หาหลุมหลบภัยเงินเฟ้อ สร้างกระแสเงินสด รับดอกเบี้ยขาขึ้น

คุณศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ Money Chat ว่า เงินเฟ้อรอบนี้ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยทางด้านราคา และด้านซัพพลาย หรือ Cost - Push Inflation ซึ่งแต่ละประเทศมีลำดับขั้นเงินเฟ้อไม่เท่ากัน


โดยเงินเฟ้อของสหรัฐเกิดขึ้นหลังจากโควิด-19 ทำให้ซัพพลายด้านแรงงานขาดแคลน และยังเผชิญกับราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงราคาอาหารทั่วโลกเริ่มปรับราคาขึ้นสูง ทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี


อย่างไรก็ตาม ข้อดีของสหรัฐ คือ นโยบายดอกเบี้ยนโยบายการเงินปรับตัวไประดับหนึ่งแล้ว และยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อๆ ไปด้วย รวมทั้งยังมีเรื่องของการดูดสภาพคล่องออกจากระบบ สิ่งเหล่านี้สหรัฐทำก่อนคนอื่น ขณะเดียวกัน มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ แม้โอกาสเพิ่มขึ้นแต่ไม่ถึงกับน่ากังวล เพราะราคาค่าแรงยังอยู่ในระดับสูง อัตราการว่างานอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และการจ้างงานยังดีอยู่


ขณะที่คาดว่าเงินเฟ้อยุโรปจะถึงจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3-4/2565 เพราะยุโรปประสบปัญหาเหมือนสหรัฐ แต่สิ่งที่ยุโรปหนักกว่าสหรัฐ คือ เรื่องพลังงาน เนื่องจากยุโรปเป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ โดยเฉพาะนำเข้าจากรัสเซีย เมื่อมีการค่ำบาตรยิ่งทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น รวมทั้งยุโรปพยายามปรับโครงสร้างพลังงานในประเทศ ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างในระยะยาว ทำให้ราคาพลังงานกดให้เงินเฟ้อลดลงช้า ส่งผลให้เงินเฟ้อในยุโรปยาวนานกว่าสหรัฐ นอกจากนี้ นโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยของยุโรปยังขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แต่ล่าช้ากว่าสหรัฐ ดังนั้นเงินเฟ้อจะลดลงค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับสหรัฐ


ขณะเดียวกัน คาดว่าเศรษฐกิจยุโรปยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ เพราะหลังจากเปิดประเทศ เศรษฐกิจถูกกระตุ้น มีนักท่องเที่ยว การผลิตต่างๆ ก็ยังดำเนินอยู่ อย่างไรก็ตามจะต้องไปดูผลจริงของการขึ้นดอกเบี้ยว่าจะส่งผลให้เศรฐกิจชะลอตัวลงมากน้อยแค่ไหน


สำหรับเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น จากราคาพลังงาน และอาหาร แต่มีความแตกต่างจากยุโรป คือ ค่าแรงหลายกลุ่มอุตสาหกรรม หลังเกิดโควิด-19 ต้องลดค่าแรงลง ยังไม่กลับไปถึงจุดที่ต้องขึ้นค่าแรง แต่ต้องดูช่วงที่เปิดประเทศเต็มที่ ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโตเต็มที่ ค่าแรงจะกลับไปที่เดิมหรือไม่ ถ้ากลับไปที่เดิมก็จะมาเสริมเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น


ทางด้านเงินเฟ้อของจีนยังไม่ผ่านจุดพีค เหมือนกับประเทศในเอเชียที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ข้อดีของจีน คือ เป็นประเทศที่สามารถควบคุมราคาได้เกือบทุกอย่าง ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทำให้เงินเฟ้อของจีนอยู่ภายใต้การควบคุมได้


ในส่วนเงินเฟ้อของญี่ปุ่น คาดว่าเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับขึ้นบ้าง จากราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เทรนด์ของเงินเฟ้อญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำมาต่อเนื่อง

investment-amid-inflation-01

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี คาดว่าจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 3-3.5% และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นดูจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปลายปีนี้น่าจะไปอยู่ที่ 3% ซึ่งถือว่าดอกเบี้ยถูกปรับฐานจากดอกเบี้ยต่ำ เพราะเงินเฟ้อที่ไม่เหมือนเดิม ถ้าระยะยาวเชื่อว่าดอกเบี้ยได้กลับเข้าสู่ Equilibrium Point แล้ว แต่จะกลับไปสู่ระดับ 4-5% คงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นดอกเบี้ยจะไม่ปรับขึ้นสูงไปสู้กับเงินเฟ้อถึงระดับเหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว


ส่วนการลงทุนในสถานการณ์ดังกล่าว มองว่าทุกวิกฤตมีโอกาสทุกสถานการณ์ ช่วงดอกเบี้ยสูง การลงทุนส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ตราสารหนี้ เงินฝาก ส่วนช่วงดอกเบี้ยต่ำ ก็หันมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นช่วงนี้ถือเป็นโอกาสในการปรับพอร์ต ที่อาจจะมองหาในสินทรัพย์ใหม่ๆ ซึ่งมีหลายกลยุทธ์ที่สามารถทำได้ในช่วงจังหวะเงินเฟ้อสูงขึ้นและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น


สำหรับกลยุทธ์หนึ่งในช่วงนี้ควรจะสร้างกระแสเงินให้มากขึ้น เพราะ Valuation หุ้นลดลง จากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ยังกดดันตลาดหุ้นอยู่ แต่จะมีการลงทุนประเภทที่แสวงหากระแสเงิน เช่น กลุ่มตราสารหนี้ ไม่เหมือนเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นยังไม่ถึงจุดสูงสุด แต่ Yield Curve หรือเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร สะท้อนตลาดไปไกลมากแล้ว


โดย Yield Curve หรือเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ Yield Curve ขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ยนโยบาย เพราะคนส่วนใหญ่คาดการณ์ดอกเบี้ยจะขึ้นกี่ครั้ง เพราะฉะนั้นระดับความเหมาะสมของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ในระดับ 3-3.5% ใกล้เข้ามาแล้ว ดังนั้นสามารถเข้าไปทยอยสะสมตราสารหนี้ในตลาดต่างประเทศได้ เช่น หุ้นกู้เอกชนชั้นดีที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ลงทุนผ่านกองทุน หรือลงทุนโดยตรงผ่านตราสารหนี้ดังกล่าว ก็จะช่วยทำให้ได้กระแสเงินในระดับที่สูงมากกว่าในอดีตพอสมควร


ถัดมา คือ กลยุทธ์ที่สามารถหาตราสารหนี้แบบอ้างอิงอนุพันธ์ เป็นกลยุทธ์ที่สามารถลงทุนตราสารหนี้ได้ดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง แต่อ้างอิงกับหลักทรัพย์บางอย่าง เช่น อ้างอิงกับหุ้น และตราสารอนุพันธ์ ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มนอกเหนือจากดอกเบี้ยที่ได้รับอยู่ปกติ และสามารถออกแบบให้มีระดับการป้องกันความเสี่ยงในตลาดขาลงได้

รวมไปถึงการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์นอกตลาด หรือที่เรียกว่า Private Assets ข้อดี คือ การลงทุนในหุ้นระยะยาวที่เลือกสรรหุ้นในระดับที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เพราะไม่มีราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีความผันผวนราคาต่ำกว่าหุ้นในตลาด โดยประเมินจากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นหรือตราสารหนี้ที่ลงทุนว่าระยะยาวผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร บริษัทจะยังอยู่รอดและทำกำไรได้ไหม ซึ่งช่วงที่ผ่านมาสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้ แต่ข้อเสีย คือ สภาพคล่องน้อย ดังนั้นมีกองทุนอีกประเภทหนึ่ง คือ สามารถลงกองทุน Private Assets ที่สร้างสภาพคล่องให้ได้ โดยผู้จัดการกองทุนจะเปิดให้นักลงทุนสามารถขายคืนได้


อีกทั้งยังมีการลงทุนระยะยาว โดยหาธีมการลงทุนหรือเทรนด์การลงทุนระยะยาว เช่น เทรนด์หลักๆ ของโลกที่กำลังเกิดขึ้น อาทิ พลังงานสะอาด, EV, เทคโนโลยี, ESG ซึ่งมีกองทุนรวมประเภทนี้ เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมและหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว


นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการลงทุนที่ใช้หลักทรัพย์ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ มาเป็นหลักประกันเงินกู้ในระยะสั้น ซึ่งจะได้สภาพคล่องออกมาเพื่อนำไปลงทุนต่อ สามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ โดย SCB ก็มีกองทุนหลายประเภทสำหรับนักลงทุนที่มีเม็ดเงินสูงระดับ Ultra High Net Worth พร้อมมี Investment Advisor ให้คำปรึกษา


ในส่วนของการเข้าซื้อกองทุนบริหารจัดการภาษี แนะนำกลยุทธ์การลงทุนแบบระยะยาว เช่น เทคโนโลยี ที่ปัจจุบันราคาปรับตัวลงแรง ราคาช่วงนี้น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว เพราะ Valuation ปรับลงมา ระยะสั้นอาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ระยะยาว 10 ปี ดอกเบี้ยไม่น่าจะขึ้นต่อเนื่อง สามารถทยอยลงทุนตั้งแต่ช่วงนี้ไม่ต้องรอลงทุนปลายปี โดย บลจ.ไทยพาณิชย์ มีกองทุน SSF ที่มีนโยบายลงทุน กลยุทธ์ และธีมการลงทุนที่หลากหลาย เช่น Healthcare, Growth Technology และ ESG สามารถเลือกลงทุนได้ตามมุมมองการลงทุนของนักลงทุน

“อย่ายึดติดกับกลยุทธ์การลงทุนแบบเดิมๆ เช่น หุ้น หรือ กองทุนรวม อย่างเดียว เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปหมดแล้ว ขณะนี้ดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ในขาลง สภาพคล่องไม่ได้ล้นเหมือนสมัยก่อน ตลาดมีการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไป เราต้องมองหาประเภทของสินทรัพย์ใหม่ๆ กลยุทธ์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังหลายกลยุทธ์การลงทุนที่ไม่ต้องเดาทางตลาด แต่ยังสร้างผลกำไรได้”


คุณศรชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า การลงทุนควรเน้นกระจายความเสี่ยงไปในหลายนโยบายการลงทุน และสินทรัพย์ที่หลากหลาย โดยมองตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้นกว่าเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะระยะสั้นจะเห็นปัจจัยบวกทั้งการเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวกลับเข้ามามากขึ้น สิ่งเหล่านี้มีผลมากต่อการจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศ โดยจะมี Sector ที่ Underperform ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สนามบิน และโรงพยาบาล นอกจากนี้ หลายกองทุนที่เกี่ยวกับกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ซึ่ง Underperform แต่ยังสร้างกระแสเงินได้ดี กำลังจะกลับเข้าไปปกติ รวมทั้งหุ้นกู้เอกชนยังน่าสนใจ เพราะ Yield Curve ไทย ปรับขึ้นไปกว่า 1% แล้ว


ส่วนตลาดหุ้นเวียดนาม ต้องลงทุนระยะยาว เพราะปัจจัยพื้นฐานเวียดนามชัดเจนมาก เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ และการบริโภคยังมีอีกมหาศาล หลายอุตสาหกรรมกำลังเติบโตก้าวกระโดด และอีกไม่นานเวียดนามจะกลายเป็น Emerging Market ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามามากยิ่งขึ้น จะผลักดันให้การลงทุนในหุ้นเวียดนามระยะยาวน่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดี


อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐ ยังเป็นตลาดหลักที่น่าสนใจ ซึ่งต้องมองถึงกลุ่มอุตสาหกรรมด้วย ช่วงที่ดอกเบี้ยยังไม่ถึงจุดสูงสุดควรไปลงทุนในหุ้นกลุ่ม Value กลุ่มการผลิต กลุ่มอาหาร ขณะที่เมื่อดอกเบี้ยเข้าสู่จุดสูงสุดแล้ว เช่น ช่วงใกล้ปลายปี เฟดเริ่มไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เงินเฟ้อลดลง จังหวะนั้นอาจจะเปลี่ยนไปลงทุนในกลุ่ม Growth


ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นจีน เห็น Valuation ถูกมาก ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 น่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้ามา การกดดันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเริ่มน้อยลง ก็เป็นอีกตลาดที่น่าเข้าไปลงทุน แต่กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยง คือ กลุ่มยุโรป เพราะเงินเฟ้อเริ่มปรับขึ้น และมีอุปสรรคด้านพลังงาน สงคราม


ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2565


ที่มา : รายการ Money Chat