็ไม่ควรละเลยในการติดตามข่าวสารการลงทุน และผลตอบแทนของการลงทุนที่ถือไว้อย่างสม่ำเสมอว่า การลงทุนนั้นยังทำผลงานได้ดี ให้ผลตอบแทนที่ดี จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ปรับตัวรับความผันผวนได้ดีอยู่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือลงทุนต่อไปได้ แต่ถ้าหากการลงทุนเริ่มมีผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาด หรืออยู่ในสถานการณ์ตามที่ว่ามาข้างต้น ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมในการคิดพิจารณาเพื่อขายการลงทุนออกไป



บทความโดย :

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP®, ACC

นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร