Next normal in CLMV

ที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการล็อคดาวน์ ปิดเมือง ปิดประเทศ เพื่อลดระยะห่างทางสังคม วิธีนี้ได้ผล จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่เศรษฐกิจกลับสะดุดหยุดชะงัก เมื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ยอดผู้ติดเชื้อก็พุ่งพรวดขึ้นมาอีก แนวคิดการใช้ชีวิตร่วมกับโควิดจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายประเทศอยากทดลองดู เผื่อวิธีนี้อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดก็ได้ บางประเทศได้ประกาศให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างราบรื่น


วันนี้ชวนมาส่องสถานการณ์การต่อสู้กับโควิดของแต่ละประเทศในกลุ่ม CLMV กัน 2 ปีที่ผ่านมา เค้ามีวิธีการปรับตัว ตามวิถี Next Normal อย่างไรกันบ้าง

มาเริ่มกันที่ประเทศกัมพูชาเป็นประเทศแรกกันเลย ที่ผ่านมากัมพูชาถือว่าเป็นประเทศที่มีการกระจายและระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากนานาประเทศ และองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัคซีนซิโนแวค และ ซิโนฟาร์มจากประเทศจีน วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าภายใต้โครงการ Covax ขององค์การอนามัยโลก และวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งบริจาคโดยรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย ประเทศกัมพูชาได้มีการระดมฉีดวัคซีนครบโดสให้กับประชาชนได้ 92.55% ของประชากรทั้งหมดจำนวน 16 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2565) และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กัมพูชาได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ และประกาศเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในทุกพื้นที่ โดยยึดแนวทางการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ในแบบวิถีใหม่


ด้วยการบริหารจัดการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ กอปรกับมาตรการด้านสาธารณสุขที่เอื้อต่อการเดินทางเข้าประเทศของนักลงทุน นักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยบวกทำให้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง World Bank Group ได้คาดการณ์การการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศกัมพูชาอยู่ที่ 4.5% สำหรับปี 2565 (ก่อนการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 7%) ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการที่มีความสนใจที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศกัมพูชาได้เป็นอย่างดี

ประเทศต่อมาคือ สปป.ลาว สำหรับในปี 2564 ที่ผ่านมา มีเรื่องเด่นเรื่องใหญ่ของประเทศคือเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันชาติของ สปป.ลาว ได้ประกาศใช้รถไฟฟ้าจีน-ลาว ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ที่จีนวางโครงการไว้เชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียน ซึ่งมีจุดหมายปลายทางคือสิงคโปร์ โครงการนี้เป็นโปรเจคแห่งความหวังของประเทศที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล


เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลสปป.ลาวได้เปิดตัวยา “โมลาโคเวียร์” สามารถผลิตภายในประเทศได้เอง โดยเป็นการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมนี และ สปป.ลาว  ซึ่งเป็นตัวยาเดียวกันกับ “โมลนูพิราเวียร์” ที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ในระยะเริ่มต้น โดยผู้ป่วยจะต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี ไม่มีอาการปอดอักเสบ และไม่ตกอยู่ในสภาวะการขาดออกซิเจน ผู้ป่วย 1 คน จะต้องรับประทานยาครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งค่าใช้จ่าย 1 กระปุกราคา 400,000 กีบ (ประมาณ 1,185 บาท เฉลี่ย 30 บาท/เม็ด)


นับว่าส่งสัญญาณที่ดีให้กับ สปป.ลาว ในการพัฒนาเศรษฐกิจตามวิถีใหม่ Next Normal เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่มีเป้าหมายเดินหน้าไปยัง สปป.ลาว

สำหรับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมาเมียนมาประสบปัญหาทั้งทางด้านการเมืองภายในประเทศ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ ปัจจุบันสถานการณ์เกือบคืนสู่สภาวะปกติแล้ว ยังคงเหลือเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดอยู่ สอดคล้องกับทั่วโลก


สำหรับทางด้านการค้าการลงทุนกับประเทศไทยนั้นเมื่อปี 2564 เมียนมาได้นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 13% และกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าในปี 2565 เมียนมาจะนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอีก 3-5% สะท้อนให้เห็นถึงความชื่นชอบในสินค้าไทย และไทยก็เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันซึ่งมีความสะดวกต่อการขนส่งสินค้า


แม้ว่า ณ ปัจจุบัน การบินเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมายังไม่เปิดให้บริการ หากมีความจำเป็นจะต้องขออนุญาตการเดินทาง รวมทั้งปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่สำหรับการขนส่งสินค้าทางบกผ่านชายแดนยังคงสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ยกเว้นการเดินทางส่วนบุคคลผ่านชายแดน ยังคงต้องได้รับการอนุญาตเช่นเดียวกัน

ในส่วนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประชากรเกือบ 100% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 ได้ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงจากสายพันธุ์ Omicron ในช่วง 7 วันแรกของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงถึง 160,000 คน/วัน


และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวให้กลับมามีรายได้ หลังจากที่ต้องปิดประเทศนานถึง 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมเป็นต้นไปเวียดนามจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยผู้ที่จะเดินทางมายังเวียดนามจะต้องได้รับวัคซีนครบโดส มีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบทั้งก่อนเดินทางและหลังจากที่เดินทางมาถึง และจะต้องมีประกันสุขภาพวงเงินคุ้มครอง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป อีกทั้งในปี 2565 นี้ เวียดนามในฐานะเจ้าภาพการจัดงานซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ยังคงดำเนินการจัดการแข่งขัน เพราะเป็นการเลื่อนมาจากปีก่อนอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามได้ทยอยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ใหญ่และเข็ม 1-2 ในเด็กอายุ 12-17 ปีแล้ว ขณะนี้กำลังพิจารณาวัคซีนให้กับกลุ่มเด็กเล็กช่วงอายุ 5-11 ปีเพื่อเป็นการป้องกันความรุนแรงจากการแพร่ระบาด

ข้อมูลอ้างอิง

1. PPTVHD36. “กัมพูชา เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนทั่วไป ตั้งเป้า 10 ล้านคน สิ้นปีนี้”. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/147815 (ค้นหาเมื่อ 25/10/64)

2. Nikkei Asia. “Cambodia COVID cases plummet after PM orders reduced testing”. https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/Cambodia-COVID-cases-plummet-after-PM-orders-reduced-testing (accessed 26/10/21)

3. SCB EIC. “CLMV Outlook Q3 2021”. https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/7761/g1rp3t9nkm/CLMV_Outlook-3Q21_Publication_TH_external.pdf (accessed 26/10/21)

4. สยามรัฐ. “ลาว” ล็อกดาวน์ “เวียงจันทน์” ครั้งใหม่-สกัดโควิดระบาดทุบสถิติเป็นประวัติการณ์”. https://siamrath.co.th/n/282341 (ค้นหาเมื่อ 27/10/64)

5. กรุงเทพธุรกิจ. “กัมพูชา ประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบแล้ววันนี้ พร้อมวิถีอยู่ร่วมกับโควิด”. https://www.bangkokbiznews.com/news/969301 (ค้นหาเมื่อ 28/12/65)

6. มติชน. “ลาวเปิดตัวยา โมลาโคเวียร์ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ผลิตเองได้ในประเทศ”. https://www.matichon.co.th/foreign/news_3115487 (ค้นหาเมื่อ 8/3/65)

7.  SCB Thailand. “CLMV Focus 2022 : Myanmar Today มิติการเปลี่ยนแปลงและโอกาสทางธุรกิจในอนาคต”. https://www.facebook.com/scb.thailand/videos/478753470374716 (ค้นหาเมื่อ 8/3/65)

8. Today. “เวียดนามเล็งฟื้นฟูการท่องเที่ยว เปิดให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้า เริ่ม 15 มี.ค.นี้” https://workpointtoday.com/vietnam-re-open-for-tourism/ (ค้นหาเมื่อ 9/3/65)

 

ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง