เรียนรู้จากประสบการณ์จริง: โอกาสและอุปสรรคในการ Tokenization จาก 4 ผู้เล่นสนามโทเคนดิจิทัล

“สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ไม่สู้ลงมือทำ” ประโยคนี้เป็นจริงเสมอเมื่อมีการเริ่มต้นทำอะไรบางอย่าง รวมไปถึงการ Tokenization ที่หลายๆ คนอาจจะได้เรียนรู้วิธีการในทฤษฎีจนเข้าใจแล้ว แต่เมื่อมาลองทำจริงๆ อาจยังจับต้นจนชนปลายไม่ถูก รวมไปถึงเจอปัญหาในสนามจริงที่ไม่คิดว่าจะเจอแล้วต้องแก้ไขปัญหาไปเรื่อยๆ


สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ร่วมสัมมนาหัวข้อ “Insights from the player” ในงาน Tokenization Summit 2022 ทั้ง 4 ท่าน - คุณอรพรรณ มนต์พิชิต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (CAO) ของบริษัท Independent Artist Management ต้นสังกัดของวงไอดอลดังอย่าง BNK48 คุณณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) SC Asset Corporation คุณเควิน ลิม (Kevin Lim) กรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการของ Market Node และ คุณอิทธิพันธ์ เจียกเจิม  กรรมการผู้จัดการ ของบริษัท InnovestX Securities ต่างพบเจอกันมาบ้างจากประสบการณ์ในวงการ Tokenization

tokenization-insights-from-players-01

1)  ก่อนออกโทเคนดิจิทัล ต้องรู้ก่อนว่าทำเพื่อแก้ปัญหาอะไร


เริ่มต้นจากฝั่งผู้ออกโทเคนดิจิทัล คุณอรพรรณ กล่าวว่า สิ่งที่บริษัทที่สนใจจะออกโทเคนควรคิดถึงเป็นอันดับแรกเพื่อให้โทเคนที่ออกมามีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างแท้จริงคือ การออกโทเคนนี้ทำเพื่อแก้ปัญหาอะไรของบริษัท เพราะหากไม่จำกัดขอบเขตปัญหาอย่างชัดเจนแล้ว โปรเจคออกโทเคนก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร


ในการนี้ คุณอรพรรณยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและโทเคนกับงานเลือกตั้ง BNK48 Single Senbatsu General Election ครั้งที่ 12 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ทางบริษัทได้ร่วมมือกับ บริษัท TokenX เพื่อออก Utility Token ชื่อว่า BNK Governance Token เพื่อใช้โหวตคะแนนให้กับสมาชิกวง BNK48 โดยเธอกล่าวว่าการออกโทเคนนี้มีจุดประสงค์ชัดเจนคือ ‘เพิ่มความโปร่งใส’ ให้กับการเลือกตั้งที่มีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับแฟนๆ ที่ต้องเสียเงินมาทำการโหวต เพราะความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและแฟนๆ มีความสำคัญมากในการทำธุรกิจกับระบบ BNK ที่มีการให้แฟนคลับเสียเงินโหวตให้กับศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบได้มีผลงาน

 

2) เริ่มจากก้าวเล็ก เพิ่มความหลากหลายให้ทีม และกำหนดเป้าหมายร่วมกันคือกุญแจสู่ความสำคัญ


ทางฝั่งของผู้ออกโทเคนดิจิทัลอีกคนคือ คุณณัฐพงษ์ ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท SC Asset Corporation กล่าวว่า ด้วยความที่ SC Asset เป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบดั้งเดิมที่เพิ่งแตกไลน์มาให้บริการ Living Solutions เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมานี้ เรื่อง Tokenization จึงยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับบริษัท เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย เขาจึงคิดว่าบริษัทที่ยังไม่มีความคุ้นเคยควรเริ่มที่ ‘ก้าวเล็กๆ’ ลองผิดลองถูก แล้วค่อยๆ แก้ไขปัญหาไประหว่างทางจะดีกว่า


นอกจากนี้ เขายังให้ความสำคัญกับการสร้างความหลากหลายให้กับทีมที่ต้องประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและความสามารถในหลายด้าน เพราะโปรเจค Tokenization ไม่ได้เป็นโปรเจคที่ส่งผลต่อแผนกใดแผนกหนึ่งของบริษัทเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อทั้งบริษัท เพราะฉะนั้นเขาจึงคิดว่าการมีทีมที่มีคนจากหลายแผนกมาช่วยคิดกันวางแผนเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้โปรเจค Tokenization ประสบความสำเร็จ


ส่วนอีกสิ่งสำคัญหนึ่งก็คือ การทำให้ทีม Tokenization ของบริษัทมองภาพเดียวกัน และมีเป้าหมายร่วมกัน โดยต้องมีการพูดคุยกันบ่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้งานออกมาไม่ตรงเป้า และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

3) สำหรับผู้ให้บริการออกโทเคน หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือการทำให้โทเคนดิจิทัลเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง


มาทางฝั่งผู้ให้บริการออกโทเคนดิจิทัลอย่าง InnovestX และ Market Node อุปสรรคสำคัญสำหรับการออกโทเคนและการทำให้โทเคนเป็นที่ยอมรับแพร่หลายสำหรับผู้ใช้และนักลงทุนทั่วไป ทัศนคติของคนทั่วไปที่ยังคงไม่เข้าใจหรือยังไม่ยอมรับการทำงานของโทเคน


คุณอิทธิพันธ์กล่าวว่าสิ่งที่ท้าทายสำหรับธุรกิจ Tokenization คือการแทรกตัวเข้าไปในโลกการเงินที่มีระเบียบวิธีในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่คนคุ้นชินอยู่แล้ว หรือการเปลี่ยนแปลง Status Quo ที่สำหรับเขาต้องเปลี่ยนความคิดของคนใน 3 ระดับด้วยกันคือ


1. ระดับผู้บริหาร และเจ้าของธุรกิจ ที่ในความเห็นของเขามีความคิดเห็นที่เปลี่ยนไปแล้ว เพราะมีผู้บริหารจำนวนมากสนใจนำเทคโนโลยีบล็อกเชนและ Tokenization เข้าไปใช้พัฒนาธุรกิจ


2. ระดับพนักงาน และเจ้าหน้าที่ในบริษัท ที่ในความเห็นของเขาอาจจะต้องมีความสร้างความรู้ความเข้าใจว่า Tokenization คืออะไร และจะเข้ามาทำอะไรให้บริษัท


3. หน่วยงานกำกับดูแล (Regulators) หน้าที่ของหน่วยงานเหล่านี้คือคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคและนักลงทุน และการจะหาความสมดุลระหว่างการรักษาความปลอดภัยและการปล่อยให้ตลาดพัฒนาเติบโตไปอย่างอิสระนั้นเป็นเรื่องยาก ทำให้การกำหนดตัวกฎหมายออกมาควบคุมธุรกิจ Tokenization หรือธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวมยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอยู่


คุณอิทธิพันธ์ยังกล่าวว่าเพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านี้มีประโยชน์และเป็นตัวเลือกในการลงทุนให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด บริษัทต้องมีความโปร่งใส มีการพูดคุยกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ และนำเสนอข้อมูลและความเสี่ยงเกี่ยวกับแต่ละผลิตภัณฑ์อย่างเที่ยงตรงว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ คืออะไร ให้อะไรแก่ผู้ลงทุน และนอกจากการสื่อสารกับลูกค้าแล้ว ทางบริษัทยังต้องมีความสามารถในการพูดคุยสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานกำกับดูแลเพราะกฎมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย เราต้องอัพเดตข่าวสารเกี่ยวกับกฎเกณฑ์อยู่เสมอ รวมไปถึงชี้แจ้งทำความเข้าใจในกรณีที่กฎหมายใหม่ที่ออกมาภายหลังอาจมีผลกระทบย้อนหลังต่อการดำเนินงานของบริษัท


ในฝั่งของ Market Node ในความคิดของคุณเควิน ความท้าทายของการให้บริการด้าน Tokenization คือการสร้างความเข้าใจ และเปลี่ยนทัศนคติของคนในทุกภาคส่วนที่มีต่อโทเคน และสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะคนในปัจจุบันยังยึดติดกับวิธีลงทุน วิธีทำธุรกรรมแบบเดิมๆ ที่ทำผ่านคนจริงอยู่ และยังมีปัญหาด้าน ‘การแข่งขัน’ ที่ผู้เล่นในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลต่างมองกันและกันเป็น ‘คู่แข่ง’ ซึ่งเขามองว่าแต่ละบริษัทในตลาดควรมองกันเป็น ‘ผู้ร่วมมือ’ หรือ Collaborator เพื่อพัฒนาบริการไปด้วยกันเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และให้การใช้โทเคนแพร่หลายในชีวิตประจำวันของคนในสังคมมากยิ่งขึ้น


ที่มา : งานสัมมนา Tokenization Summit 2022 : Insights from the Players วันที่ 5 ตุลาคม 2565