จับผิดข้อความ - อีเมลปลอม

สังเกตความผิดปกติจากรูปแบบและการใช้ภาษา

  • อีเมล ข้อความ แชต หรือ SMS ปลอม อ้างเป็นองค์กรใหญ่หรือหน่วยงานภาครัฐ สามารถสังเกตได้ดังนี้
  • มีการใช้ภาษาแปลกๆ หรือสะกดผิด และอาจพบการใช้ตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ที่ไม่ถูกต้อง
  • ข้อความมักกระตุ้นให้คลิก สแกน QR Code หรือเปิดไฟล์แนบ โดยเล่นกับจิตวิทยาด้านต่างๆ ได้แก่ ความอยากได้อยากมี, ความกลัว, ความหลง, ความกังวล หรือความสงสัยใคร่รู้ เช่น ใช้สิทธิพิเศษ จำนวนเงิน หรือข้อเสนอมาจูงใจ, อ้างว่าตรวจพบการกระทำผิด, หลอกว่าส่งเอกสารสำคัญมาให้, อ้างผลเสียที่จะได้รับหากไม่ทำตาม เป็นต้น

มักเร่งรัดให้ทำตามเงื่อนไข จำกัดเวลา หรือจำกัดสิทธิ์ เพื่อให้ผู้รับสารต้องรีบตัดสินใจโดยไม่ทันคิดหน้าคิดหลังให้ดี

ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ให้สอบถามข้อเท็จจริงกับ Contact Center ขององค์กรที่ถูกอ้างชื่อโดยตรง โดยหาข้อมูลติดต่อจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น และในปัจจุบันนี้ธนาคารต่างๆ ได้ยกเลิกการส่งข้อความแนบลิงก์ทาง SMS และอีเมลแล้ว หากใครยังได้รับให้แน่ใจได้เลยว่าเป็นธนาคารปลอม ที่สำคัญธนาคารจริงจะไม่ขอข้อมูลส่วนตัวลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดีย แต่อาจจะมีการขอข้อมูลสำหรับติดต่อกลับเฉพาะลูกค้าที่สอบถามเข้ามาเท่านั้น